พุทธศักราชอัสดงฯ และความทรงจำในไต้หวัน

“พุทธศักราชอัสดงกับความทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ในไต้หวัน และ “Brilliant Time Bookstore” พื้นที่สำหรับคนพลัดถิ่นที่ถูกหลงลืม

​เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา มีงานหนังสือที่น่าสนใจงานหนึ่งที่ไต้หวันคือ Taipei International Book Exhibition 2019 ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยถือเป็นงานจัดแสดงนิทรรศการหนังสือนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นอันดับ 4 ของโลก

นอกจากกิจกรรมต่างๆทั้งจากสำนักพิมพ์ นักเขียน นักอ่าน ภายในงานแล้ว ร้านหนังสือทั่วทั้งไต้หวันก็จะร่วมจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่านการเขียนขึ้นด้วย รวมถึงร้านหนังสือ Brilliant Time Bookstore ที่มีการจัดบุ๊คคลับหนังสือ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ นิยายรางวัลซีไรต์จากสนพ.มติชน ที่ วีรพร นิติประภา ได้บินไปร่วมเสวนาด้วยตัวเองถึงไต้หวัน ผ่านการประสานของ Thailand Rights Center โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ

ทำไมต้องเป็นเล่มนี้เท่านั้น? ก็เพราะสิ่งที่วีรพรเขียนในนิยายเรื่องนี้นั้น สอดคล้องกับคอนเซปต์ร้านนั่นเอง เพราะร้านหนังสือ Brilliant Time Bookstore ของไต้หวันเกิดขึ้นมาจากเหตุผลที่ต้องการจะเปิดพื้นที่และสร้างชุมชนการอ่านให้กับคนพลัดถิ่นในไต้หวัน

Advertisement

​Mr. Chang Cheng ผู้ก่อตั้งร้านหนังสือ Brilliant Time Bookstore และเป็นนักกิจกรรมที่คลุกคลีอยู่กับโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์มากมาย อาทิ เคยจัดพิมพ์ 4-Way Voice นิตยสารรายเดือนภาษาท้องถิ่นของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, รายการประกวดร้องเพลงที่เชิญชาวต่างชาติที่อพยพมาอยู่ในไต้หวันมาแสดงโดยใช้ภาษาถิ่นของตัวเอง, โครงการสะพานสู่มาตุภูมิ ( Bridge to Home Project) ที่จะเชิญชวนชาวต่างชาติพลัดถิ่นกลับไปเยี่ยมถิ่นฐานของตนเองในบ้านเกิด และ เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันโครงการรางวัล Taiwan Literature Award สำหรับชาวต่างชาติ เขาตัดสินใจทำร้านหนังสือนี้ขึ้นมาเพราะประทับใจในภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้อยากเปิดพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงให้แรงงานหรือผู้อพยพชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไต้หวันมีพื้นที่สำหรับการอ่าน เพราะการอยู่ต่างบ้านต่างเมือง บางครั้งพวกเขาอาจรู้สึกเหมือนถูกกักขัง แต่ในมุมมองของ Mr.Chang Cheng นั้น เขามองว่า การอ่านมอบความสุขให้กับผู้คน และการเขียนทำให้คนคนนั้นมีอิสระเสรี

เขาได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงและอาสาสมัครในเฟซบุ๊ค ช่วยกันสร้างร้านหนังสือที่เป็นมากกว่าสถานที่ขายหนังสือ แต่เป็นชุมชนที่เปิดให้ผู้คนเข้ามาหยิบยืมหนังสือและบริจาคหนังสือภาษาท้องถิ่น ซึ่งทางร้านจะเปิดให้ผู้ใช้บริการเข้ามายืมหนังสือ โดยมีการวางค่ามัดจำในราคาเท่ากับปกหนังสือ และเมื่อพวกเขานำหนังสือมาคืน ก็จะได้รับเงินส่วนนั้นกลับไป เขายังเคยทำแคมเปญ ‘take a book you can’t read back to Taiwan’ ในปี 2015 เพื่อเชิญชวนให้ชาวไต้หวันที่เดินทางไปท่องเที่ยวในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำหนังสือภาษาทิ้งถิ่นของประเทศนั้นๆ ติดกลับมาคนละ 1 เล่ม เพื่อบริจาคให้กับร้านหนังสือ และเป็นการสร้างตัวเลือกให้กับผู้อ่านได้มากขึ้นอีกด้วย

Advertisement

 

