รื้อประวัติศาสตร์ชาติ เสียดินแดนมลายูจริงหรือ

ความเข้าใจอันคลุมเครือ คำอธิบายที่ไม่กระจ่างชัด ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือด้วยข้อมูลหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์ คนไม่น้อยยังจดจำเอาว่า  ดินแดนมลายูภาคใต้ที่เสียแก่อังกฤษไปนั้น เป็นเพราะถูกบีบบังคับทางการเมืองยุคล่าอาณานิคม เช่นเดียวกับที่เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงแก่ฝรั่งเศส

แต่ความจริงแล้ว กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส ที่สยามยกให้อังกฤษ (ร.ศ.127ค.ศ.1909) นั้น มีเบื้องหลังยืนยันด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นอีกอย่าง จากปัจจัยที่มีผลต่อการตกลงเรื่องพรมแดนในดินแดนมลายูของสองประเทศ ซึ่งตรงข้ามจากความเข้าใจข้างต้นไปอย่างมาก

ด้วยงานค้นคว้าระดับวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ของนักเรียนประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์​ ธรรมศาสตร์ กลายเป็นหนังสือที่ผ่านการค้นคว้าหาหลักฐานเล่มล่าสุด “เสียดินแดนมลายู : ประวัิติศาสตร์ฉบับ Plot Twist” ของ ฐนพงษ์ ลือขจรชัย ภาพที่เคยคลุมเครือ กลับกระจ่างโดยพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีในที่ประชุมเสนาบดีว่า

“ราคาของหัวเมืองแขกก็จะตกต่ำลงไปทุกที จึงเห็นว่าแลกเปลี่ยนกันเสียเวลานี้ดีกว่า”

Advertisement

ดังนั้น ดินแดนมลายูดังกล่าวที่ถูกยกให้ไป จึงมิใช่การเสียดินแดน แต่เป็นการแลกดินแดนกับผลประโยชน์ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองของสยาม ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกสนธิสัญญาลับระหว่างกัน (ต้องอ่าน) หรือแลกกับเงินกู้สร้างทางรถไฟสายใต้

การเสียดินแดนเช่นที่เข้าใจเอาง่ายๆแต่แรก จึงมีรายละเอียดที่มาที่ไปกลับตาลปัตรจากฉากเก่า ซึ่งต้องศึกษาเรียนรู้กันใหม่ต่างไปจากเดิม

Advertisement

วิชาประวัติศาสตร์ที่วนเวียนอยู่กับศึกสงครามพม่า เรื่องที่ย้อนหลังไปสี่ร้อยเจ็ดร้อยปี ซึ่งยังต้องการหลักฐานประกอบอีกมากมาย ไม่สนใจให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ที่มีข้อมูลหลักฐานให้ค้นคว้า เห็นความมานะของบรรพบุรุษที่ลงแรงและสติปัญญาฝ่าฟันอุปสรรค ได้อบรมบ่มความคิดนักเรียนนักศึกษาเป็นตำราเรียน หนังสือเล่มนี้จึงเป็นอีกเล่ม ที่คนสนใจเรื่องบ้านเมือง ตีองหาอ่านนอกสถานศึกษา ขวนขวายเพิ่มพูนสติปัญญาสังคมเอาเอง

๐  จากพื้นภูมิความรู้ในอดีต นำมาสู่สถานการณ์ปัจจุบัน ที่ดินแดนภาคใต้คุกรุ่นด้วยความรุนแรงยังไม่เห็นทางสิ้นสุด ขยายภาพออกไปสู่ความขัดแย้งของเชื้อชาติและความคิดความเชื่อทางศาสนา ซึ่งทำให้ชาวมุสลิมถูกมองด้วยความหวาดระแวง กระทั่งเกิดเป็นโรคหวาดกลัวอิสลาม หรือ “อิสลามโมโฟเบีย” ไปในหลายๆภูมิภาคตะวันตกได้ กระทั่งดินแดนใดก็ตามที่เป็นแหล่งรกรากพำนักของชาวมุสลิม ชาวตะวันตกส่วนมากก็ไม่รู้สึกปลอดภัย

