“โลกการอ่านจีน”และการขยายตัวแบบพุ่งปรี๊ด! ของนิยายออนไลน์

ยังจำข่าวเมื่อปีที่แล้วได้ไหม ที่ไชน่าเดลี่รายงานว่า เทศบาลเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน วางแผนงบประมาณประมาณ 50 ล้านหยวน หรือคำนวณคร่าวๆ ก็ประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนร้านหนังสือทั่วปักกิ่ง ที่ต้องแบกรับเรื่องของค่าเช่าและค่าปรับปรุงร้านที่สูงขึ้นทุกวัน และจะลดภาษีให้ร้านหนังสือ รวมถึงขอให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ลดราคาค่าเช่าลง โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2020 นี้ จะต้องมีร้านหนังสือขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 16 แห่ง และเพิ่มร้านหนังสือขนาดเล็ก 200 แห่ง

 

โดยนอกจากเรื่องทางกายภาพแล้ว ยังมองทะลุไปถึงจิตวิญญาณของร้านหนังสือ เพราะมีอีกหลายโปรเจ็กต์ที่เทศบาลวางไว้ อาทิ เชื่อมโยงร้านหนังสือเข้ากับห้องสมุดสาธารณะ การเปิดร้านหนังสือ 24 ชั่วโมง และบุ๊กคลับต่างๆ เพราะรัฐมองว่า ร้านหนังสือเป็นหนึ่งในพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาก และที่สำคัญตลาดหนังสือรวมถึงรูปแบบการอ่านของจีนนั้นเปลี่ยนไปแล้ว จึงจำเป็นอย่างมากที่รัฐต้องสนับสนุนรูปแบบการอ่านในลักษณะเดิม โดยปรับให้เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ที่ต้องเป็นพื้นที่ของการพบปะสร้างแรงบันดาลใจด้วย

 

Advertisement

จะไม่ให้กลัวได้อย่างไร ตอนนี้ในประเทศจีน คนอ่านนิยายออนไลน์เป็นหลัก หนังสือเล่มและร้านหนังสือถึงเจอปัญหาอย่างหนัก บริษัทไอรีดเดอร์และเทนเซ็นต์ เป็นสองบริษัทที่สามารถเข้าเป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยการขายอีบุ๊กและนิยายออนไลน์แค่นี้นี่ล่ะ ก่อนที่จะขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นแพลตฟอร์มซึ่งเชื่อมโยงกับคอนเทนต์นิยายที่เป็นธุรกิจหลัก

 

ในมหาวิทยาลัย หลายคณะที่สอนด้านวรรณกรรม เปิดสอนสาขาวิชาเกี่ยวกับ Web Novel ที่เน้นการเขียนคอนเทนต์ต่างๆ ในออนไลน์ โดยเฉพาะนิยาย เพราะแต่ละแพลตฟอร์มของออนไลน์นั้น มีวิธีการเขียนตอนเทนต์ที่แตกต่างกัน ส่วนทำไมถึงต้องเน้นนิยายกันนั่นนะเหรอ ก็เพราะนิยายออนไลน์แต่ละเรื่อง ความยาวไม่ต่ำกว่าพันตอน แล้วคนจีนอ่านกันจริงจัง แต่ละแอพพลิเคชั่นของเว็บโนเวล มีคนใช้งานแต่ละวันเฉลี่ยราวสองร้อยล้านคน อย่าลืมว่า ประชากรจีนมีมากขนาดไหน และนั่นหมายถึงรายได้มหาศาล ที่การพิมพ์นิยายเป็นเล่มก็ไม่สามารถให้ได้ขนาดนี้ นอกจากนี้ ยังขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ต่างๆ ไปสร้างเป็นสิ่งอื่นได้ โดยไม่ใช่แค่สื่อที่เรารู้จักอย่างซีรีส์ แอนิเมชั่น การ์ตูน เกมต่างๆ เท่านั้น เพราะมีการนำไปสร้างเป็นธีมสวนสนุกและธีมคาแร็กเตอร์ด้วย

 

ส่วนหนึ่งที่ทำให้โมเดลนี้เติบโตทำกำไร นักเขียนมีรายได้ดีขนาดนี้ จุดเริ่มต้นส่วนหนึ่งก็มาจากรัฐบาลจีนด้วย แต่ไม่ใช่การสนับสนุนแบบร้านหนังสือนะ แต่เป็นการห้ามอ่าน เช่น ห้ามเรื่องผี เพราะไม่อยากให้คนงมงาย ห้ามนิยาย/การ์ตูนวาย ห้ามงานเขียนแนวยูริ แต่ห้ามไปก็เท่านั้น เพราะดีมานด์การอยากอ่านยังอยู่ แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์จึงเริ่มเติบโตจากช่องว่างในจุดนี้ ก่อนที่จะขยายไปสู่นิยายทุกแนว และขยายไปสู่ในหลายประเทศทั่วโลก ในไทยเองก็มีทั้ง ไอรีดเดอร์ (iReader) ที่กำลังโตวันโตคืน โดยการมาเปิดบริษัทในไทยเองเลย อย่างไม่ร่วมทุนกับใคร รวมถึงอุ๊คบี (Ookbee) ที่เทนเซนท์มาร่วมทุน

 

ในงาน London Book Fair ที่เพิ่งจบไป หลิว ยวี่เหริน หัวหน้าแผนกคอนเทนต์ของ Webnovel ของ China Literature ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มชื่อดังในจีนอย่าง QQ Reading และ qidian.com โดยมีผู้อ่านในจีนหลายร้อยล้านราย และเป็นหนึ่งในเครือเทนเซนท์ ที่ขยายตลาดไปต่างประเทศแบบไม่ร่วมทุนกับใคร ก็ให้สัมภาษณ์ว่า Webnovel เปิดตัวในปี 2560 ในฐานะเว็บไซต์ต่างประเทศของ China Literature ซึ่งรวบรวมนักเขียนจากนานาประเทศมากกว่า 16,000 ราย รวมถึงนักแปลและทีมแปลกว่า 200 ราย และเผยแพร่นิยายต้นฉบับกว่า 23,000 ผลงาน นิยายแปล 300 ผลงาน รวมถึงเว็บตูนที่แปลจากภาษาจีนและเกาหลีอีกจำนวนหนึ่ง ตอนนี้ โดยนิยายที่ได้รับความนิยมในขณะนี้คือ Reborn : Evolving from Nothing, Library of Heaven”s Path, The King”s Avatar ซึ่งตอนนี้ Webnovel กำลังมุ่งปรับโมเดลระบบการซื้อของในเกมออนไลน์ ให้สามารถนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมนิยายออนไลน์ได้ด้วย

 

การจัดอันดับ 10 นักเขียนขายดีครั้งล่าสุดของจีน 6 ใน 10 คือนักเขียนออนไลน์

 

ดูการเติบโตของแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ในบ้านเราแล้ว อนาคตมีสิทธิเหมือนกันนะนี่

 

หน้า 19

 

 

All site contents copyright © by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image