My Name is Red ความรัก ความตาย ศาสนา ศิลปะ และการกลับมาของ ออร์ฮาน ปามุก

นอกจาก ออร์ฮาน ปามุก นักเขียนชื่อดังระดับโลกชาวตุรกี จะเป็นนักเขียนคนโปรดของใครๆ หลายคนแล้ว นิยายเรื่องแรกๆ ของเขาอย่าง My Name is Red ก็ยังเป็นหนึ่งในท็อปลิสต์ที่สายวรรณกรรมไม่น่าพลาด นิยายเล่มนี้เคยแปลเป็นภาษาไทยเมื่อหลายปีก่อน และเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่คอวรรณกรรมถามหาในร้านหนังสือมือสองอยู่เนืองๆ เพราะเสียงร่ำลือถึงความสนุกของนิยาย ที่ว่าด้วยเงื่อนปมของคดีฆาตกรรมและความรัก รวมถึงโลกทางวัฒนธรรมผ่านศิลปะอิสลามยุคกลาง และส่วนใหญ่ก็หาไม่ได้หรอก ก็ใครจะยอมปล่อยหนังสือเล่มโปรดของตัวเองกันล่ะ โดยเฉพาะในช่วงที่งานเล่มใหม่ๆ ของเขาอย่าง The Museum of Innocence และ Snow ถูกแปลมาในเวลาไล่เลี่ยกันโดย สนพ.มติชน และ สนพ.บทจร ซึ่งทำให้แฟนคลับของปามุกขยายตัวมากขึ้น จากนักอ่านรุ่นใหม่ๆ

มาปีนี้ My Name is Red กลับมาอีกครั้งในเวอร์ชั่นภาษาไทย โดย สนพ.มติชน ที่ใช้ต้นฉบับจากนักแปลเดิมอย่าง นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์ คราวนี้ไม่ต้องไปหาตามร้านหนังสือมือสองให้เหนื่อยอีกแล้ว

My name is Red ของนักเขียนรางวัลโนเบลชาวตุรกี มีชื่อภาษาตุรกีว่า Benim Adim Kirmizi เป็นเรื่องราวของศิลปินในสมัยกลางของโลกอิสลามในอาณาจักรอ็อตโตมาน ที่เปิดเรื่องด้วยการให้จิตรกรที่ถูกฆาตกรรมมาเล่าเรื่องราวของตัวเอง เงื่อนงำและแรงจูงใจของเหตุการณ์ครั้งนี้ เกี่ยวโยงกับการที่สุลต่านจ้างจิตรกรมาวาดภาพโดยให้ใช้เทคนิคของคนนอกศาสนา คือเทคนิคแบบศิลปินเรอเนสซองส์จากเวนิซ ที่เน้นทัศนธาตุ (perspective) และการวาดภาพตามแนวสัจนิยม หรือวาดให้เหมือนจริงแทนที่จะวาดเป็นเชิงสัญลักษณ์

ออร์ฮาน ปามุก AFP

ทำไมต้องเป็นศิลปะสมัยกลาง? ปามุกให้เหตุผลไว้ในการสัมภาษณ์กับ BBC ว่าเขาอยากจะเขียนนวนิยายเกี่ยวกับจิตรกรที่มีอายุราว 7-22 ปี แต่ศิลปินตุรกีร่วมสมัยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกอย่างมาก เขาจึงเลือกใช้ฉากของโลกอิสลามสมัยกลาง เพื่อขับเน้นให้เห็นประเด็นเกี่ยวกับการเลียนแบบ ความเป็นต้นแบบ เอกลักษณ์ การสร้างสรรค์ หรือพูดเจาะจงลงไปก็คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาศิลปะของโลกอิสลามสมัยกลาง โดยปามุกใช้เวลาศึกษาเรื่องที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนเป็นเวลา 2 ปี เขากล่าวว่า “ในเรื่อง My Name is Red ผมต้องสร้างภาพมุมกว้าง เพื่อมองให้เห็นถึงจิตวิญญาณของชาติ ซึ่งนำไปสู่ความจริงทางวัฒนธรรมในงานศิลปะ”

