หนังเรท ‘เอฟ’ จะเอาชนะ ปัญหาเพศในฮอลลีวู้ดได้ไหม

ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างนักแสดงหญิงชายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นำไปสู่ประเด็นแหลมคมยิ่งขึ้น จากนักแสดงแถวหน้าเช่น เคท บลานเชท หรือ จีนา เดวิส หรือดาวรุ่ง เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ว่าเรทติ้งใหม่คือเรท เอฟ ที่ให้กับหนังซึ่งผู้สร้างเป็นหญิง หรือมีบทนำเป็นสตรีนั้น จะช่วยลดช่องว่างต่างๆ ระหว่างเพศในภาพยนตร์ลงได้หรือไม่

เคท บลานเชท , จีนา เดวิส , เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์
เคท บลานเชท , จีนา เดวิส , เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์

ต่อไปนี้คือข้อเท็จจริงจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์
– หนังร้อยอันดับแรกปีที่แล้วที่สร้างในสหรัฐ มีผู้หญิงกำกับภาพยนตร์อยู่เรื่องเดียว
– หนังส่วนใหญ่เหล่านั้น นักแสดงหญิงจะมีบทพูดน้อยกว่าหนึ่งในสาม
– หนังที่ประสบความสำเร็จร้อยเรื่องในปี 2557 เพียง 12 เปอร์เซ็นต์มีนักแสดงหญิงเป็นตัวละครนำ
– ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หนังใหญ่ๆ ทุกเรื่องมีพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นชายถึง 77 เปอร์เซ็นต์
– และอย่างที่เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ระบุ นักแสดงหญิงส่วนมากได้ค่าจ้างต่ำกว่านักแสดงชายเสมอ

ถึงตรงนี้ ทุกๆ คนย่อมรู้ว่าธุรกิจภาพยนตร์มีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดาราระดับเอ เคท บลานเชท ซึ่งกล่าวตอนรับตุ๊กตาทองออสการ์ปี 2557 ว่า หนังผู้หญิงไม่ได้มี “ตลาดเฉพาะ” หรือจีนา เดวิส ซึ่งก่อตั้งสถาบันเพศสภาพในสื่อ และเช่นเดียวกับที่เจนนิเฟอร์ได้เขียนระบุถึงค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกัน ย่อมตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ดี

ปีที่แล้ว เทศกาลหนังที่บาธ พยายามหาทางสร้างความสนใจเรื่องช่องว่างระหว่างเพศ และให้แฟนหนังเลือกหนังซึ่งเป็นตัวแทนความเสมอภาคสักแบบ

Advertisement

ดังนั้น ผู้อำนวยการเทศกาล ฮอลลี ทาร์กินี ที่มากับเรทเอฟ เพิ่มขึ้นจากบรรดาเรทซึ่งจัดตามระดับอายุของผู้ชมอันตราไว้แต่เดิม เรทนี้จะมอบให้กับหนังเรื่องใดก็ได้ ซึ่งเข้าข่ายสามลักษณะต่อไปนี้คือ เขียนเรื่องหรือบทโดยผู้หญิง กำกับภาพยนตร์โดยผู้หญิง และเป็นหนังซึ่งผู้หญิงเป็นตัวละครสำคัญตามสถานะของเธอ

สถิติของสตรีที่จะเกี่ยวข้องรับผิดชอบส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ “ไกลเกินรูปลักษณะของความไม่เสมอภาคใดๆ” ทาร์กินีพูด

“เราอยากย้ำประเด็นให้เห็นว่าผู้หญิงทำอะไรบ้าง เพราะมีทั้งนักเขียนหญิงและผู้กำกับหญิงซึ่งน่าทึ่งมากๆ และมีหนังเรื่องเยี่ยมๆ เกี่ยวกับผู้หญิงอีกด้วย แต่มีแนวโน้มว่าพวกเธอมักได้รับทุนต่ำๆ และช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์น้อย เราจึงคิดเพิ่มเรทขึ้นมาเพื่อแสดงความพยายาม ด้วยหนทางเล็กๆ ของเรา ที่จะแก้ไขความไม่สมดุลนั้น”

ถึงอย่างไร เอฟเรทก็เหมือนตั้งขึ้นมาดื้อๆ เพราะมิได้ประกันว่าหนังเรื่องนั้นๆ ดีในแง่ใดแง่หนึ่ง หรือสามารถเรียกความสนใจจากผู้ชมซึ่งเป็นหญิงได้

ทาร์กินีกลับอธิบายไปอีกทางว่า เหมือนกับสแตมป์ แฟร์เทรด ที่ปิดบนข้าวของในร้านชำ “เรท เอฟ ให้โอกาสผู้ชมเลือกแบบสองมือล้วงกระเป๋าสองเท้าก้าวเข้ามา” เธอว่า

“ตราแฟร์เทรดทำให้คุณมองไปที่กาแฟซึ่งแตกต่างกันสองแก้ว แล้วคิดว่า ฉันซื้อแก้วที่อุดหนุนเกษตรกรดีกว่า เรท เอฟ ก็เหมือนกัน ช่วยให้คุณมองไปที่หนังสองเรื่องแล้วคิดว่า เอาล่ะ,ฉันจะสนับสนุนหนังผู้หญิงดู”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image