ความรู้สึกนี้ถูกขยายมากไปหรือเปล่า ทำให้คนหลากเชื้อชาติที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบ เกิดความหวาดเกรงไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในกันและกัน

“เรียนรู้ ลบเลือนความหวาดระแวง Islamophobia” โดย จรัญ มะลูลีม นำผู้อ่านสู่ตะวันออกกลางในสถานการณ์ทันยุค ให้ภาพเหตุแวดล้อมนานาที่ก่อโรดเกลียดและกลัวมุสลิมขึ้น เพื่อหันกลับไปทบทวนข้อเท็จจริงต่างๆที่ว่า ไม่ใช่มุสลิมทุกคนเป็นผู้ก่อการร้าย และผู้ก่อการร้ายทุกคนเป็นมุสลิมจริงหรือ

หนังสือที่จะช่วยให้เห็นความเลวร้ายที่ซ่อนอยู่ในใจกลางมนุษยชาติที่ไม่เลือกสีผิวหรือเชื้อพันธุ์

๐  ที่จริง ชาวพุทธซึ่งใช้ชีวิตประจำวันตามปฏิทิน อาจไม่รู้จักวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาซึ่งตัวปวารณานับถืออยู่ มากไปกว่าวันวิสาขะ มาฆะ อาสาฬหะ เข้าพรรษา ออกพรรษา เพราะส่วนมากเป็นวันหยุด

แต่หนังสือ “วันพุทธ” ของ ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ให้รู้จักวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้ถึงกว่า 300 วัน เกือบจะเท่าจำนวนวันในหนึ่งปีทีเดียว

นอกจากนี้แล้ว หนังสือซึ่งอาจเรียกว่าคู่มือทำบุญเล่มนี้ ยังให้ธรรมะน่ารู้ ซึ่งแน่นอนว่า น่าจะนำมาฝึกฝนทบทวนกำกับชีวิตได้ดียิ่งด้วย พร้อมการทำบุญที่ถูกควรเหมาะสม รวมถึงสถานที่ทำบุญอันหลากหลาย ให้ได้บำเพ็ญกิจชำระสะสางจิตใจอันยุ่งเหยิง เพื่อความสงบระงับสมเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีงาม

๐  นิยายแปลจีนนอกเหนือไปจากกำลังภายในตามขนบ หลังจากขยายแนวสู่ฉากหลังในประวัติศาสตร์ จินตนาการนักเขียนยิ่งพลุ่งโพลง โดยเฉพาะเมื่อเป็นประชาชาติที่ย้อนอดีตไปไกลนับพันปีได้ รายละเอียดระหว่างเวลาย่อมอุดม หยิบมาเขียนมาเล่าได้ไม่สิ้นสุด ยิ่งโครงเรื่องย้อนมิติสร้างความสำราญแก่นักอ่านได้ไม่เลิกรา ตัวละครหญิงชายมากหน้าจึงยังผลัดกันมาสวมวิญญาณตัวแทนประวัติศาสตร์ ช่วยทำให้อดีตเกิดมีเลือดเนื้อมีชีวิตและลมหายใจขึ้นได้

“ฝูเหยาฮองเฮา หงสาเหนือราชัน” ของ เทียนเซี่ยกุยหยวน แปลโดย เส้าเหวิน ก็มาทำนองเดียวกัน แต่เป็นนักโบราณคดีสาวที่กำลังขุดค้นสุสาน แล้วถูกซากหลุมศพโบราณถล่มทับ กลับไปเกิดเป็นเด็กหญิงชนชั้นต่ำต้อย ต้องเดินทางฟันฝ่าขวากหนามช่วงชิงป้ายผ่านทางเจ็ดแคว้น ร่วมมือผู้กล้าทั่วแผ่นดินต่อสู้พลังอำนาจกดขี่อยู่ท่ามกลางโลกของบุรุษมีฝีมือ ผจญภัยในงานชุมนุมยอดนักรบ หาทางกลับสู่ปัจจุบันที่พลัดมา แต่ชะตาขีดเส้นให้เดินได้ไม่ง่ายดาย

