‘เดอะ กู้ด ดอกเตอร์’ ฉบับหมออเมริกันออทิสติก

ความตื้นตันที่เห็นพฤติกรรมคุณงามความดีในมนุษย์ สามารถทำให้น้ำตาไหลได้ด้วยปีติ เช่นหนัง ‘คานธี’ ที่เรียกน้ำตาผู้ชมขึ้นคลอคลอง เมื่อเห็นความมุ่งมั่นของคนสามัญที่เผชิญกับการข่มเหงของอำนาจเหนือกว่าอย่างกล้าหาญ ด้วยวิธีตอบโต้โดยสงบสันติ ปราศจากความรุนแรงเช่นฝ่ายผู้กระทำจงใจใช้

ยังการจากไปอย่างกะทันหันของเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา วีรชัย พลาศรัย ทำให้คนรู้ข่าวจำนวนไม่น้อยตกใจ เพราะแม้ไม่รู้จักเป็นส่วนตัว แต่จากการทำงานกรณีเขาพระวิหารซึ่งปรากฏต่อสายตาสาธารณชน สร้างความนิยมนับถือและศรัทธาต่อประชาชนอย่างเอกอุ ที่เห็นข้าราชการซึ่งเก่งกาจสามารถ ฉาดฉาน แสดงออกถึงความรู้และสติปัญญายิ่งยวด น่าภาคภูมิใจสุดสุด

ยิ่งเห็น มติชน ออนไลน์ เปิดโอกาสให้เพื่อนข้าราชการ พี่น้องร่วมวิชาชีพ ได้กล่าวคำอำลาถึง ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนถึงชีวิตคนคนหนึ่ง ซึ่งใช้เวลารอบด้านอย่างเปี่ยมคุณค่า ตั้งแต่การรับใช้บ้านเมืองอย่างทุ่มเท เคร่งครัด ทั้งโลกส่วนตัวอันมีชีวิตชีวาด้วยรสนิยม แวดล้อมด้วยผองเพื่อน เห็นภาพยิ้มแย้มยามเล่นดนตรี ดื่มกินใกล้ชิดมวลมิตร จึงน่าเสียดายที่บ้านเมืองปราศจากบุคลากรที่คอยค้ำจุนไปอีกคน ครอบครัวและมิตรสหายสูญเสียผู้เป็นที่รัก

คนดีๆ อย่างนี้ต่างหากที่ผู้คนล้วนครุ่นคิดคำนึงถึง ไม่ใช่คนรวยที่สุดในประเทศ หรือรวยที่สุดในโลก

Advertisement

ตรงกันข้าม มหาเศรษฐีอย่าง มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ที่ขายหุ้นเฟซบุ๊กไปจำนวนถึง 4 แสนล้านบาท เหลือเพียงส่วนตัวไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อทยอยนำเงินทั้งหมดเข้ามูลนิธิที่ภรรยา พริสซิลลา ชาน แนะนำให้ตั้งขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในงานสาธารณะกุศลต่างหาก ที่มีคนจดจำ

เช่นเดียวกับคนเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ที่ต่างเป็นอาภรณ์เชิดชูวงข้าราชการ เป็นหน้าตาของสังคมซึ่งแร้นแค้นแบบอย่าง เป็นคนทำงานประเภททองแท้ไม่กลัวไฟด้วยกันทั้งสิ้น

ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย แต่นิยายไยมิใช่ใช้ชีวิตจริงเป็นแบบ นิยายกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง ที่กลายเป็นภาพยนตร์หรือหนังชุด ซึ่งใช้คุณงามความดีในมนุษย์เป็นสาระสื่อสาร ให้สังคมหรือผู้ชมเห็นว่า มีแต่ด้านสว่างของคนเท่านั้น ที่จะฉายส่องความหวังให้เรืองรองขึ้นเห็นอนาคตที่จะไม่ถูกทำลายไปด้วยโลภ โกรธ และหลงมัวเมาในกามวัตถุ

