ยุคมืดจะนานเท่าไหร่ ประวัติศาสตร์ไทยไม่สว่างสักที

ประวัติศาสตร์เป็นความทรงจำจากสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้วถูกบันทึกไว้เช่นนั้นหรือ เพียงประเด็นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (เกิดขึ้นจริงไม่จริงยังต้องถกกันอีกประเด็น) กับประเด็นถูกบันทึกไว้สองประเด็นนี้ ก็สามารถถกเถียงกันได้ข้ามปีแล้ว

 

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เจ้าของหนังสือ ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไท กล่าวไว้ว่า ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ของรัฐสมัยใหม่ มากกว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ดำรงอยู่ในรัฐชาติสมัยใหม่ ที่กำเนิดตัวตนขึ้นเอง เพราะยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นจากอำนาจในการเลือกและไม่เลือก (ประวัติศาสตร์) จึงไม่ได้มีสถานะที่มีอยู่ตามธรรมชาติ

Advertisement

ถึง พ.ศ.นี้แล้ว ลองคิดไตร่ตรองดู ว่าประวัติศาสตร์ไทยที่บอกว่าคนไทยเคยอยู่แถบเทือกเขาอัลไต ทะเลสาปแคสเปียน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ใกล้คาซัคสถาน แล้วอพยพโยกย้ายลงมาเรื่อยๆ มามีอาณาจักรน่านเจ้า ก่อนจะเคลื่อนที่ลงมาอีกจนถึงแหลมทองปัจจุบัน

 

ความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ดูความเป็นสังคมหรือชุมชนที่มีวัฒนธรรมอ่อนเช่นไทยปัจจุบัน ที่รับสิ่งต่างๆ รอบด้านมาง่ายดายโดยเฉพาะวัฒนธรรมฝรั่งตะวันตกตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา นับร้อยๆ ปีย้อนไป คนไทยอพยพผ่านจีนทั้งดินแดนลงมา จะไม่ถูกกลืนไปหมดแล้วหรือ

Advertisement

 

โดยเฉพาะกลุ่มภาษาไทไตที่ยังหลงเหลือ ละแวกรัฐฉาน ไทย ลาว เวียดนามบางส่วน ผ่านจีนทั้งประเทศลงมาอย่างไรในร้อยๆ ปีเหล่านั้น ชนิดไม่เหลือความต่อเนื่องของภาษาจีนแต่ละภูมิภาคอยู่บ้าง

 

ยิ่งไม่ขวนขวายหา ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป ของอาจารย์ เดวิด เค.วัยอาจ มาอ่านเปิดสมอง ยิ่งไม่เห็นภาพเลยว่า ไทยจะยกกองเป็นคาราวานผ่านเวลานับร้อยๆ ปีจากเหนือลงใต้มาอย่างไร ตรงกันข้าม เพียงบทแรกของอาจารย์วัยอาจ ผู้อ่านก็จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ดินแดนแถบนี้มีผู้คนอยู่กันอย่างไร เกี่ยวเนื่องผูกพันกันแบบไหน และที่ภาคภูมิใจในคำไทไตกันอย่างยิ่งนั้น คำนี้หมายถึงผู้คนและชุมชนลักษณะใด มีชาติพันธุ์บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนอารยันที่ไร้เชื้ออื่นผสมหรือไร

 

น่าเสียดายที่ไม่ได้อ่าน ไม่ได้นำมาเรียนรู้ศึกษากัน

 

วันนี้ เอาแค่ อะไรคือยุคมืดหรือช่องว่างในประวัติศาสตร์สยาม กับประวัติศาสตร์ไทยเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้กับประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิในอาเซียน แค่สองเรื่องนี้จากหนังสือเล่มที่กล่าวข้างต้นนี้ ก็น่าจะเห็นกว้างไปกว่าอดีตแล้วว่า ไทยสยามคืออะไร ไทยสยามคือใคร

 

จากนั้นค่อยตามไปสำรวจยุคมืดหลังสมัยบายน พุทธเถรวาท และการเข้ามาของคนไทยกันอย่างจำเพาะต่อไป

 

ค่อยต่อด้วยเรื่องขอมในลุ่มเจ้าพระยา แล้วศึกษาร่องรอยทวารวดีในลุ่มน้ำแม่กลองกับท่าจีน ก่อนจะไปดูจารึกเขมรว่าพระเจ้าศรีนทรวรมันไม่ใช่พ่อขุนผาเมือง แล้วพินิจศิลปะอู่ทองว่าผลัดเลือดขอมเป็นเลือดไทยอย่างไร

 

สุดท้ายอ่านเรื่องสยามกับฝรั่งเศส และประวัติศาสตร์ยุคมืดของกัมพูชา ทั้งหมดนี้อาจทำให้เห็นแจ้งขึ้นในหลายๆ แง่ ว่าประวัติศาสตร์มืดอยู่อย่างไร และจะสว่างขึ้นได้แบบไหน