Mr. Chang Cheng บอกว่าร้านของเขาไม่มีรายได้จากการขายหนังสือ แต่ใช้วิธีเปิดพื้นที่ให้คนมาเช้าทำกิจกรรม ทั้งเสวนา บุ๊คคลับ Art Gallery ในห้องประชุมชั้นสอง ในวันที่เสวนาเขากล่าวปิดท้ายการสนทนาสั้นๆ ว่า “ร้านหนังสือที่ขายหนังสือด้วยก็ใช่ว่าจะอยู่ได้นี่ครับ”

ด้วยคอนเซ็ปต์ร้าน บุ๊คคลับของเล่ม “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ซึ่งเป็นนวนิยายที่ว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ที่ได้เป็นประจักษ์พยานในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านการถูกครอบงำด้วยมายาคติ ความหลงลืม ความพลัดพราก ในประเทศที่ไร้ความทรงจำ จึงเกิดขึ้น เพราะในขณะที่ร้านหนังสือแห่งนี้เป็นพื้นที่อิสระสำหรับคนพลัดถิ่น นวนิยายของวีรพร ก็เป็นช่องทางที่ทำให้เราได้ทำความรู้จักกับคนพลัดถิ่นที่ถูกหลงลืมเช่นกัน

​นอกจาก วีรพร นิติประภา เจ้าของงานเขียนเล่มนี้ จะเดินทางมาร่วมพูดคุยกับนักอ่านชาวไต้หวันแล้ว ยังได้รับเกียรติจาก ชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ มาช่วยเสริมประเด็นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของนวนิยายเรื่องนี้ระหว่างสังคมไทย จีน ไต้หวันอีกด้วย

บรรยากาศบุ๊คคลับในร้านหนังสือเล็กๆ วันนั้นอัดแน่นไปด้วยนักอ่านชาวไต้หวันและชาวต่างชาติราว 40 ชีวิต ทุกคนมาพร้อมความตั้งใจที่จะรับฟังและเปิดกว้างให้กับงานเขียนที่พวกเขาไม่เคยรู้จัก วีรพรเริ่มการพูดคุยด้วยการเล่าเรื่องราวคร่าวๆ ในนิยาย “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับชีวิตของชาวจีนโพ้นทะเลที่มาตกค้างในแผ่นดินไทย หยั่งรากอาศัยอย่างคนแปลกหน้าในชุมชนย่านเก่าของกรุงเทพฯ ที่ต้องกลายเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย วีรพรมองว่า “นวนิยายเรื่องนี้สามารถเป็นกรณีศึกษาสำหรับชาวต่างชาติที่อยากมอง สังคมและความเป็นไทยตั้งแต่ราว 7 ทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้”

วีรพรยังพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการหลอมรวมด้วยว่า

“เพราะจุดร่วมอย่างหนึ่งระหว่างไทยและไต้หวัน คือการเป็นหม้อหลอมรวมเชื้อชาติ ไต้หวันเป็นประเทศที่เป็นฮับ ของการอพยพและการเปลี่ยนผ่าน มีการเข้ามาของผู้คนที่ทั้งแสวงหาอำนาจและหาช่องทางการค้า เช่น ชาวดัตซ์ ชาวญี่ปุ่น หรือกระทั่งการเข้ามาปกครองของชาวจีน ก่อเกิดมาเป็นรากเหง้าวัฒนธรรมผสม และขยายไปสู่ผู้อพยพ กลายเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่คอยขับเคลื่อนประเทศ ส่วนในสังคมไทย ผู้อพยพอย่างชาวจีนโพ้นทะเล ก็ได้สร้างบทบาทที่สำคัญให้กับชาติพันธุ์ของตนและคอยขับเคลื่อนประเทศเช่นเดียวกัน”

ในขณะที่ชมัยภรเสริมว่า “นวนิยายเรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ในมุมที่พยายามนำเสนอความโหยหาและความพลัดพราก”

Mr. Chang Cheng เจ้าของร้าน Brilliant Time Bookstore ได้ปิดท้ายการพูดคุยในบุ๊คคลับครั้งนี้ว่า สิ่งที่เขาได้รับจากงานนี้คือความเชื่อมโยงระหว่างไทยและไต้หวันที่สะท้อนผ่านวรรณกรรม และหลายสิ่งที่เขาเคยพบเจอตอนเดินทางไปเมืองไทย ก็ปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรมชิ้นนี้เช่นกัน

เป็นอีกครั้งที่ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ได้เดินทางไปสัมผัสใจคนไกล

เดินทางไปสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้ทุกคนได้มีความทรงจำร่วมกัน

……………
ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image