ตู้หนังสือ : ทำไมขงจื๊อครองใจคนจำนวนมากได้ยาวนานนับพันปี

ขงจื๊อสอนอะไร ทำไมจึงครองใจชาวจีนจำนวนมากมาได้ยาวนานนับพันปี ไม่อยากรู้หรือ

หากคนไทยซึ่งแวดล้อมด้วยชาวจีนไม่น้อยในสังคม ไม่สนใจ ลูกจีนซึ่งเกิดเมืองไทยเป็นคนไทยจะสนใจอยากรู้ไหม อย่างน้อยมีอะไรใกล้เคียงคำสอนทางพระพุทธศาสนาหรือเป่า ถึงจับใจคนได้

หลุนอี่ว์ : ขงจื่อสนทนา หนึ่งในหนังสือสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งบนเส้นทางอารยธรรมจีน แปลและเขียนบทนำโดย สุวรรณา สถาอานันท์

​หลุนอี่ว์หรือ “ปกิณกะคดี” เล่มนี้ เป็นงานรวบรวมบทสนทนาของขงจื๊อกับบุคคลนานา ไม่ว่าศิษย์ ขุนนาง เจ้าเมือง คนหนีสังคม กระทั่งคนบ้า ซึ่งบรรดาศิษย์ได้จดจำบันทึกไว้ จนกลายเป็นคัมภีร์หลักของสำนักปรัชญาขงจื๊อ ที่คนจีนศรัทธาสืบต่อความเชื่ออย่างแนบแน่นมายาวนาน

Advertisement

​ลองฟังขงจื๊อพูดเรื่องปฏิบัติตัว “ลงมือทำก่อนพูด จากนั้นค่อยพูดตามที่ได้ทำไปแล้ว” สองพันปีแล้วยังใช้ได้

​”ไม่กลัวจะไม่มีตำแหน่ง แต่กลัวจะไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ไม่กลัวจะไม่เป็นที่รู้จัก แต่พยายามประพฤติตัวให้มีคุณค่าควรแก่การรู้จัก” อกาลิโกจริงๆไหม ฟังแล้วได้แต่ถอนหายใจเฮือกๆ

​”เห็นคนมีปัญญา พึงคิดให้เทียบเคียงได้ เห็นคนไร้ปัญญา พึงหันมองตัวเอง” โววววว…..

Advertisement

​ขงจื๊อพูดเรื่องการศึกษา “ความรู้คืออะไร เมื่อรู้สิ่งใดก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่รู้สิ่งใดก็บอกว่าไม่รู้ นี่คือความรู้”

​”เรียนรู้โดยไม่คิดจะสูญเปล่า คิดโดยไม่เรียนรู้จะเป็นอันตราย” ยังมี “สมัยก่อน เรียนรู้เพื่อยกระดับความรู้และศีลธรรมของตน สมัยนี้เรียนรู้เพื่อประดับตนให้คนอื่นดู”

​ขงจื๊อพูดเรื่องการเมืองการปกครอง “ผู้ปกครองโดยคุณธรรมเปรียบได้กับดาวเหนือ อยู่กับที่ มีหมู่ดาวอื่นๆมานอบน้อม”

​”การปกครองคือการทำให้เที่ยง หากใช้ความเที่ยงนำประชาชน ใครจะกล้าไม่เที่ยง”

​”เหตุใดการปกครองจึงต้องใช้การประหารคนชั่วด้วยเล่า หากผู้นำต้องการสิ่งที่ดี ประชาราษฎรก็จะดีเอง คุณธรรมของวิญญูชนเหมือนลม คุณธรรมของคนชั่วเหมือนยอดหญ้า สายลมอยู่บนยอดหญ้า ยอดหญ้าย่อมลู่ตามลม”
​ฯลฯ

​หนังสือประเภทนี้จัดอยู่ในจำพวก คนต้องอ่านไม่ได้อ่าน ไม่ได้คิดจะอ่าน ไม่อยากอ่าน และไม่เห็นประโยชน์ที่จะอ่าน ว่าไหม

พิมพ์ใหม่ รูปเล่มหนาหน้าตาสวยน่าหยิบจับเชียว

​๐ ช่วงอุ่นเครื่องในยุคล่าอาณานิคม หนังสือที่ไม่ใช่แค่ต้องอ่าน แต่ควรต้องใช้เรียนตั้งแต่ระดับมัธยมเลยด้วย เพื่อจะเข้าใจและรู้จักตัวเองกับสถานการณ์ที่แท้ในประวัติศาสตร์จริงๆ ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม ของ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ซึ่่งมูลนิธิโตโยตากับมูลนิธิโครงการตำรา พิมพ์ครั้งที่ 2 แล้ว มีคำนำของ เดวิด เค.วัยอาจ อ่านเปิดสมองก่อนด้วย

​รวมถึงคำนำของอาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับอาจารย์ กัณฐิกา ศรีอุดม ว่าด้วยการค้าเสรีกับระเบียบใหม่ในโลกเก่า ให้เห็นภาพการเจรจาครั้งสำคัญของราชสำนักไทยครั้งนี้อย่างเข้าใจยิ่งขึ้น