ต้องปลอมตัวเป็นฮองเฮาฮ่องเต้หุ่นในแคว้นสำคัญที่ถูกชักเชิด โรมรันกับอำนาจรอบด้านทั้งต้องเอาตัวรอด อ่านกันเพลินไม่อยากวางทีเดียวเชียว

๐  เรื่องสั้นชั้นครูของ มนัส จรรยงค์ ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่ในรูปปกแข็งสองเล่มกระทัดรัดงดงาม ดังรายงานไปแล้ว ขณะนี้ นิยายที่มีอายุร่วมศตวรรษแต่ยังคงให้ความสำราญได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่างานร่วมสมัย ก็ทะยอยกลับมาให้นักอ่านอีกรุ่นได้พิสูจน์คุณค่า ว่าคนรุ่นพ่อแม่ปู่ตาอ่านอะไรกันมา

ป.อินทรปาลิต เจ้าของหัสนิยายอมตะที่ในรอบร้อยปีเพิ่งเกิดขึ้นคือ “พล นิกร กิมหงวน” ไม่ได้เขียนแต่งานครื้นเครง ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนยุครัฐบาลเผด็จการทหารครองเมือง แสดงตัวละครแบบผู้ร้ายผู้ดีกระคุ้นความใฝ่ฝันของเยาวชนเช่น “เสือดำ” กับ “เสือใบ” ก็ถูกนำมาเสนอนักอ่านอีกครั้ง

ทั้งสองเรื่องมาพร้อมกับ “ดาวโจร” ในบรรยากาศของหนังไทยยุคฟิล์ม 16 มิลลิเมตร ที่ต้องมีฉากระเบิดภูเขา เผากระท่อม กระตุ้นเลือดลมผู้ชม

๐  หรือเดี๋ยวนี้เรื่องรากเหง้าที่มา ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือจำเป็นอีกต่อไปแล้ว ต้องเป็นเรื่องไอที คอมพิวเตอร์ เรื่องธุรกิจทำมาหารับประทาน เรื่องเงินและความสำเร็จคือร่ำรวย เพราะฉะนั้น สำหรับพ่อแม่ที่แม้อยากให้ลูกทันสมัยเอาตัวรอดได้ แต่ยังต้องรู้จักตัวเองอยู่บ้าง จึงยังต้องหาทางให้ลูกหันดูอดีตอยู่

ตัวอย่างเช่นตำนานอีสาน ชุด 100  เรื่องตำนานสนุก ทำไมต้องยิงบั้งไฟพญานาคขึ้นไปขอฝน ผีตาโขนเกี่ยวอะไรกับผีตามคน “ตำนานเมืองเหนือ” ในชุดเดียวกัน ข้าวสารดำมีที่มาอย่างไร วัดหมื่นสารเกี่ยวข้องกับเสือเย็นและข้าวสารจริงหรือ “ตำนานภาคกลาง” ทำไมยักษ์วัดแจ้งต้องท้าตีท้าแทงกับยักษ์วัดโพธิ์ เหตุใดต้องโล้ชิงช้า ไม้หมอนรถไฟหนึ่งหมอนใช้ชีวิตเชลยศึกหนึ่งชีวิตจริงหรือ ยังมี “ตำนานปักษ์ใต้” ซึ่ง ศรวิษฐา เป็นผู้เล่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ให้ฟัง

รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม อีกหน่อยลูกหลานทำมาหากินกับซอฟท์แวร์ ได้มีทุนขายของมากกว่าคนอื่น.

…..

บรรณาลักษณ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image