เปลี่ยนโมเดลร้านหนังสือ สู่การขาย”พื้นที่สร้างประสบการณ์” การเติบโตที่บีทูเอส และนายอินทร์กำลังสนุก

เพิ่งเดินเข้าไปในร้านหนังสือ “B2S ” สาขาเซ็นทรัลพระราม 9 ก็ยืนอึ้งไปครู่หนึ่งกับความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

ก็ชั้นบนสุดของห้างที่เคยเป็นร้านหนังสือทึมๆ เทาๆ แบบแสงสว่างส่องไม่ค่อยจะถึง กลับเปลี่ยนไปเป็น “บีทูเอส ธิงค์สเปซ” (B2S Think Space) ทั้งที่พื้นที่ไม่ได้โปร่งโล่งแบบต้นแบบที่เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ แต่กลับจัดสเปซได้อย่างน่าสนใจ และดึงดูดคนให้เข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ในร้านหนังสือได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เป็นการทรานส์ฟอร์มธุรกิจที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนได้อย่างเหมาะมาก คือสร้างให้ไม่ใช่เป็นแค่ร้านหนังสือ ที่เดินเข้ามาซื้อหนังสือที่ต้องการแล้วก็จากไป แต่เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ แรงบันดาลใจ ไอเดียต่างๆ และที่สำคัญโมเดลแบบนี้ ไม่ใช่ได้แค่ภาพลักษณ์เก๋ๆ ชิคๆ แต่ยังสามารถทำกำไรได้จากผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การปรับโมเดลของบีทูเอสในหลายสาขา ให้กลายเป็นบีทูเอส ธิงค์สเปซ ซึ่งทดลองตลาดมากว่า 2 ปีแล้ว มีส่วนทำให้ บมจ.ซีโอแอล ในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่เติบโตมากขึ้น โดยผลประกอบการในปี 2561 ซีโอแอลมีรายได้รวม 12,511 ล้านบาท เติบโต 2.4% และมีกำไรสุทธิ 733 ล้านบาท เติบโตขึ้น 46%

คุยกับ “อดิเรก ราชกิจ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท บีทูเอส จำกัด ก็เผยว่า ในส่วนของบีทูเอสเองนั้นก็มียอดขายที่เติบโตกว่า 2.5% จากปีก่อน โดยมียอดรวม 3,985 ล้านบาท ซึ่งประเด็นหลักที่นำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าว ก็เพราะปรับปรุงร้านให้เป็นบีทูเอส ธิงค์สเปซนั่นเอง

Advertisement

รูปแบบโมเดลทางธุรกิจดังกล่าว เกิดจากการศึกษาการปรับตัวของธุรกิจหนังสือในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน อังกฤษ และเจาะลึกถึงความต้องการของลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ร้านหนังสือจึงไม่ใช่แค่ร้านขายของ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่มอบแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้คนได้ ที่เซ็นทรัลพระราม 9 เป็นสาขาที่ 6 ของโมเดลนี้ มาพร้อมคอนเซ็ปต์ “Passion Library” เปลี่ยนทุกตารางเมตรให้เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์ใจกลางเมือง ต่อไปก็จะเป็นเซ็นทรัล ลาดพร้าว เซ็นทรัลเวิลด์ โดยปีนี้น่าจะปรับประมาณ 10 สาขา

อดิเรกมองว่าการทรานส์ฟอร์มธุรกิจมาสู่โมเดลบีทูเอส ธิงค์สเปซ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคนี้ และยังเพิ่มกลุ่มเป้าหมายใหม่ อาทิ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือกลุ่มครอบครัว ที่เข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมแบบ Play & Learn จะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นกว่าเดิม ทั้งในการสร้างยอดขายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด และการทำกำไรได้ในระดับสูง

ผู้นำตลาดอย่าง “นายอินทร์” ก็ไม่น้อยหน้า ประกาศเลยว่าจะมุ่งสู่ “Content Experience” ซึ่งจะว่าไปก็มีโมเดลคล้ายๆ กันธิงค์สเปซ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ให้กับคนอ่านในพื้นที่ของตัวเอง

“ณัฐชัย วีระกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด เผยว่า เป้าหมายสำคัญของนายอินทร์ คือการเป็น Content Experience Destination ซึ่งหมายถึงการเป็นพื้นที่ที่สามารถร่วมสร้างประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวในหนังสือได้ คือไม่ใช่แค่ประสบการณ์จากการอ่านเท่านั้น แต่ดึงเรื่องราวจากการอ่านมาสู่โลกจริงด้วยกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้คนที่รักหนังสือรู้สึกว่านี่คือพื้นที่ของเขาอย่างแท้จริง ซึ่งโมเดลแบบนี้จะอยู่ในร้านไซซ์ใหญ่ตั้งแต่ 300 ตร.ม.ขึ้นไป เพราะตอบโจทย์เรื่องกิจกรรมได้ ส่วนร้านไซซ์กลางนี่น่าสนใจมาก เพราะจะเน้นการเปิดเป็นร้านที่มีลักษณะเฉพาะ เจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเลย โดยเลือกแบรนด์ที่แข็งแรงในเครือมาต่อยอด เช่น บ้านและสวน

ณัฐชัยยังบอกด้วยว่า นอกจากเรื่องปรับโมเดลร้านแล้ว นายอินทร์ยังปรับวิธีคิดใหม่ในธุรกิจด้วย โดยเน้นการทำ Membership Engagement ที่ไม่ใช่ให้สมาชิกซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,000,000 คนทั่วประเทศได้ลดราคาหนังสือเฉยๆ เท่านั้น แต่จะเพิ่มพันธมิตรให้สามารถนำคะแนนสะสมไปร่วมกิจกรรมพิเศษต่างๆ ได้ด้วย โดยสมาชิกคือกลุ่มที่สร้างรายได้มากกว่า 50% ให้ร้านนายอินทร์

ส่วนใครที่ชอบบ๊วยเค็มในร้านนายอินทร์ ต้องรีบซื้อตุนแล้วนะ เพราะจะมีการปรับตัวในจุดนี้ด้วย โดยการทยอยเอาสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหนังสือออกจากเชลฟ์ในร้าน ณัฐชัยอธิบายว่าจุดยืนของนายอินทร์คือ การเป็น Lifestyle Books Store จึงควรโฟกัสเฉพาะสินค้าที่เชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายในธุรกิจหลัก และจะนำพื้นที่ดังกล่าวไปทำกิจกรรมที่สามารถทำให้สมาชิกผูกพันกับแบรนด์ได้มากขึ้น

“ทั้งปรับทั้งแข่งกันสนุกเลย คนได้ประโยชน์ที่สุด ก็หนอนหนังสืออย่างเราๆ ท่านๆ นั่นล่ะ”

 

 

 

 

All site contents copyright © by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image