เดธ วิช (2561) ทำไมต้องตั้งศาลเตี้ย

ไม่ว่ายุคไหนสมัยใด ยิ่งในปัจจุบัน ทุกครั้งที่เกิดอาชญากรรมสะเทือนขวัญหรือฆาตกรรมสะเทือนใจ เสียงร้องไม่น้อยจากสังคมเรียกให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินโทษชนิดตาต่อตาฟันต่อฟัน เช่น ข่มขืนฆ่า ต้องประหารชีวิตฆาตกร หรือข่มขืนหญิงสาว เด็ก และคนชรา ต้องตอนผู้กระทำผิดให้ด้วนไปเด็ดขาด

แม้เสียงเรียกร้องเหล่านี้จะไม่ได้รับตอบสนอง หรือยังมีความเคลื่อนไหวที่ไม่ประสบผล แต่ความคิดความต้องการที่แสดงสู่สาธารณะ บอกให้รู้ว่า การตัดสินโทษในหลายลักษณะยังไม่พอเพียง

ไม่สาแก่ใจ ไม่ว่าผู้ประสบเคราะห์กรรมโดยตรงหรือผู้เกี่ยวข้อง แม้จนผู้รับข่าวสารที่รู้สึกรุนแรงไปกับเรื่องราว

ความรู้สึกของการอยากมีหรืออยากตั้งศาลเตี้ย ไม่ว่าในสังคมใด ยังคุกรุ่นอยู่เสมอไม่มอดดับ

Advertisement

เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา วงวรรณกรรมญี่ปุ่นก็ปรากฏเรื่อง “จัดจ์เมนท์” ออกมาสร้างความครึกโครมทั้งในหมู่นักอ่านและในสังคม เมื่อ โคะบะยะชิ ยุกะ ใช้ฉากสมมุติอนาคตวาดภาพญี่ปุ่นที่ผ่านกฎหมายล้างแค้นออกมาใช้ หวังว่าสามารถสะสางคดีอาชญากรรมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ โดยให้เหยื่อหรือผู้เสียหายตอบโต้หรือกระทำกับคนร้ายในแบบเดียวกันกับที่ถูกกระทำได้ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เรียกว่า “กฎหมายล้างแค้น” ซึ่งพากย์ไทยออกมาแล้วในชื่อ “กฎหมายให้ฆ่า” โดย กนกวรรณ เกตุชัยมาศ

ขณะเดียวกัน เนื้อหาก็ตั้งคำถามกับผู้อ่านด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ เยียวยาจิตใจผู้ถูกกระทำกับบรรดาผู้เกี่ยวข้องได้จริงหรือ

Advertisement

แต่ระหว่างทศวรรษที่ 60-80 (2503-2523) ที่สงครามเวียดนามขยายตัวเต็มที่ ทั้งกำลังทหารสหรัฐจำนวนแสนในดินแดนตะวันออก และการชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางของประชาชนนับแสนเช่นเดียวกันในประเทศ ขนบสังคมเริ่มเปลี่ยนแปร ขบวนการบุปผาชนเบ่งบาน ความไม่พึงพอใจต่อสภาพแวดล้อมรอบด้านปริรั่วแสดงอาการออกมา

ตอนนี้เอง ที่หนังในความทรงจำชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักหมายระหว่างผู้สร้างกับผู้ชมก็ออกมาตอบสนองความไม่พึงพอใจเหล่านั้น บางประการ คือ “Death Wish” (เดธ วิช) ที่แสดงโดยดาราหน้ายับ (ที่จริงก็ไม่ได้เหี่ยวย่นอะไรมากมาย บ้างก็ชอบเรียกว่าไอ้หนวดหิน) ชาร์ลส์ บรอนสัน

หนังชุดนี้สร้างจากต้นฉบับนิยายดังของ ไบรอัน การ์ฟิลด์ ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2515 ติดต่อกันถึง 5 ตอนในรอบ 20 ปีตั้งแต่ 2517-2537 ที่เข้ามาฉายในไทยท่ามกลางบรรยากาศอิสระของการเรียนรู้หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนถึงโศกนาฏกรรมของการล้อมสังหารนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

งานชุดนี้สะท้อนอารมณ์และความสะใจของผู้คนไม่เพียงในสหรัฐ แต่บันเทิงใจผู้ชมทั่วโลก ที่เห็นคนสามัญพกปืนออกมาดุ่มเดินถนนยามค่ำคืน ไล่ยิงบรรดาผู้ร้ายที่ตำรวจจัดการไม่ได้สักที

ส่งให้ชาร์ลส์ บรอนสัน นักแสดงลิทัวเนียเชื้อสายโปลลิช ที่เล่นหนังมานานนับสิบปีก่อนผู้ชมไทยจะรู้จักจากหนึ่งในบรรดา “The Magnificent Seven” (เดอะ แม็กนิฟิเซนท์ เซเว่น) (2503) สำเนาหนังญี่ปุ่นชั้นเยี่ยม “เจ็ดเซียนซามูไร” และ “The Great Escape” (เดอะ เกรท เอสเคพ) (2506) แหกค่ายมฤตยูอันโด่งดังทั้งเนื้อหากับดาราดังที่ขนมาเต็มจอ ขึ้นหิ้งเป็นนักแสดงทำเงินอีกคนของฮอลลีวู้ด