 

…ขณะนี้ไทยกับอาเซียนเป็นหน่วยเดียวองค์กรเดียวกันแล้ว ทั้งในฐานะภูมิภาคและการผูกพันกันในลักษณะชุมชนใหญ่ ดังนั้น การกลับไปทบทวนเรียนรู้เรื่องสถานการณ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เห็นจุดร่วมและจุดต่าง ว่าเมื่อร่วมคณะกันตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา ส่วนเหมือนและส่วนต่างเหล่านี้ ได้เปลี่ยนแปลงให้ประโยชน์แก่กันและกันได้มากขึ้นหรือลดน้อยลงอย่างไร

ดูเรื่องคนไร้รัฐในพม่า คืบหน้าหรือไม่ ระบบเศรษฐกิจที่ล้มเหลวในเวียดนาม ผ่านมาสี่ปีนี้กระเตื้องขึ้นบ้างหรือไม่ การคอร์รัปชั่นในอินโดนีเซียกับการเปลี่ยนตัวบุคคลทางการเมือง ให้ประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ ส่วนความเคลื่อนไหวในประเทศเราเองที่เปลี่ยนรูปการปกครอง จะมีรัฐบาลใหม่ขึ้นแล้ว เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์หรือไม่ และวิกฤตการณ์น้ำที่อาจรุนแรงขึ้นได้ในไม่ช้านั้น จะมีแนวทางจัดการอย่างไร อ่าน วิถีไทยในเงาอาเซียน เขียนโดย ปิยมิตร ปัญญา

 

…เรื่องของสตรีอังกฤษที่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี นักต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย และภิกษุณีในพระพุทธศาสนา ชีวิตปฏิวัติของเฟรดา เพที โดย วิคกี้ แมคเคนซี่ แปลโดย พาคินี จึงเป็นหนังสือที่แสดงให้เข้าใจสตรีซึ่งทั้งในฐานะสามัญชนและนักบวช ที่แสดงคุณธรรมอันวิเศษ ให้ทรรศนะของเราได้กว้างไกลขึ้นกว่าการติดยึดในศาสนาแบบของเรา ที่กำลังเสื่อมโทรมลงอย่างมากแล้ว

 

จากเด็กชนบทที่ศึกษาจากออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเดินทางแสวงจิตวิญญาณในอินเดีย ทำงานทุกอย่างในฐานะครู นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักสังคมสงเคราะห์ และแม่ จนเป็นภิกษุณีผิวขาวคนแรกในพุทธศาสนาทิเบต ผู้มีส่วนสำคัญในการนำพุทธศาสนาแบบทิเบตไปเผยแผ่ในตะวันตก

 

เป็นหนังสือที่น่าอ่าน ที่แม้ผ่านมาถึงยุค 5.0 แล้ว ยังอาจเรียนรู้ให้เป็นคุณได้

…ว่าด้วยเพศ ของอาจารย์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา จึงยังเป็นหนังสือที่ต้องหาอ่าน เพื่อศึกษาทำความเข้าใจกับเพศแม่ ที่ยังเป็นกำลังครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าครึ่ง (จากจำนวนประชากรหญิงที่มากขึ้นกว่าชาย)ซึ่งกำลังช่วยหมุนโลก

 

ให้เข้าใจตั้งแต่หญิงจากธรรมชาติ สู่จริยธรรมหญิงๆ ที่ชายต้องเกี่ยวข้องแต่ต้น จนถึงสุนทรียะหญิงชาย และหุ่นยนต์ที่ทำไมบ้างเป็นหญิงบ้างเป็นชาย และบ้างไม่มีเพศ ยังอ่านสนุกเปิดสมองท้าทายความคิดด้วยภาคที่ว่าเรื่องเซ็กซ์ อำนาจการจัดการในสังคมที่แพร่ไปถึงบนเตียง อันเป็นการคุกคามรากฐานสำคัญของเสรีนิยมทีเดียว นอกจากนี้แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเหมาะกับเยาวชนที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องเพศ เพียงเรื่องการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง อาจารย์ก็เปิดมุมมองอลังการถึงประเด็นผิดบาปทางจริยธรรม ว่าละเมิดบุคคลทางจินตนาการอย่างหนักหนาแบบไหน

 

และไม่เพียงเยาวชนเท่านั้น ที่สูงวัยขนาดห่มขาวเข้าวัดแต่ต้องติดคุกด้วยข้อหาล่อลวงเด็ก ก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องเพศให้กระจ่าง จะได้อบรมสั่งสอนลูกหลานมิให้ลงเอยแบบเดียวกับตัวเอง

 

รู้จักเคารพและให้เกียรติเพศแม่ เพศตรงข้าม และทิ้งความความคิดเอารัดเอาเปรียบทางเพศไปเสีย

 

 

 

 

 

All site contents copyright © by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image