‘ทอม (toms)’ ก็แค่คนธรรมดา

นี่เป็นนิทรรศการที่ ‘ทอมบอย’ หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ทอม’ จำนวน 65 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 15-33 ปี ยินดีที่จะมาเป็นแบบ เพื่อแสดงตัวตนของพวกเขา ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย Tomboy Bangkok ซึ่งจะจัดแสดงที่แกลเลอรี่ของร้าน ไวท์ไลน์ (Whiteline) สีลมซอย 8

นิทรรศการที่ดีเร็ค บราวน์ ช่างภาพและเจ้าของสตูดิโอซอย 6 (Bangkok’s Studio Soi Six) บอกว่าเป็นการบ่งบอกรูปลักษณ์และภาพตัวตนของทอมกับการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา ซึ่งจะแตกต่างไปจากภาพที่มักดูเกินจริงตามสื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เราพบเห็นกัน โดยจะเปิดให้ได้เข้าชมกันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในวันที่ 21, 22 และ 28 มิถุนายน ตั้งแต่เวลา 19.00-22.30 น.

“ผมมักหลงใหลในหัวข้อที่ไม่อยู่ในความสนใจของสื่อ เหล่าศิลปิน และหมู่ผู้สร้างสรรค์” ดีเร็คบอก

ทั้งยังว่า “แม้เราจะเจอทอมบอยได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่พวกเขาก็ยังถือเป็นคนกลุ่มน้อยและชายขอบในสื่ออยู่ดี เพราะฉะนั้นการลงลึกในเรื่องนี้จึงมีความหมายกับผมอย่างมาก มันทำให้ผมสามารถสัมผัสถึงความหลากหลายและความเป็นตัวตนที่มากไปกว่าคตินิยมหรือทัศนคติของสังคมทั่วไป และผมได้แบ่งปันสิ่งนี้กับกลุ่มผู้ชมที่กว้างขึ้น”

Advertisement

ดีเร็คถ่ายทอดเอกลักษณ์ภายใต้ตัวตนของทอมผ่านภาพถ่ายของเขาซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแสดงออกที่มีความหลากหลาย แม้ว่าอาสาสมัครแต่ละจะคนไว้ผมสั้นในระดับและสไตล์ต่างๆ ในรูปแบบของทอมที่พบเห็นกันทั่วไป แต่แนวทางของพวกเขาในการเข้าถึงความหมายของการเป็นทอมนั้นกลับต่างกันอย่างมาก

บางคนแสดงออกผ่านแฟชั่น องค์ประกอบ และทรงผม ในขณะที่บางคนมีภาพลักษณ์ที่เป็นผู้หญิงมากกว่า มีการใส่ต่างหูห้อยใหญ่ๆ ที่พบได้ทั่วไป หลายคนไม่แต่งหน้า บ้างก็ยังใช้เครื่องสำอาง แต่อาจจะใช้ไม่เหมือนกับสไตล์ของผู้หญิงไทยทั่วไป

ในหมู่ชนชาติตะวันตกที่พูดภาษาอังกฤษ คำว่า “ทอมบอย” มักหมายถึง ผู้หญิงซึ่งมักจะเป็นวัยรุ่นหรือเด็กที่นำเสนอความเป็นหญิงตามประเพณีนิยมออกมาน้อย และเลือกที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีลักษณะความเป็นชาย เช่น การเล่นกีฬา และใช้เวลาในธรรมชาติมากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกอย่างเจาะจงถึงรสนิยมทางเพศ โดยทอมบอยหลายคนยังชอบพอในเพศตรงข้ามอีกด้วย ส่วนของไทย มักมีนัยถึงผู้หญิงที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ และแสดงออกถึงความเป็นชาย โดยพวกเขามักจะแสดงถึงความเป็นผู้นำและความสามารถในการจัดการสิ่งต่างๆ ให้คู่ของตน คล้ายกับอุดมคติของความเป็นชายไทย

อย่างไรก็ตามในนิทรรศการ Tomboy Bangkok นั้นจะแสดงให้เห็นว่า ‘ทอม’ ไม่ได้มีความหมายที่ตายตัว และหลายครั้งคำจำกัดความเหล่านี้ก็ใช้อธิบายในสิ่งที่พวกเขาเป็นจริงๆ ไม่ได้

ในนิทรรศการนี้ ภาพที่ดีเร็คถ่ายมาจะถูกจับคู่กับข้อความที่คนเป็นแบบตั้งใจถ่ายทอด เพื่อบอกประสบการณ์ มุมมอง รวมถึงเรื่องที่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับคำตัดสินว่าพวกเขาไม่ปกติ และความไม่เข้าใจจากครอบครัว รวมถึงสังคมในวงกว้าง

ดีเร็คยังบอกด้วยว่าสิ่งที่เขาได้รับรู้โดยตรงจากบุคคลเหล่านี้ คือความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็น ยอมรับว่านี่เป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ ยอมรับในความเปิดกว้างทางเพศ

“ผมมุ่งมั่นในการถ่ายภาพบุคคลที่ให้ความรู้สึกว่าอาสาสมัครหรือตัวแบบได้ลดหน้ากากของพวกเขาลง และเผยช่วงเวลาที่มีเพียงตัวตนของพวกเขาเท่านั้น” ดีเร็คกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image