3 เล่มที่อยากชวน #ประยุทธ์อ่าน ก่อนเป็นนายกฯ (อีกรอบ)

ไม่ต้องเป็นเซียนการเมือง อ่านเกมขาด เป็นแค่เราๆ ท่านๆ ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปนี่ล่ะ ที่ดูยังไงก็รู้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้น

เพราะนอกจากการวางสารพัดกติกาที่ขนาด สมศักดิ์ เทพสุทิน จากพรรคพลังประชารัฐ ยังเอ่ยเองเลยว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา” แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะคะแนนเสียง 250 เสียงจากสว.ที่คสช. เลือกมาเองกับมือ ซึ่งสามารถการันตีการเป็นรัฐบาลได้ในระดับหนึ่ง

ไหนๆ พลเอกประยุทธ์ก็จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งแล้ว เห็นชอบอ่านหนังสือ เมื่อาทิตย์ก่อนก็แนะนำให้คนไทยอ่าน ‘Animal Farm’ จนฮือฮากันทั้งประเทศ เลยอยากชวนนายกฯ คนใหม่มาอ่านเล่มอื่นๆ บ้าง เพราะท่าทางฝ่ายค้าน 7 พรรค จะทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีต้องเตรียมลับสมองพร้อมสู้อย่างหนักแน่ๆ

วันที่เลือกนายกฯ ยังนึกว่าซักฟอก นี่ถ้าอภิปรายไม่ไว้วางใจจริงๆ ละก็ คงต้องเตรียม “ความรู้” ให้แน่นๆ

Advertisement

เล่มแรกที่ขอเสนอเป็นของ สนพ.มติชน นี่เอง ออกมาสักพักแล้ว แต่ยังไม่ตกยุคอย่าง “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” โดย ภาณุ ตรัยเวช

ช่วงเวลาสาธารณรัฐไวมาร์ คือช่วงเวลาที่เยอรมันปกครองในระบอบประชาธิปไตย หลังจากระบอบกษัตริย์สิ้นสุดลงในเหตุการณ์ปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 (November Revolution) จนถึงช่วงที่ อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ ก้าวสู่อำนาจในปี ค.ศ. 1933 เท่ากับว่าสาธารณรัฐไวมาร์มีอายุแค่ 14 ปีเท่านั้น แต่เป็น 14 ปีที่น่าสนใจมากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์เยอรมัน เพราะแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ศิลปวัฒนธรรมวิทยาการต่างๆ เฟื่องฟูมาก แต่สำหรับการเมืองแล้ว นั้นคือช่วงเวลาแห่งโศกนาฏกรรม

Advertisement

อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผู้เขียนคำนำเสนอหนังสือเล่มนี้ ได้กล่าวไว้ว่าสาธารณรัฐไวมาร์ถูกหล่อหลอมด้วยความขัดแย้งสองขั้วในแทบทุกมิติ ระหว่างความต้องการที่จะเป็นสมัยใหม่ กับความหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง ระหว่างสภาวะวิกฤติกับสภาวะที่มั่นคง ระหว่างฝ่ายซ้ายจัดกับขวาจัด ระหว่างฝ่ายก้าวหน้าสร้างสรรค์และอนุรักษ์นิยมล้าหลัง ท้ายที่สุดแล้วสาธารณรัฐไวมาร์จึงกลายเป็นห้องทดลอง และในไทยเอง การสิ้นสุดลงของไวมาร์ก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกล่อมเกลาให้คนไทยรังเกียจการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอย่างน่าประหลาด นักวิชาการและผู้มีการศึกษาไม่น้อยป่าวร้องว่าฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้ง และพาเยอรมนีไปสู่ความล่มสลาย ซึ่งนั่นเป็นเรื่องน่าขำ เพราะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ฮิตเลอร์ การเลือกตั้ง และประชาธิปไตย ห่างไกลกันราวกับฟ้าและเหว ฮิตเลอร์ไม่เคยชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ในเวลาที่การเลือกตั้งได้มาตรฐานในระบอบประชาธิปไตย ถ้าอยากรู้ว่าผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตามมาตรฐาน สามารถทำให้อู่อารยธรรมของยุโรปให้กลายเป็นประเทศก่อสงครามในประวัติศาสตร์ได้อย่างไร ลองอ่านดู

เล่มสองไปที่ สนพ.ฟ้าเดียวกัน บ้าง “ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ

เล่มนี้เป็นรวมบทความที่ว่าด้วยประชาธิปไตย ความรุนแรง และความยุติธรรม ที่ส่วนใหญ่เขียนขึ้นหลังปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมการเมืองไทยเผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าหลายชิ้นจะเขียนไว้หลายปีแล้ว แต่ผู้เขียนก็มองว่ายังร่วมสมัยอยู่ เพราะการเมืองไทยยังคงย่ำอยู่กับที่ ทุกครั้งที่เราเผชิญปัญหาความขัดแย้ง เรามักใช้วิธีการเดิมๆ ที่ผิดพลาดมาแก้ไข เราก็เลยวนกลับมายืนอยู่จุดเดิมเสมอ

บทความแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ประชาธิปไตยและความเสมอภาค, ความรุนแรงและความยุติธรรม และปริทัศน์หนังสือและหนังว่าด้วยประชาธิปไตยและความรุนแรง ทุกชิ้นน่าสนใจมาก แต่มีอยู่บทความหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในช่วงนี้ คือ “ประชาธิปไตยของฉัน ของท่าน และของเธอ”

“ประชาธิปไตยของฉัน ของท่าน และของเธอ” ชวนมาค้นหาคำตอบและวิธีคิดของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย ซึ่งมีแต่สังคมประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะอนุญาตให้พลเมืองเลือกที่จะรักหรือเกลียดประชาธิปไตยได้ เป็นประชาธิปไตยของ “ฉัน”หรือ “เธอ” ที่อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่ก็มีพื้นที่ให้กันและกันในการคิดฝันและแสดงออก