Advertisement

ผู้ชมอาจชอบนิยายรัก นิยายบู๊ นิยายอาชญากรรมสืบสวนสอบสวน แม้จนนิยายวิทยาศาสตร์ จินตนาการล้ำยุคถึงนิยายฆ่าล้างผลาญ ไล่สังหารผีดิบให้ตายซ้ำซาก ตามแต่รสนิยมที่ชอบอย่างหนึ่ง ไม่ชอบอีกหลายอย่าง แต่นิยายที่ปฏิเสธได้ยากว่าผู้ชมจะไม่ชอบเหมือนกันก็คือ นิยายที่งดงามด้วยความรักของคนซึ่งทุ่มเทตัวเองเพื่อผู้อื่น นิยายลักษณะนี้ เมื่อกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวมีชีวิต ก็ยิ่งเป็นที่กล่าวขวัญเรียกความสนใจผู้ชมได้มาก

กู้ด ด็อกเตอร์ เวอร์ชั่นเกาหลี

เมื่อนักแสดงหนุ่ม จูวอน เล่นเป็นศัลยแพทย์ออทิสติกในหนังชุดเกาหลีเรื่อง ‘กู้ด ดอกเตอร์’ ในปี 2556 หนังชุดนั้นถูกกล่าวขวัญกันปากต่อปาก แพร่หลายไปทั่วชั่วข้ามคืนทันที ถึงหมอที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารสัมพันธ์ แต่ความทรงจำเป็นเยี่ยม อ่านตำราผ่านตาไม่ลืมเลือน ประกอบเป็นทักษะความรู้ทางการแพทย์อันพิศดาร แก้ไขอุปสรรคการรักษาไปได้เป็นเปลาะๆ แต่ไม่เข้าใจขั้นตอนการทำงาน และมรรยาทระหว่างบุคคล แม้แต่ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย

ถึงกระนั้น เป้าหมายสูงสุดในการช่วยชีวิตผู้คน ทำให้เจตนาดังกล่าวเป็นเกราะคุ้มให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้

หนังชุดนี้โด่งดังจนปี 2560 ที่ผ่านมา โทรทัศน์ เอบีซี จึงนำเรื่องไปสร้างปีแรก 18 ตอนเป็นภาคภาษาอังกฤษ ถ่ายทำที่แวนคูเวอร์ บริติช โคลัมเบีย โดยได้ เฟรดดี้ ไฮมอร์ เป็นหมอ ‘ฌอน เมอร์ฟี’ พอถัดมาอีกปี ฟูจิ ทีวีของญี่ปุ่นก็นำไปทำต่อเป็นหนังชุด 10 ตอนอีกเช่นเดียวกัน มี เคนโตะ ยะมะสะกิ เป็นหมอ ‘มินะโตะ ชินโด’ คุณหมอคนดีเรื่องนี้จึงยิ่งระบือชื่อเสียงไปไกล

เวอร์ชั่นญี่ปุ่น

ขณะที่บุคลิกของจูวอนจะค้อมร่างงอแขนซ้ายสายตามองต่ำ กระวนกระวายที่จะแก้ไขอาการผู้ป่วย ปากก็เร่ง “เร็วเข้า เร็วเข้า เร็วเข้า” แต่ไฮมอร์ที่ร่างผอมสูง จะมองเหม่อด้วยดวงตาใสแป๋ว ว่างเปล่า ริมฝีปากกับใบหน้าเหมือนจะยิ้มน้อยๆ อยู่ตลอด พูดจาโดยไม่มองหน้าผู้ใดทั้งสองคน แรกๆ หมอฉบับฝรั่งจะมองไม่ค่อยออกว่า ท่าทีดูผิดคนทั่วไปตรงไหน เพราะจะคุ้นกับภาพของออทิสติกแบบออกอาการให้ผู้ชมเข้าใจชัดเจน มาเจอแบบฝรั่งเลยต้องดูนานหน่อย

จูวอนมีผู้อุปถัมภ์แต่เด็กเป็นนักแสดงคร่ำวงการ เฉินโฮจิน เหมือนกับหมอไฮมอร์มีนักแสดงสมทบคุ้นหน้าคุ้นตา ริชาร์ด ชิฟฟ์ เป็นผู้พิทักษ์มาแต่วัยรุ่น ขณะที่จูวอนมีพระเอก จูซังอุก เป็นศัลยแพทย์ผู้บังคับบัญชารุ่นพี่ เด็ดขาด เข้มงวด และมี มุนแชวอน หมอสาวที่กำลังก้าวจากหมอผู้ช่วยเป็นหมอผ่าตัด ทั้งห้าว ปรานี และช่างเห็นอกเห็นใจ เป็นคนรัก