เป็นหนังสือปกแข็งงดงามสองเล่ม อ่านชัดเจนยิ่งกว่าดูหนังเสียอีก เพราะผู้อยู่ในเหตุการณ์เขียนเล่าอย่างละเอียด จนเหมือนรู้จักคนไทยสมัยนั้นเลย รู้วิถีประพฤติปฏิบัติต่อแขกแปลกหน้า และรู้ปฏิสัมพันธ์อย่างอารยชน รู้เห็นการขับเคี่ยวกันด้วยความคิดสติปัญญาอย่างเข้มข้น ไม่อยากหาอ่านให้เห็นตัวเองหรือ ว่าสงครามบนโต๊ะเจรจาก็สนุกได้ด้วยการใช้ความคิดไม่ยิ่งหย่อนกว่าการใช้หอกดาบในสงครามกับพม่าแต่อย่างใด

​ทำไมถึงไม่ให้เด็กเรียน และให้วิเคราะห์วิจารณ์กันให้ครูฟัง เพื่อครูจะได้ให้แนวทางพิจารณาและความรู้เพิ่มเติมได้อีกหลากหลาย


​๐ เพิ่งจากไปไม่กี่วันนี้เอง ปู่หม่อนล้านนา หนังสือ ๑๐๐ ปีศาสตราจารย์ ประเสริฐ ณ นคร พร้อม มังรายศาสตร์ ที่อาจารย์แปลไทยให้ฟัง หนังสือปกแข็ง 500 หน้าที่ รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน ค้นคว้าและเรียบเรียงมาให้อ่าน เริ่มตั้งแต่ประวัติ จนถึงการทำงานสำคัญหลายชิ้น โคลงนิราศหริภุญไชย โคลงมังทรารบเชียงใหม่ อ่านหนังสือเซเดส์ที่คอร์เนล คนไทยคนแรกที่จบปริญญาเอกสถิติ อยู่ในวงการประวัติศาสตร์ กับผลงานด้านภาษา จารึก และประวัติศาสตร์ เป็นครู

ครูซึ่งไม่คิดหนีไปรับเงินเดือนสูงๆ แต่สอนหนังสือเพื่อใช้หนี้ตาสีตาสามาจนช่วงสุดท้ายของชีวิต

อ่านเรื่องของครูชาวเหนือที่รู้ภาษาเหนือและอ่านจารึกแก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องภาษาบนศิลาจารึกมามากมาย

ฮาเบอร์มาสกับสังคมแบบหลังฆราวาส น่าสนใจว่าสังคมหลังฆราวาส(Post-secular)คือสังคมแบบไหน พิพัฒน์ พสุธารชาติ เป็นบรรณาธิการให้ความรู้ เริ่มจากสุนทรพจน์ชื่อ “ความศรัทธาและความรู้” ของ เยอร์เกน ฮาเบอร์มาส เมื่อตุลาคม 2544 เดือนเดียวหลังจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2544 (9/11)

​คำปราศรัยที่กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการไม่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่ออธิบายความรู้สึกซึ่งถูกตัดขาดของหลายชีวิตในโลกอิสลาม การพัฒนาทางสังคม วัฒนธรรมของคน ที่ไม่อาจเชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆของโลก ที่กระบวนการทำให้เกิดความทันสมัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อเชื่อมรอยแยกดังกล่าว เราต้องมีการพัฒนาภาษาที่ใช้ร่วมกัน

​น่าคิดไหม หรือเข้าใจยากเกินไป ไม่ใช่ น่าใคร่ครวญทีเดียว ภาษาที่ต้องใช้และทำความเข้าใจร่วมกัน

ลองยกตัวอย่างภาษาไทยไหม ภาษาที่ต้องตีความ ตีความแล้วยังเข้าใจต่างกันอยู่อีก ทั้งๆทีใช้ภาษาเดียวกันอยู่ในสังคมเดียวกัน อย่าว่าแต่นี่เป็นเรื่องของคนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมที่ต้องทำความเข้าใจกัน

น่าทำความเข้าใจ เพื่อลองพยายามสื่อสารกันใหม่ดู


​๐ กลับไปหารากเหง้าอีกเรื่องดีไหม สมุดภาพไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์พญาลิไทย ต้นแบบความคิดความเชื่อของพุทธศาสนิกชนไทยมายาวนาน แต่ไม่นานเท่าความคิดขงจื๊อ เพราะเดี๋ยวนี้ บาปบุญคุณโทษกลายเป็นเรื่องไกลตัวผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งนรกสวรรค์แทบไม่ได้รับความเชื่อถือ

​ลองอ่านดูอีกทีดีไหม เพื่อเข้าใจว่า สวรรค์นรกและวิธีคิดเรื่องบาปบุญคุณโทษซึ่งลงหลักมาแต่ก่อนนั้น มีเจตนาอย่างไร เป็นสมมติสัญลักษณ์แบบไหน หรือเป็นการกล่อมเกลาความคิดลักษณะใด

​เรื่องภูมิทั้ง 3 อันเป็นที่อยู่ของสัตว์โลกที่เป็นรากฐานความเชื่อดั้งเดิมนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร สมุดภาพเล่มโตเล่มนี้ให้รายละเอียดชัดเจน

​นรกสวรรค์ที่เห็นจากเส้นสายภาพประกอบจากจินตนาการผู้เขียนนั้น ยังสามารถน้อมนำให้พุทธศาสนิกที่เกิดมาตามพ่อแม่ หรือผู้ปวารณาตัวเป็นพุทธศาสนิก ศรัทธาเชื่อถือได้จากการอธิบายอย่างไร หนังสือเล่มนี้บอก แต่เราสามารถอธิบายให้ตัวเองฟังได้ไหม

อย่างนี้ถึงอ่านสนุก.

—————————————————

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image