บรรยากาศของ “เดธ วิช” (2517) ตอนแรกนี้ถูกตอกย้ำด้วย “Lipstick” (ลิปสติก) (2519) ของพี่น้องสองสาว เฮมมิงเวย์ เมื่อพี่สาวลากปืนกระบอกโตมายิงวายร้ายที่ข่มขืนน้องสาวเสียกระจุยไป เพราะหลุดคดีเนื่องจากความละเอียดของกฎหมายที่พยายามปกป้องคนดี จนคนร้ายสบช่องจะแหวกความละเอียดนั้นหลุดรอดมาได้ กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันใหญ่โตพักหนึ่งในช่วงนั้น

และยังเป็นประเด็นถกเถียงมาถึงเดี๋ยวนี้ ว่าความละเอียดของการไต่สวนคดีข่มขืนแทนที่จะเป็นคุณแก่ผู้ถูกกระทำ กลับทำให้เหยื่อต้องถูกข่มขืนซ้ำอีกครั้งในการสอบสวนที่สถานีตำรวจ และถูกข่มขืนอีกหนจากการพิจารณาในศาล

ก็ถ้ากฎหมายปล่อยผู้กระทำผิด 10 คน ดีกว่าจับคนบริสุทธิ์ติดคุก 1 คนดีนัก ก็ยิง…แม่มมมม…ทิ้งเสียเลยดีกว่า หลายคนคิดอย่างนั้น

ในปี 2549 พระเอกหนังประเภทข้ามาคนเดียว ซิลเวสเตอร์ สตาโลน ประกาศจะนำ “เดธ วิช” ฉบับแรกมาสร้างอีกหน โดยจะเล่นเองกำกับเอง แต่หนังก็ไม่ได้ออกมา แม้อีกสองสามปีให้หลังจะให้สัมภาษณ์ว่ายังคิดเกี่ยวกับโครงการหนังเรื่องนี้อยู่ ครั้นปี 2555 ข่าวฮอลลีวู้ดก็รายงานว่า จะมีการสร้างหนังเรื่องนี้โดยการเขียนบทและกำกับของ โจ คาร์นาฮาน (ดิ เอ-ทีม) จะเอา เลียม นีสัน เล่น แต่ก็ทิ้งโครงการไป เปลี่ยนให้ผู้กำกับคนอื่นที่สนใจจะให้ เบนิซิโอ เดล โทโร มาเล่นบทนำเข้าทำแทน แต่สุดท้ายงานก็ไม่ได้ออกมาอีก

จนถึง 2559 บทเดิมของคาร์นาฮานก็ถูกแก้ไขและได้ อีไล รอธ นักแสดงที่ทำงานเขียนบทกับอำนวยการสร้างเป็นส่วนมาก เข้ามากำกับ โดยบทนำถูกเลือกระหว่าง รัสเซล โครว์, แมท เดมอน, วิล สมิธ, แบรด พิตต์ แต่ในที่สุดก็กลายเป็น บรูซ วิลลิส คนตายยากตายเย็นมาแสดง

คราวนี้บทปรับแปลงให้วิลลิสเป็นหมอผ่าตัดมือฉมัง ตั้งใจให้ปฏิพากษ์กันระหว่างผู้ช่วยชีวิตกับผู้ผลาญชีวิต ด้วยการใช้สื่อสาธารณะสมัยใหม่เข้าไปให้ความเห็นสองด้าน ระหว่างคนที่ชอบการตั้งศาลเตี้ยเล่นงานผู้ร้ายชนิดตาต่อตา กับฝ่ายรักษาขื่อแปของสังคม ซึ่งไม่ได้เพิ่มหรือลดน้ำหนักของหนังไปทางใดทางหนึ่งได้ จะว่าไป ถึงฝ่ายสะอกสะใจเอง (โดยเฉพาะผู้ชม) ก็ไม่ได้ถึงกับมันจนกระดี๊กระด๊าอะไร กว่าจะจบฉากสุดท้าย ที่พากันอยากรู้มากกว่าว่า หมอซึ่งซ้อมยิงปืนมาฆ่าคนจะหลุดรอดมือกฎหมาย (นักสืบหญิงชายซึ่งบทบังคับไม่ให้ฉลาดเฉลียวเท่าไหร่) ไปแบบไหน

จึงนอกจากวิลลิสที่ได้บทไม่ยากเพราะเล่นเป็นบรูซ วิลลิส แล้ว ก็มีแต่ วินเซนท์ โดโนฟริโอ น้าชายของหลานสาวที่ถูกทำร้ายพร้อมกับแม่ซึ่งเสียชีวิต ที่ได้เล่นสักหน่อย แถมถูกใช้หลอกผู้ชมให้เขวไปนิดด้วย

หนังเรื่องนี้จึงถูกนักวิจารณ์สับเป็นหมูบะช่อห่อบะหมี่สำเร็จรูป แถมทั้งหนังทั้งดาราถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลยอดแย่เสียอีก แต่จะว่าไป รูปหนังก็ดูได้เพลินๆ ไม่ถึงกับกรนคร่อกๆ ระหว่างพระเอกไล่ยิงผู้ร้าย

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยที่อาชญากรรมเป็นข่าวประจำวัน คนหาปืนมายิงใส่กันง่ายๆ กลางตลาด กระบวนการยุติธรรมจะทำงานสนองความต้องการสังคมจนคนลืมเรื่องศาลเตี้ยไปได้หรือเปล่า

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image