ศรีนิวาสะ รามานุจัน “อัจฉริยะผู้อาภัพ” ที่โลก (ไม่) รัก

แม้ชื่อ “ศรีนิวาสะ รามานุจัน” อาจไม่คุ้นหูผู้คนทั่วไปเท่าไรในแวดวงคณิตศาสตร์ แต่คงไม่อาจมองข้าม “THE MAN WHO KNEW INFINITY อัจฉริยะโลกไม่รัก” ภาพยนตร์ที่กำลังเข้าฉายในบ้านเราตอนนี้ เพราะนอกจากความสามารถอันน่ายกย่อง ความมุ่งมั่นพยายามโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวงยังน่าเอาเยี่ยงอย่างเป็นอย่างยิ่ง

หนังสร้างจากหนังสือ “THE MAN WHO KNEW INFINITY” เขียนโดย “โรเบิร์ต คานิเกล” แล้ว “สนพ.มติชน” มอบหมายให้ “นรา สุภัคโรจน์” แปลเป็นไทยในชื่อ “รามานุจัน อัจฉริยะไม่รู้จบ” โดยเรื่องราวเล่าถึงชีวิตจริงของศรีนิวาสะ รามานุจัน ชายวรรณะพราหมณ์ เกิดในครอบครัวยากจน ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง 22 ธ.ค. 1887-26 เม.ย. 1920 เขาท่องตรีโกณได้ทั้งเล่มตอนอายุ 10 ขวบ สร้างทฤษฎีคณิตศาสตร์ตอนอายุ 12 แต่กลับถูกไล่ออกจากโรงเรียนเมื่ออายุ 20 เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน ถึงอย่างนั้นก็มุ่งมั่นศึกษาด้วยตนเอง

แล้ววันหนึ่งก็ถึงจุดเปลี่ยน เมื่อศาสตราจารย์ จี.เอช. ฮาร์ดี้ ผู้สอนคณิตศาสตร์ที่วิทยาลัยทรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มองเห็นพรสวรรค์ของเขาจากจดหมายที่ส่งไปถึงอังกฤษ แม้อาจารย์คนอื่นๆ จะเคลือบแคลง มิตรภาพของทั้งคู่ก่อตัวขึ้น พร้อมกับการพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าทฤษฎีของรามานุจันนั้นเป็น “ของจริง” ท่ามกลางอุปสรรคอย่างสังคมแสนลำเอียง และสงครามโลกครั้งที่ 1

โดยเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกับหนังชีวประวัติเรื่องอื่นๆ ที่ถึงจะเดินเรื่องอย่างราบเรียบ แต่ก็เต็มไปด้วยพลัง โดยนอกจากความเก่งกาจเป็นอัจฉริยะของรามานุจัน ยังสะท้อนสภาพแวดล้อมในประวัติศาสตร์ ณ ขณะนั้น ทั้งในแง่ความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม การแบ่งชนชั้น การเหยียดเชื้อชาติ หรือกระทั่งการเมืองในวิทยาลัยไว้ได้อย่างชัดเจน

Advertisement

ทว่าบรรยากาศโดยรวมก็ไม่หนักเกินไปเพราะไม่ได้ลงลึกจนดูยาก แถมยังแทรกมุขต่างๆ เข้ามาสร้างความผ่อนคลาย

ขณะเดียวกันชุดตัวเลขและสูตรต่างๆ ที่ “แมทธิว บราวน์” ผู้กำกับได้ “เค็น โอโนะ” ศาสตราจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเอมอรี่ ช่วยเลือกและตรวจสอบการใช้ให้ถูกต้องนั้นก็ย่อยจนเข้าใจง่าย และทำให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว

the_man_who_knew_infinity_a_l

Advertisement

รวมทั้งยังสนุกไปกับความคิดของรามานุจันที่ต้องพิสูจน์ให้ฮาร์ดี้เห็นว่ามันเป็นของจริง ส่วนฮาร์ดี้ก็มีภารกิจในการสอนให้รามานุจันรู้ว่า หากจะให้ทฤษฎีเป็นที่ยอมรับในวงกว้างต้องมีการพิสูจน์และเขียนอธิบายให้สอดคล้องจนเป็นที่เข้าใจ

นอกจากเป้าหมายแตกต่าง ทั้งคู่ยังมีความคิดความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน

รามานุจันเคร่งศาสนา มองคณิตศาสตร์เหมือนภาพวาดขาวดำ ทุกสมการเชื่อว่าเป็นคำบัญชามาจากพระเจ้า

ฮาร์ดี้ไม่เชื่อในพระเจ้า แต่เชื่อในการพิสูจน์เพื่ออธิบายทฤษฎีต่างๆ รวมทั้งผู้คนยังรู้จักเขาจากบทความในปี 1940 ว่าด้วยสุนทรียภาพทางคณิตศาสตร์ชื่อ “The Mathematician”s Apology” หรือ “คำขอโทษของนักคณิตศาสตร์” ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในงานเขียนโดยนักคณิตศาสตร์ที่ให้ความรู้กับคนทั่วไปได้ดีที่สุด

ถึงอย่างนั้นแม้จะเห็นการปะทะดุเดือด แต่หนังทำให้เรียนรู้ว่าถ้าจะร่วมมือกันสร้างความสำเร็จก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นจนเกินพอดี ลองลด “อัตตา” เปิดใจฟังคนที่เห็นต่างบ้าง เพราะมันอาจนำไปสู่หนทางใหม่ๆ

และแน่นอนว่าหนังคงไปไม่ถึงจุดนั้น ถ้าขาด “เดฟ พาเทล” ที่สลัดภาพหนุ่มสลัมใน “Slumdog Millionaire” ได้หมดจดจนกลายเป็นอัจฉริยะผู้ทุ่มเททั้งชีวิตให้คณิตศาสตร์ได้อย่างแนบเนียน ทั้งท่าทาง สีหน้า แววตาสะท้อนความเจ็บปวดลึกซึ้ง โดยเฉพาะช่วงท้ายของชีวิต ส่วน “เจเรมี่ ไอรอนส์” ก็ทำได้ดีกับบทศาสตราจารย์ผู้สุขุม ผ่านโลกมามาก แต่มีจิตใจดีและอ่อนโยน

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อจำกัดของเวลาจะทำให้บางช่วงชีวิตถูกรวบรัดตัดตอนไปบ้างจนต้องไปหาอ่านเพิ่มจาก “รามานุจัน อัจฉริยะไม่รู้จบ” ที่ “สนพ.มติชน” พิมพ์เป็นครั้งที่ 3 แต่ในหนังก็เพียงพอจะทำให้รับรู้ถึงหัวใจอันยิ่งใหญ่ของอัจฉริยะผู้นี้

รามานุจันถูกเหยียดจากวรรณะทางสังคมและเชื้อชาติ ไม่ว่าจะในอินเดียหรืออังกฤษ แต่ก็พิสูจน์ตัวเองจนกลายเป็นบุคคลสำคัญทางคณิตศาสตร์

รามานุจันป่วยหนัก ก่อนจากไปในวัยแค่ 32 ปี แต่กลับทิ้งผลงานให้โลกกล่าวขาน โดยบางผลงานก็ยังไขไม่ได้ว่าเขาคิดค้นมาได้อย่างไรจนทุกวันนี้

“นั่นแสดงให้เห็นว่า โลกจะปฏิบัติกับเราอย่างไรไม่สำคัญ เท่ากับเราเคารพในสิ่งที่ทำมากแค่ไหน”

ent01180559p3

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image