5 ศิลปินสตรี ที่สยามต้องไม่ลืม

โลกดิจิตัลไม่ได้สำคัญที่ตัวดิจิตัล แต่ผู้อยู่ในโลกดิจิตัลจะใช้ดิจิตัลกำหนดวิถีชีวิตตัวเองอย่างไรต่างหาก ที่สำคัญ

หากใช้ดิจิตัลเดินหน้าไปเรื่อยๆโดยไม่มองหลัง ผลที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเพราะดิจิตัล นี่น่าเป็นเหตุผลที่เห็นกันได้ชัดเจน

นิทรรศการแสงสีเสียงล้ำสมัยของดิจิตัลโดย โพธิเธียเตอร์ ในโบสก์วัดสุทธิวราราม เป็นตัวอย่างอันเลิศของยุค ซึ่งใช้เทคโนโลยีวิทยาการเชื่อมอดีตให้ยังอยู่ร่วมเวลากับปัจจุบัน

แต่การใช้เทคโนโลยีวิทยาการ ก็ยังมิใช่เป็นสิ่งเดียวที่จะบอกความร่วมสมัยของเครื่องมือและผู้คน

Advertisement

ความทรงจำต่างหาก

หากปราศจากความทรงจำ ไม่ว่าอนาล็อกหรือดิจิตัล ก็เป็นเพียงเปลือกนอกที่ฉีดยารักษาไว้ห่อหุ้มเนื้อในซึ่งผุเปื่อยว่างเปล่าไปแล้วเท่านั้น

ความทรงจำจึงเหมือนเนื้อในที่ยังแข็งแรงสดชื่น ซึ่งได้ดิจิตัลเป็นเปลือกปกปักความร้อนหนาวและแมลง ให้เติบโตแผ่ร่มเงาเป็นคุณกับสรรพชีวิตที่พึ่งพิงอาศัยไปได้ยาวนาน

Advertisement

กล้ามเนื้อมัดหนึ่งในแก่นไม้วันนี้ก็คือ สุนทรียภาพของสังคมที่ได้ศิลปินรังสรรค์ขึ้นประโลมความคิดความรู้สึกผู้คน

ที่กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป นำมาแสดงคุณค่าของกาลเวลาที่ผ่านไป ซึ่งยังดำรงอยู่ได้ถึงวันนี้

ด้วย นิทรรศการ 5​ ศิลปินสตรีกับบทบาทการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ของไทย

ในฐานะศิลปินสตรียุคแรกๆที่แสดงบทบาทพัฒนาวงการศิลปให้หยั่งรากมาจนปัจจุบัน โดยมีศิลปิน ทายาท และผู้ถือครองงานศิลปของบรรดาศิลปินทั้ง 5 ร่วมมือกันนำผลงานมาแสดง

นิทรรศซึ่งน่าชมอย่างไม่น่าพลาดนี้ เปิดแสดงแล้วทุกวันจนถึง 30 มิถุนายนนี้ ที่หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กทม. ทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 09.00 ถึง 16.00 น. หยุดจันทร์กับอังคาร

และศิลปินสตรีระบือนามทั่ววงการและต่อผู้รักงานศิลปทั้ง 5 ก็คือ ม.จ.พิไลยเลขา ดิศกุล, ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ๋ บริพัตร, มีเซียม ยิบอินซอย, คุณไข่มุกข์ ชูโต, ลาวัณย์ อุปอินทร์

ม.จ.พิไลยเลขา พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสนพระทัยในจิตรกรรมสมัยใหม่แบบตะวันตก ทรงเขียนภาพหุ่นนิ่งและทิวทัศน์ ซึ่งสะท้อนพรสวรรค์และพระปรีชาในงานอดิเรกที่ทรงรักนี้เป็นอย่างดี

หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล

ทั้งนี้ ทรงมีครูศิลปเป็นสถาปนิกและจิตรกรในราชสำนัก ทั้งยังมีปราชญ์แห่งยุคคอยแนะนำ และแลกเปลี่ยนมุมมองทางศิลปอยู่เสมอคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งรัตนโกสินทร์ กับอาจารย์ศิลป พีระศรี นายช่างใหญ่ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

และทรงเป็นหนึ่งในสองสตรีที่เป็นกรรมการตัดสิน งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรก ปี 2492 ด้วย

หลังสิ้นชีพิตักษัยด้วยพระชันษา 88 ปี(2528) พระญาติได้มอบงานของท่านหญิงแก่พิพิธภัณฑสถาน เพื่อเก็บและแสดงตามความเหมาะสม ในโอกาสดีเช่นนี้ จึงน่าหาโอกาสไปชมงานของศิลปินสตรีร่วมสมัยแห่งสยามพระองค์นี้อย่างยิ่ง

ม.จ.มารศีสุขุมพันธุ์ พระธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ทรงมีความสามารถหลายแขนง และทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในยุโรป จากนักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลป ทรงเริ่มเขียนภาพด้วยพระองค์เอง ด้วยการศึกษางานของศิลปินมีชื่อ ก่อนจะเข้าร่วมกลุ่มศิลปินประเทศฝรั่งเศสเพื่อแสดงนิทรรศการ

