ความแก่ที่แสนดี ชื่อเสียงที่ไม่ได้มีง่ายๆ และการบริหารความดัง เรื่องต้องอ่านจากน้าเน็ก ผู้เคยปากจัดและก้าวร้าว

พอเข้าสู่ช่วงการเป็นผู้สูงอายุ หลายคนอาจกังวลและไม่แฮปปี้ที่สภาวะร่างกายเริ่มเสื่อมถอย แต่สำหรับ เกตุเสพสวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ที่คนดูเรียกขานด้วยความชินปากว่า น้าเน็ก กลับว่า เขานั้น “โอเคเลย” กับอายุ 50 ในปัจจุบัน

“รู้สึกว่าเป็นช่วงชีวิตของการได้คำตอบ เหมือนตอนเด็กคือช่วงเวลาของการตั้งคำถาม แล้วก็ลงมือทำ เรื่องบางเรื่องที่ไม่เคยเข้าใจเลย สงสัยมาทั้งชีวิต ก็ได้มารู้”

ซึ่งเมื่อขอให้ยกตัวอย่างประกอบคำกล่าว เจ้าตัวก็นิ่งเพื่อนึกชั่วครู่ แล้วจึงว่า

“อย่างเช่นเรื่องพ่อ ผมไม่เคยเข้าใจเลย ว่าทำไมเขาต้องเคี่ยวเข็ญผมอย่างหนัก ตั้งแต่เด็กผมต้องใช้ชีวิตไปกับความรับผิดชอบ ตอนอายุ 12 ถึง 17 หน้าที่ของผมคือดูแลบ้านทั้งหมด ทำกับข้าว ซักผ้า ถูบ้าน เหมือนเป็นรูม เซอร์วิส พ่อพูดคำเดียวว่า ถ้าอายุยังไม่ถึง 20 ชีวิตผมเป็นของเขา ทำตามที่เขาบอก”

Advertisement

ก่อนจะตระหนักตอนโตว่า อาจเพราะถูกเคี่ยวอย่างนั้น เขาจึงสามารถทำได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะงานบ้าน ทำอาหาร ซ่อมแซมสิ่งของตั้งแต่เสื้อผ้า แอร์ ไฟ ไปจนถึงรถยนต์

จากนั้นย้อนเล่าอีกว่า “สมัยเด็กไปกว่านั้น คือตอนยังไม่ 10 ขวบ เวลาซน พ่อจะทำโทษโดยการผูกขาไว้ในห้องหนังสือ กว่าจะรู้ตัวอีกที ผมก็นั่งอ่านหนังสือในห้องนั้นโดยไม่มีเชือกผูกขาอีกแล้ว ทุกวันนี้ผมก็อ่านและอาทิตย์หนึ่งก็ซื้อหนังสืออย่างน้อย 1 เล่ม”

“นี่คือสิ่งที่ผมได้คำตอบ ผมจึงไม่เคยกลัวความแก่ รู้สึกว่าชอบตัวเองตอนแก่ที่สุด มันเป็นวันที่ผมเข้าอกเข้าใจอะไรมากขึ้น สุขุมนุ่มลึก ตกตะกอนมากขึ้น”

Advertisement

เขาบอกว่า ในวัยนี้นอกจากจะสนุกกับการได้ค้นพบคำตอบดังว่าแล้ว ยังเป็นวันที่เขาตั้งใจจะถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ที่มีให้กับเพื่อนร่วมวิชาชีพรุ่นใหม่ๆ คนรุ่นหลังที่เขาสัมผัสได้ว่ามักจะรู้สึกวิตกกังวลเมื่อต้องทำงานร่วมกัน สิ่งที่เขาทำเมื่อเจอกับคนเหล่านั้นจึงเป็นการประกาศตั้งแต่วันแรกพบว่า