ส่วนในสังคมเผด็จการนั้น การจะรักหรือเกลียดอะไร ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่คนธรรมดาจะเลือกได้ เพราะท่านผู้นำเป็นคนกำหนด เข้าใจได้ว่าทำไมคนถึงรักประชาธิปไตยน้อยลงเมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของรัฐบาลและนักการเมืองที่มีอยู่ แต่รัฐบาลไม่ใช่ “ระบอบ” ไม่มีเหตุผลที่จะสนับสนุนระบอบรัฐประหาร รัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลจากการแต่งตั้ง มีเพียงหนทางเดียว คือทำให้สังคมการเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น ถึงจะเป็นหนทางสู่เสถียรภาพทางการเมือง และทางออกจากวิกฤตประชาธิปไตย บทความนี้มีตัวอย่างให้เห็นเยอะมาก ทั้งไทยทั้งเทศ ทั้งปัจจุบันและประวติศาสตร์ ว่าการเลือกและการไม่เลือกนำไปสู่อะไร

อ.ประจักษ์เล่าถึงบทความของ อรุณธาตี รอย นักเขียนชาวอินเดียชื่อดัง ที่เขียนบทความชื่อ “What Have We Done to Democracy?” ที่ตั้งข้อสังเกตุถึงคุณภาพที่เสื่อมถอยของประชาธิปไตยในหลายแห่งทั่วโลก แต่ที่สุดแล้วประเด็นสำคัญที่เธอต้องการจะบอกจริงๆ คือถึงมันจะถอยลงก็ไม่ใช่เหตุที่เราจะหยุดเรียกร้อง หรือไปบอกว่ากล่าวประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการว่า “อย่ามีเลยประชาธิปไตย มันไม่ดีสำหรับพวกคุณ ฉันเคยลองมาแล้ว” เพราะความฝันของคนจำนวนมากที่หวังอยากเห็นประชาธิปไตยที่ดีกว่านั้นคือเรื่องงดงาม และเป็นตัวขับเคลื่อนให้ความฝันไปบรรจบความจริง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

จริงๆ มีอีกบทความที่น่าอ่านไม่แพ้กันในช่วงนี้ คือ “การสืบทอดอำนาจ: ว่าด้วยวงศาคนาญาติ ทายาทรัฐประหาร และการเลือกตั้ง” ลองไปหาอ่านกันดู

เล่มสุดท้ายคือผลงานของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อย่าง “เผด็จการวิทยา” ที่เรียบเรียงมาจากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์มติชน ที่ผ่านมาเราแทบไม่เคยมีหนังสือเล่มใด อธิบายถึงระบบการทำงานของเผด็จการ คือไม่มีการสร้างความเข้าใจว่าเผด็จการทำงานยังไง ทั้งที่จริงๆแล้ว ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่หากเผด็จการจะรักษาอำนาจไว้ด้วยการทำอะไรตามอำเภอใจ ทำอะไรอย่างไม่มีตรรกะ หรือรักษาอำนาจด้วยความกลัวเพียงอย่างเดียว มีกระบวนการบางอย่างที่ทำให้เผด็จการสามารถปรับตัวเพื่อรักษาอำนาจของตนและอยู่ต่อได้

เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา อ.พิชญ์เขียนในคอลัมน์ในนสพ.มติชนรายวันว่า “ในการศึกษาแบบเผด็จการวิทยาสมัยนี้ เขาไม่ได้เชื่อตามที่เผด็จการพูดง่ายๆ แล้วครับ ว่าการเปิดให้มีการเลือกตั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนผ่าน และการเปลี่ยนผ่านหมายถึง การลงจากอำนาจ คำถามใหม่ที่เขาตั้งกันก็คือ การเลือกตั้งที่เผด็จการเปิดให้มีขึ้นนั้นทำหน้าที่อะไรต่างหาก ซึ่งเรื่องนี้ผมก็เคยพูดไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน ในสมัยที่เรื่องนี้ยังไม่ค่อยชัดเจนในบ้านเรา เมื่อดูประเด็นในการศึกษาเผด็จการวิทยาร่วมสมัยมากขึ้น สิ่งที่พบก็คือ เผด็จการโดยเฉพาะเผด็จการทหารที่ขึ้นสู่อำนาจโดยการทำรัฐประหารนั้น ทำไมต้องเปิดให้มีการเลือกตั้ง

คำตอบที่สำคัญที่บ้านเราลืมไปแล้วเรื่องหนึ่งก็คือ ในโลกทัศน์และชีวทัศน์ของคณะรัฐประหาร หรือ กลุ่มทหารที่ยึดอำนาจประชาชนมาอยู่ในมือนั้น เขาไม่ได้กลัวว่าประชาชนจะลุกฮือตลอดเวลาหรอกครับ อย่ามโนให้มาก อย่าสำคัญตนผิดคิดว่าทหารเขากลัวเรา ทหารเขาไม่กล้าหรอก

เรื่องใหญ่ที่เขากลัวจริงๆ ที่มักจะมีผลต่อการตัดสินใจในการอยู่ในอำนาจ และในการที่จะเปิดให้มีการเลือกตั้งหรือไม่นั้น อยู่ที่ว่าเขาจะอยู่ต่อในอำนาจอย่างไร โดยปราศจากการทำรัฐประหารซ้อนเสียมากกว่า”

นั่นล่ะ สาเหตุที่ควรอ่าน “เผด็จการวิทยา”

เป็น 3 เล่มที่อยากชวน #ประยุทธ์อ่าน ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

………………

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image