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

งานเขียนในพระองค์มีรูปแบบโดดเด่นเป็นเฉพาะ เนื่องจากแรงบันดาลใจและอิทธิพลที่ได้รับโดยตรงจากงานสมัยใหม่ในยุโรป งานเหล่านั้นแสดงอารมณ์ความรู้สึก ด้วยรูปแบบเหนือจินตนาการสะท้อนปรัชญาชีวิต ตามแนวทางเซอเรียลลิสม์ แฟนทาสติค อาร์ท จึงเป็นงานที่ไม่ว่าศิลปินด้วยกันหรือผู้สนใจควรชมอย่างยิ่ง ไม่น่าพลาดอีกรายการหนึ่ง

ผลงาน La menace โดยหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537

ภายหลังสิ้นชีพิตักษัย พระญาติและพระสหายใกล้ชิด ได้ก่อตั้งมูลนิธิ ม.จ.หญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร เพื่อส่งเสริมการศึกษาศิลปในประเทศ และในงานนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจึงยืมงานส่วนหนึ่งมาแสดงให้ชม

มีเซียม แปรทักษะจากนักสะสมงานศิลปยุคแรกๆ มาเป็นศิลปินทั้งด้านจิตรกรรมและประติมากรรม เมื่อวัยล่วง 42 ปี ด้วยการสร้างความประหลาดใจแก่วงการศิลปและผู้คน จากการคว้ารางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติถึง 3 ปีซ้อน (2492 ถึง 2494)  จากงานอิมเพรสชั่นนิสม์ จนได้รับยกย่องขึ้นเป็น “ศิลปินชั้นเยี่ยม” คนแรกของไทย

นอกจากนี้ยังสร้างงานประติมากรรมรูปเด็กและผู้หญิงด้วยท่วงทีเคลื่อนไหวจากทำนองดนตรีที่ชื่นชอบเป็นเฉพาะไว้อีกด้วย

มีเซียม ยิบอินซอย

มีเซียมเป็นผู้อุปถัมภ์สำคัญของวงการศิลปในยุคที่การซื้อขายงานศิลปยังไม่แพร่หลาย ด้วยการสะสมงานที่ทรงคุณค่า ซึ่งภายหลังทายาทได้มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยืมมาแสดงถาวร และแสดงในงานนิทรรศการสำคัญคราวนี้

ผลงาน ‘วิถีแห่งความฝัน’ โดยมีเซียม ยิบอินซอย
พ.ศ. 2492

คุณ(หญิง)ไข่มุกข์ ประติมากรหญิงคนแรกของไทย ศิษย์โดยตรงของอาจารย์ศิลป พีระศรี สร้างชื่อด้วยการรับปั้นงานอิสระ จนถวายตัวต่อสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ปฏิบัติงานประติมากรรมถวายราชสำนัก มีงานสำคัญปรากฏมากมาย โดยเฉพาะออกแบบและปั้นหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ พระราชานุสาวรีย์ พระบรมรูปและพระพุทธรูป ซึ่งประดิษฐานในสถานที่สำคัญต่างๆในประเทศ

งานทั้งหลายเหล่านั้น บอกความสามารถควรแก่การชมและชื่นชมด้วยกันทั้งสิ้น

ไข่มุกด์ ชูโต

ลาวัณย์ ศิลปบัณฑิตหญิงคนแรก และศิลปินแห่งชาติหญิง สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม)คนแรกของไทย ผู้รังสรรค์ภาพเหมือนบุคคลอันงดงามยิ่ง จากการถ่ายทอดบุคลิก ลักษณะเฉพาะ และอารมณ์ความรู้สึกที่ศิลปินออกแบบออกมาได้อย่างเปี่ยมจิตวิญญาณ จนได้รับความไว้วางใจจากราชสำนัก ถวายงานเขียนแก่พระบรมวงศานุวงศ์มาอย่างต่อเนื่อง

ลาวัณย์ อุปอินทร์

นอกจากนี้ ยังใช้งานศิลปเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมแนวเพื่อชีวิตอย่างแข็งขัน ในเหตุการณ์สำคัญต่างๆทางการเมือง ทั้งยังเป็นครูจิตรกรรมและครูมัณฑนศิลป์มายาวนานต่อเนื่องถึงกว่า 40 ปีก่อนเกษียญอายุ

ผลงาน ระหว่างแดนสนธยา (คุณศรีเพ็ญ จตุทศรี) โดย ลาวัณย์ อุปอินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2509

การชมภาพเหมือนของศิลปินนามกระเดื่องผู้นี้ เป็นความชื่นใจอย่างยิ่ง

ดังนั้น จึงหาเหตุผลใดมายื้อยุดไม่ได้เลย ที่จะไม่ไปชมงานนิทรรศการศิลปของ 5 ศิลปินสตรีที่แสดงในโอกาสนี้

และไม่ได้ชมเพียงหนเดียวด้วย ต้องอุ้มลูกจูงหลาน ชวนญาติสนิทมิตรสหาย ไปเสพสุนทรียรสอันศิลปินได้สร้างสรรค์ผ่านกาลเวลาอนาล็กมาจนถึงดิจิตัลในวันนี้สักหลายๆครั้ง จึงจะสมใจ

เพราะนี่เป็นสิ่งหนึ่ง ความทรงจำหนึ่ง ซึ่งงามบริสุทธิ์ แทบจะเป็นสิ่งเดียวที่ปราศจากความหยาบร้ายนานาในสังคมมาแผ้วพาน

พบกันที่หอศิลปเจ้าฟ้า กทม. (หลายๆหน)

อารักษ์

 

 

ขอบคุณภาพจาก The National Gallery of Thailand 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image