“น้อง พี่จะบอกทุกอย่างที่น้องควรต้องรู้ ถือว่าน้องเข้าโรงเรียน เพราะฉะนั้นขอให้เปิดใจรับฟังและทำให้เต็มที่ ยืนข้างพี่ ไม่ต้องกลัวตาย ยังไงพี่ก็ไม่ให้น้องตายแน่นอน ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ เรียนไป เพราะผมเชื่อว่าสิ่งที่เราสั่งสม แลกมาด้วยชีวิต หยาดเหงื่อ แรงงาน สุดท้ายท้ายสุดเมื่อเราตายจากโลกนี้ไป มันต้องเป็นประโยชน์กับใครสักคนที่อยู่ในวิชาชีพเดียวกับเรา ผมรักอาชีพพิธีกร แล้วก็รักเพื่อนร่วมอาชีพ กับคนที่เก่งกว่า ผมก็ไม่อ้อมค้อมในการขอวิชา ไม่ว่าจะเป็น คุณไตรภพ (ลิมปพัทธ์) คุณสัญญา (คุณากร) คุณเศรษฐา (ศิระฉายา) เวลาเจอเขา ก็จะ เอ๊ะ?ถ้าในกรณีนั้น นู่น นี่ ยังไงเนี่ย ส่วนกับคนที่เด็กกว่า ถ้าแสดงอาการอยากได้ใคร่รู้ ก็จะสอนเขาอย่างจริงจัง ซึ่งบางทีเขาอาจไม่ต้องการด้วยซ้ำ แต่ผมมีความรู้สึกว่า นี่เป็นความรับผิดชอบในอาชีพของผม เฮ้ย ตรงนี้ดีว่ะ แต่ตรงนี้พี่ว่าลองดูนะ มันตึงไป”

คนที่ติดตามเขามานานคงจำกันได้ว่า ในยุคหนึ่งเขาเป็นพิธีกรซึ่งมีกิตติศัพท์ด้านความปากจัด แซวคนโดยไม่รู้กาลเทศะ และออกจะก้าวร้าว ซึ่งต่างกันมากกับวันนี้

“สไตล์การเป็นพิธีกรของผมมันอ้างอิงกับวัยและยุคสมัย” คือคำอธิบาย

“ในวันที่ยังวัยรุ่น คึกคะนอง ผมเริ่มต้นจากการเป็นดีเจ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น ก็จะมีความคึกคะนองปากหมา แซวนู่นนี่ ก้าวร้าว แต่พอโตมา วิธีการก็เปลี่ยนไป เราทำงานกับคนที่โตตามเรา เนื้อหาหรือวิธีการนำมาซึ่งเสียงหัวเราะก็ย่อมต้องต่าง และผมก็จะไม่แต่งตัวอย่างนี้”

“วันนี้กลุ่มเป้าหมายของผมคือแมส หมายถึงตั้งแต่เด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งผมก็ไม่ได้รู้สึกผิดกับอะไรในตอนนั้น ผมเชื่อว่าเวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน มันเป็นตามวัย วันนี้ผมโตแล้ว มีความเป็นพิธีกรข่าว ได้รับเชิญเป็นประธานงานแต่งงาน สมัยเป็นวัยรุ่น เป็นพิธีกรงานแต่ง ผมก็แซว ใครใส่ซองเกิน 10,000 จะได้สิทธิในการนั่งข้างเตียงในวันส่งตัว แต่เป็นประธานงานแต่งผมก็จะพูดอีกแบบ บ่าวสาวยังไงคืนนี้ก็เก็บแรงเอาไว้ เพราะคงต้องนั่งนับซองกันทั้งคืน”

“นี่คือสิ่งที่แปรผกผันตามวัย”

การเป็น ‘คนดัง’ ที่หลายๆ คนบ่นและเพรียกหาความเป็นส่วนตัวนั้น น้าเน็กบอกว่า เขาเองไม่เคยมีปัญหานี้

เพราะ “วิธีการง่ายมาก” ที่ปฏิบัติอยู่ คือ “อย่าให้ทุกเรื่องของชีวิตเป็นเรื่องสาธารณะสิ นี่เป็นเรื่องที่คุณควบคุมได้

“ผมเป็นคนที่ไม่ขายเรื่องส่วนตัวเลย ที่ผมนำเสนอคือเรื่องงานล้วนๆ ผมไม่เคยออกรายการแล้วพูดเรื่องส่วนตัว ไม่เคยสร้างประเด็นเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว เพราะผมอยากพิสูจ์ว่าเราขายผลงานจริงๆ”

“และผมไม่อยากให้ที่ที่เป็นส่วนตัวที่สุดเป็นแค่ห้องน้ำ ถ้ารายการมาถ่ายที่บ้านผม เห็นทุกซอกทุกมุม บ้านผมก็กลายเป็นที่สาธารณะ อย่างนั้นผมรู้สึกว่าน่ากลัวมาก ผมอยากอยู่ในจุดที่มีความเป็นบุคคลสาธารณะประมาณหนึ่ง ขณะที่เรื่องบางเรื่องไม่ต้องมีความเป็นสาธารณะ เราก็ไม่ต้อง”