Advertisement

นวนิยายเรื่องนี้มีผู้เล่าเรื่องที่หลากหลายในเหตุการณ์เดียวกัน เป็นเสียงเล่าทั้งจากสิ่งมีชีวิตและไร้ชีวิต เรื่องเล่าและเสียงเล่าทั้งหลาย อยู่รายล้อมเหตุการณ์ฆาตกรรมที่โหดเหี้ยม ปามุกให้สัมภาษณ์ว่าเขาได้รับอิทธิพลมาจากเจมส์ จอยซ์ ซึ่งมักใช้การพูดภายในใจตัวละคร ซึ่งวิลเลียม โฟล์คเนอร์ ก็นำมาใช้เช่นกัน นอกจากนี้ เขายังได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง ราโชมอน ของผู้กำกับอากิระ คุโรซาวา ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่อง “ในป่าละเมาะ” ของ อาคุตะงะวะ เรียวโนะสุเกะ โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมซามูไร ที่เล่าผ่านมุมมองที่แตกต่างกันไปของผู้อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน ปามุกกล่าวว่า เขาไม่ชอบวิธีการเล่าเรื่องด้วยสรรพนามบุคคลที่ 3 ที่พรรณนาออกมาอย่างเป็นภววิสัย เหมือนอย่างนวนิยายอิงประวัติศาสตร์มักจะใช้ เพื่อจะบอกว่า “ฉันรู้ทุกอย่าง” ส่วนเหตุผลที่เขาเล่าเรื่องนี้ด้วยเสียงของคนตายนั้น เป็นเพราะเขาต้องการดึงดูดผู้อ่าน โดยพูดถึงประเด็นทางศาสนาอย่างความตาย คำพิพากษาสุดท้าย นรก สวรรค์

ปามุกยังเคยให้สัมภาษณ์ด้วยว่า สาเหตุที่ชื่อเรื่องนี้มีนัยยะของ “สี” เพราะต้องการให้เป็นสัญญะที่สื่อความหมายบางอย่าง แม้ตัวเขาเองจะไม่ยินดีนักที่จะติดไม่ป้ายนวนิยายชิ้นนี้ว่าเป็นงานแนวฆาตกรรมสืบสวน แต่เขาก็พยายามทำให้นักอ่านพึงพอใจในส่วนที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมสืบสวนด้วย ปามุกได้รับอิทธิพลจากนักเขียนตะวันตกคนสำคัญ เช่น เจมส์ จอยซ์, ฟรันซ์ คาฟคา, มาร์แซล พรูสต์ รวมทั้งอุมแบร์โต เอโค (งานที่ทำให้เอคโดดังคือ The Name of Rose ซึ่งใช้ฉากยุโรปสมัยกลาง)

ในด้านเสียงตอบรับ นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 2001 และส่งเขาขึ้นแท่นรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2006 ฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ ล้วนได้รับรางวัลสำคัญของแต่ละชาติแต่ละภาษา ที่สำคัญ นวนิยายเรื่อง My Name is Red ยังได้รับเลือกให้ตีพิมพ์รวมในชุด Everyman’s Library Contemporary Classics ในปี 2010 ซึ่งหมายความว่าผลงานชิ้นนี้ได้รับการการันตีว่าเป็นงานขึ้นหิ้งที่ทุกคนควรจะได้อ่าน

Advertisement

กระแสตอบรับในหนังสือพิมพ์ก็น่าชื่นใจ บทรีวิวใน Publisher Weekly กล่าวว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็น “ร้อยแก้วกึ่งร้อยกรองที่เจิดจรัสเลอค่า ยอกย้อนน่าสนเท่ห์ ถักร้อยเรื่องราวด้วยเรื่องราว”

Kerkus Review บอกว่า “ประหลาดเหลือ แต่กระตุ้นให้สำรวจธรรมของศิลปะในสังคมอิสลาม…”

โจนาธาน เลวี แห่ง L.A. Times Book Review พูดว่า ผลงานชิ้นนี้เป็น “นวนิยายแห่งยุคสมัยของเรา” แม้จะเป็นเรื่องราวในโลกอิสลามร่วมพันปีมาแล้ว แต่ก็สะท้อนความขัดแย้งในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ส่วนริชาร์ด เอเดอร์ แห่ง The New York Time มองว่าปามุกสนใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก เราจะเห็นประเด็นทางอภิปรัชญาแทรกอยู่ตลอดเรื่อง รวมทั้งประเด็นเรื่องความดี ความชั่ว ล้วงลึกไปถึงความเป็นมนุษย์ ทั้งความปรารถนาและความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่านักเขียนใหญ่อย่างออร์อาน ปามุก จะไม่มีข้อบกพร่องอะไรเลย นักอ่านผู้หญิงวิจารณ์ว่าตัวละครผู้หญิงในนวนิยายของเขาไม่ค่อยสมจริงนัก ตัวเขาเองก็ตระหนักดีถึงปัญหานี้และพยายามแก้ไข ตัวละครที่ชื่อ Shekure ในนวนิยายเรื่อง My Name is Red ก็คือชื่อแม่ของเขาเอง รวมทั้งบุคลิกลักษณะของตัวละครก็ถ่ายแบบมาจากแม่ของเขา ปามุกกล่าวในบทสัมภาษณ์กับ BBC ว่าแม่ของเขาดีใจที่เขาวาดภาพตัวละครคือ Shekure ว่าเป็นผู้หญิงที่งดงาม

My name is Red ฉบับภาษาไทยกลับมาอีกครั้งแบบนี้ พลาดไม่ได้แล้วล่ะ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image