หมอไฮมอร์ก็ต้องทำงานกับหมอ นิโคลัส กอนซาเลซ ที่เคร่งขรึม แต่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์คนไข้ แม้จะขัดกฎระเบียบของโรงพยาบาล โดยมี แอนโธเนีย ธอมัส เป็นหมอหญิงผิวสีที่พยายามสื่อสารกับเพื่อนหมอออทิสติกให้ได้

คล้ายคลึงกับหนังหมอและคนไข้ทั่วไป ที่โครงเรื่องต้องมีการเมืองในโรงพยาบาล ระหว่างหมอกับหมอ และหมอกับฝ่ายบริหารองค์กร ผูกปมไว้ด้วย แต่ดีตรงยังรักษาน้ำใจผู้ชม และรักษาสถานภาพอันดีในวงการแพทย์ไว้ โดยไม่ว่าจะแสวงอำนาจหรือความก้าวหน้าส่วนตนกันขนาดไหน แต่ในที่สุด ต่างก็นึกถึงผู้ป่วยและจรรยาวิชาชีพของผู้ประกอบโรคศิลปะเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นฉบับเกาหลีหรืออเมริกันก็ตาม

ต่างกันเพียงรายละเอียดการฟาดฟันช่วงชิงความก้าวหน้าของฉบับตะวันออก ที่มีรสชาติเผ็ดร้อนของกิมจิที่ฉูดฉาด แต่การเชือดเฉือนของฝรั่งจะหนักแน่นเหมือนสันในเนื้อย่างชิ้นโต เป็นความต่างเพียงเล็กน้อยของวิถีการแสดงทั่วไปของตะวันออก ที่กำลังกระเถิบความแนบเนียนให้เข้าใกล้ตะวันตกหรือที่เรียกว่าสากล เข้าทุกที เหมือนละครเวทีที่แสดงให้เกินไว้นิดๆ เพื่อผู้ชมที่อยู่ไกลมองออกว่า ขณะนี้ตัวละครอยู่ในอารมณ์ไหน

นอกจากผู้ชมจะเห็นตัวละครหลากเชื้อหลายพันธุ์ในรัฐทางใต้ของอเมริกาแล้ว ปัญหาการรักษาพยาบาลยังชวนให้ตื่นเต้น เช่นเมื่อหมอไฮมอร์ต้องไปต่างเมืองเพื่อรับตับมาเปลี่ยนให้ผู้ป่วย ในเวลาที่กระชั้น ระหว่างนั้นพบว่าตับที่รับมามีปัญหา ต้องกั้นรถให้หยุดรอ ผ่าตัดตับทำความสะอาดกันบนกระโปรงหลังรถตำรวจกลางทางด่วน หรือการผ่าตัดมะเร็งตรงกระพุ้งแก้มที่มีเรื่องแทรกซ้อน ล้วนเปิดหูเปิดตาให้ระทึก

แต่ท้ายสุด ชายชราผิวสีที่รอตับกลับหมดโอกาสเปลี่ยน เพราะแชมเปญแก้วเดียวที่ลูกสาวยื่นให้ในวันฉลองรับปริญญา เป็นเหตุให้ต้องถกเถียงกันขนาดหนักระหว่างหมอเจ้าของไข้กับคณะกรรมการโรงพยาบาล เรื่องกฎกติกากับชีวิตคนไข้คนหนึ่ง และผู้รอรับบริจาคอวัยวะคนอื่นๆ

“วันนี้เราช่วยชีวิตคนได้อีกคนแล้ว” หมอไฮมอร์พูด หลังจากส่งมอบตับให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอื่นซึ่งมารับไป “เพียงแต่ไม่ใช่ชัค(ที่ทำผิดกฎ)เท่านั้น”

 

อารักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image