“มันเลยเกิดเป็นวิถีที่ผมจะไม่ให้สัมภาษณ์แบบไม่มีกิจจะลักษณะ ถ้าแบบนี้คือคุยกัน ให้เวลากันเต็มที่ ตั้งคำถามดีๆ เพื่อที่จะได้คิดคำตอบดีๆ จะไม่ให้สัมภาษณ์จ่อไมค์ตามงาน ถ้าไม่ใช่แถลงข่าวโปรโมตรายการ เพราะผมมีความรู้สึกว่าผมคัดกรองข่าวสารที่จะถึงผู้คน แล้วผมก็บริหารจัดการความมีชื่อเสียงของผม ผมดีไซน์มัน ไม่ปล่อยปละละเลยมัน เพื่อที่ผมจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในแบบที่ผมมีความสุขและรับมือได้”

ถามเขาว่าการเป็นบุคคลสาธารณะอย่างที่เป็นอยู่ อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุด?

“ตรงการบริหารจัดการความเป็นสาธารณะของตัวเองนี่แหละฮะ” เขาว่า

“เราจะเจอคน 3 ประเภท คือ ชอบเรา เฉยๆ กับเรา ไม่ชอบเรา จะบริหารจัดการคนเหล่านั้นยังไง”

ในบรรดาทั้ง 3 ประเภทนั้น แบบแรกมักจะชอบที่ “เราเป็นเรา” ดังนั้น “สิ่งที่เราจะแสดงออกคือ เป็นตัวเองอย่างที่เป็น เพื่อคนที่ชอบจะไม่ผิดหวัง”

สำหรับพวกที่เฉยๆ “ผมก็จะพยายามเรียกร้องความสนใจกับเขา เพื่อให้เขาหันมาดูผมซะหน่อย สุดท้ายจะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่”

ส่วนพวกที่ไม่ชอบนั้น เขาตัดสินใจว่าคงจะไม่ทำอะไรกับคนกลุ่มนี้-เพราะถึงอยากก็คงทำไม่ได้

“เพราะถ้าคุณจัดการผิด ไปพยายามทำให้คนที่ไม่ชอบคุณ ชอบคุณอยู่นั่น มันจะหายนะหนัก เผลอๆ อาจจะทำให้คนที่ชอบเรา ไม่ชอบเราก็ได้ เพราะพอรู้ว่าคนไม่ชอบเราเพราะอะไร แล้วเราไปเปลี่ยน คนที่ชอบเราก็จะกลายเป็นไม่ชอบละ”

“บางทีการไม่จัดการจึงเป็นการจัดการอย่างหนึ่ง”

“ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าผมรับมือกับการมีชื่อเสียงของตัวเองได้ดี เพราะว่าผมไม่ได้ปล่อยปละละเลยในเรื่องใดเลย วันไหนที่ผมพร้อม ถ้าเห็นผมในที่สาธารณะ คุณเข้ามาได้ทุกรูปแบบ แต่ถ้าวันไหนผมไม่พร้อมจริงๆ ไม่ว่าจะด้วยร่างกายหรือจิตใจ ผมจะขังตัวเองอยู่ในบ้าน ผมจะไม่เคยเหวี่ยงใส่ ไม่เคยอารมณ์เสียจากอะไรแล้วให้คนรอบข้างได้รับผลกระทบ”

“ผมมีความรู้สึกว่านี่สำคัญ มีความหมาย และยากเย็นกว่างานที่ทำเสียอีก อาชีพการเป็นพิธีกรไม่ได้ยากกว่าการบริหารจัดการชื่อเสียงที่เรามี มีคนดังบางคนที่เก่งในอาชีพ แต่บริหารจัดการชื่อเสียงตัวเองไม่เก่งมากมาย ก็จะกลายเป็นคนแปลกๆ ดูเลอะเทอะ ดูเพี้ยนๆ อะไรก็ตามแต่ อย่างที่เราเห็นกัน ผมอาจจะโชคดีที่เริ่มงานนี้ในด้านของการบริหารจัดการชื่อเสียงของศิลปินมาก่อน ก่อนที่ชื่อเสียงมันจะเป็นของผมเสียอีก

“นั่นแหละถึงได้เข้าใจกระบวนการ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image