‘ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล’ กระจกเงาส่อง ‘ไทย’ ผ่านมากี่สมัย ‘ประวัติศาสตร์’ ก็ยังคล้ายเดิม

“อาจจะเห็นต่าง อย่างไรสุดท้ายมีเป้าหมายร่วมกัน…ก็เพื่อแผ่นดิน”

เนื้อเพลงท่อนนี้จากละครเวที “ธีรราชา เดอะ มิวสิคัล” เชื่อว่าน่าจะสะกิดใจคนไทยที่นั่งชมอยู่ในเมืองไทยรัชดาลัยเธียร์เตอร์ ศูนย์การค้าเอสพลานาด รัชดาฯ ไม่น้อย เพราะเพลงท่อนที่ว่าเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองช่วงนี้เหลือเกิน ทั้งที่ละครพาเราย้อนกลับไปยังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6

โดยละครเวทีที่จัดขึ้นให้ชมฟรีระหว่าง 18-22 พ.ค. เนื่องในวาระคล้ายวันสถาปนาธนาคารออมสินครบ 103 ปี พาให้ได้เห็นบ้านเมืองในสมัยนั้นผ่าน 3 ตัวละครหลัก อันได้แก่ หลวงชัยพิเทศ (อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ), ร้อยเอกหลวงเทิดบดินทร (รอน-ภัทรภณ โตอุ่น) และ ประยงค์ (หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ) ที่มีบทบาทอาชีพ ความคิดอ่านแตกต่างกันสิ้นเชิง

หลวงชัยพิเทศ ข้าราชการคลังออมสิน ชายหนุ่มผู้มั่นใจในความเก่งกาจของตัวเอง มีความคิดหัวก้าวหน้า กล้าวิพากษ์วิจารณ์สังคม โดยมีปากกาเป็นอาวุธในนาม “อันโตนิโย”

Advertisement

ร้อยเอกหลวงเทิดบดินทร นายทหารหัวเก่าในกรมทหารรักษาวัง เชื่อมั่นในระบอบเก่า ถือตนว่าเป็นผู้ดีเก่าแก่

ประยงค์ เจ้าของนามปากกา “นิรนาม” หญิงสาวที่เชื่อว่าคุณสมบัติของกุลสตรีไม่ใช่แค่อยู่ก้นครัว หวังพึ่งผู้ชาย แต่ต้องกล้าแสดงความคิดเห็น พึ่งลำแข้งตัวเอง

ทั้งสามนอกจากจะมาเกี่ยวพันเพราะละครเวทีที่แสดงร่วมกันเรื่อง “เวนิสวาณิช” ซึ่งเตรียมไว้สำหรับ “งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์” พวกเขายังพัวพันกันเรื่องหัวใจ แต่เมื่อความคิดฝักใฝ่ต่างกันเป็นทุนเดิมกว่าจะลงเอยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

หลวงเทิดบดินทร, หลวงชัยพิเทศ และ ประยงค์
หลวงเทิดบดินทร, หลวงชัยพิเทศ และ ประยงค์

เพราะอย่างนี้แล้ว แม้จะเป็นละครเวทีที่เผยแผ่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดธนาคารออมสิน แต่เรื่องราวโดยรวมก็เป็นไปอย่างสนุก มีทั้งฉากรักซาบซึ้ง ฉากตลกเฮฮา ฉากดราม่าปะทะคารม และยิ่งเป็นละครเพลง ยิ่งดูเพลิน ถึงบางเพลงจะไม่ค่อยติดหูก็ตาม

ที่สำคัญแต่ละนักแสดงยังทรงพลัง ดึงดูดผู้ชมได้อยู่หมัด โดยนอกจาก 3 คนหลัก ที่เหลือยังเข้าตำรา “น้อยแต่มาก” ออกฉากไม่บ่อย แต่ออกมาทีไรเป็นต้องเรียกเสียงฮือฮา ไม่ว่าจะ ปาน-ธนพร แวกประยูร, จิ๊บ-วสุ แสงสิงแก้ว, แอ๊ด- ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย ฯลฯ ทำให้ละครสะท้อนสิ่งที่จะสื่อออกมาได้อย่างชัดเจน

ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมชื่นชมทีมสร้าง เช่น ธิษณา เดือนดาว ผู้อำนวยการแสดงและผู้ประพันธ์คำร้อง, พันพัสสา ธูปเทียน ผู้กำกับการแสดง โดยเฉพาะ ปริดา มโนมัยพิบูลย์ ผู้ประพันธ์บทที่เล่าเรื่องราวยุคนั้นได้แจ่มแจ้งว่าไม่ได้มีเพียงความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของศิลปวัฒนธรรม แต่ยังอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความแตกแยก

พวกหนึ่ง คือ ทหาร ข้าราชการหัวเก่า คิดว่าสิ่งที่มีอยู่เดิมๆ ดีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็กลัวว่าพวกหัวใหม่จะทำให้ฝ่ายตัวเองเสียประโยชน์จึงคัดค้านการสร้างมหาวิทยาลัยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู มองนักหนังสือพิมพ์ที่ออกมาวิจารณ์การบ้านการเมืองเป็นเรื่องไม่ควรทำ

พวกหนึ่ง คือ คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า มั่นใจในความรู้ความสามารถของตนจนนอกจากไม่เห็นหัวใคร ยังดูถูกคนอื่นว่าไม่เก่งเท่าตัว แถมเมื่อผู้มีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวช่วยสอนสั่งยังเอาแต่รั้นเพราะถืออัตตา

พวกหนึ่ง คือ กลุ่มคนต้องการอิสระในการใช้ชีวิต มีเสรีภาพในการหลีกหนีจากชีวิต ขนบเดิมๆ โดยไม่มองความเป็นจริงว่าโลกรอบตัวเป็นไปได้แค่ไหน

เพราะความเข้าใจผิดทำให้หลวงชัยพิเทศ และร้อยเอกหลวงเทิดบดินทร เกือบได้ดวลปืนกัน
เพราะความเข้าใจผิดทำให้หลวงชัยพิเทศ และร้อยเอกหลวงเทิดบดินทร เกือบได้ดวลปืนกัน

เมื่อต่างฝ่ายต่างยึดมั่นถือมั่น บ้านเมืองจึงเหมือนจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แต่นับเป็นบุญของคนไทยที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงใช้วิธีประนีประนอมผ่อนปรน ทรงรับฟังทุกความคิดเห็น ทรงใช้ศิลปะในการสร้างชาติ เข้าทำนอง “ยอมงอไม่ยอมหัก”

ดังนั้นจึงเห็นจริงอย่างที่ปริดากล่าวไว้ว่า “บทละครเรื่องนี้ มิใช่บทละครเฉลิมพระเกียรติแบบสรรเสริญองค์สมมุติเทพ แต่เป็นบทละครที่กล่าวถึงมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งที่ทรงยิ่งใหญ่ด้วยวิธีคิดและวิธีมองโลก สมกับพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ราชาผู้เป็นจอมปราชญ์แห่งปวงชนชาวไทย”

ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่าการเห็นต่างคงไม่ใช่ปัญหา ตราบที่คนในชาติยอมรับในความคิดของกันและกัน

ดังที่เพลงว่าไว้ในตอนจบ…

“ความขัดแย้งคลี่คลายด้วยใจเรา เพียงเราเมตตา และยอมรับเขา เราจะพบปัญญาดุจแสงส่องทาง”

เมื่อประยงค์ได้พบกับหลวงชัยพิเทศเป็นครั้งแรก
เมื่อประยงค์ได้พบกับหลวงชัยพิเทศเป็นครั้งแรก
หลวงชัยพิเทศ ต้องลำบากใจเพราะถูกพ่อแม่จับคลุมถุงชน
หลวงชัยพิเทศ ต้องลำบากใจเพราะถูกพ่อแม่จับคลุมถุงชน
ปาน - ธนพร ในบทคุณหญิงแม่ของประยงค์
ปาน – ธนพร ในบทคุณหญิงแม่ของประยงค์

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image