วงการเพลงอีแซวอาลัยสูญเสีย “ขวัญใจ ศรีประจันต์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม เพจเฟซบุ๊ก “ขวัญจิต ศรีประจันต์” ได้โพสต์แสดงความอาลัยต่อการจากไปของ “ขวัญใจ ศรีประจันต์” ศิลปินนักร้องลูกทุ่งและศิลปินเพลงพื้นบ้านชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นน้องสาวของแม่ “ขวัญจิตร ศรีประจันต์” ศิลปินแห่งชาติ

โดยมีรายละเอียดคือ “ท่านเสียชีวิตเมื่่อวาน วันที่ 19 ส.ค.62 ช่วงบ่าย ๆ ที่บ้าน หลังจากที่นอนป่วยติดเตียงมาประมาณ 2 ปี

เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดพังม่วง ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี กำหนดรดน้ำศพและสวดพระอภิธรรมในวันนี้ 20 สิงหาคม 2562 และจะสวดไปถึงวันที่ 23 สิงหาคม แล้วจะทำการฌาปนกิจในวันรุ่งขึ้น 24 สิงหาคม 2562 สำหรับในคืนวันที่ 23 ส.ค.หลังจากสวดพระอภิธรรมเสร็จ จะมีการแสดงบนเวทีของศิลปินเพลงพื้นบ้าน รวมถึงศิลปินนักร้องลูกทุ่ง นำโดย พ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ, แม่ขวัญจิตร ศรีประจันต์, ศรเพชร ศรสุพรรณ, เสรี รุ่งสว่าง และนักร้องอื่น ๆ อีกมากมาย

งานบำเพ็ญกุศลศพ จะอยู่ในการดูแลของพ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ, แม่ขวัญจิตร ศรีประจันต์, เสรี รุ่งสว่าง และญาติพี่น้องทุกคน รวมถึงเพื่อนฝูงในวงการเพลง ขอเชิญแฟนเพลงและศิลปินนักร้อง ไปร่วมไว้อาลัยแม่ขวัญใจเป็นครั้งสุดท้าย แล้วแต่ท่านจะสะดวกในวันไหนนะครับ

Advertisement

ขวัญใจ ศรีประจันต์ ชื่อจริง จำนงค์ เสร็จกิจ เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2493 ที่บ้านเลขที่ 77 หมู่ 5 ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายอัง นางปลด เสร็จกิจ มีพี่น้อง 3 คน ขวัญจิตร ศรีประจันต์ เป็นคนโต ส่วน จำนงค์ (ขวัญใจ) และ บุญนะ เป็นฝาแฝดกัน

เข้าสู่วงการแสดงตั้งแต่เป็นสาวแรกรุ่น โดยทัง 3 พี่น้อง ได้ไปเป็นลูกศิษย์ของพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้าน คือ พ่อไสว วงษ์งาม และ แม่บัวผัน จันศรี ฝึกร้อง-รำ เพลงพื้นบ้านต่าง ๆ จนแตกฉานและเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นเพลงฉ่อย อีแซว ลำตัด และอื่น ๆ

Advertisement

ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2509 ได้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งพร้อมกับพี่สาว ขวัญจิตร ศรีประจันต์ โดยไปอยู่กับวงดนตรี “ชุมนุมศิลปิน” ของครูจำรัส วิภาตะวัธ แต่ครูจำรัสให้พี่น้องทั้ง 2 ไปสังกัดอยู่กับวง จำรัส สุวคนธ์น้อย จนมีโอกาสได้รู้จักกับครูจิ๋ว พิจิตร นักแต่งเพลงที่กำลังมีชื่อเสียงกับการแต่งเพลงให้ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ครูจิ๋วก็ประเดิมแต่งเพลงให้ 2 พี่น้องคนละเพลง โดยแต่งเพลง “เบื่อสมบัติ” ให้ขวัญจิตร ศรีประจันต์ ร้องแก้กับเพลง “แบ่งสมบัติ” ของไวพจน์ เพชรสุพรรณ แล้วแต่งเพลง “เกี้ยวเรื่อย ๆ” ให้ขวัญใจ ศรีประจันต์ ร้องเดี่ยว

ต่อมาราวปี พ.ศ.2510 ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ได้ลาออก
จากวงดนตรี “รวมดาวกระจาย” ของครูสำเนียง ม่วงทอง มา
ต้้งวงเป็นของตัวเอง สองพี่น้อง ขวัญจิตร ศรีประจันต์ และ ขวัญใจ ศรีประจันต์ ก็ย้ายตามไปอยู่ด้วย

หลังจากแม่ขวัญจิตรเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านเพลงลูกทุ่ง ท่านก็ย้ายออกจากวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ ก็มาตั้งวงเป็นของตัวเอง ขวัญใจ ศรีประจันต์ ก็ติดตามมาร่วมอยู่ด้วย

ขวัญใจ ศรีประจันต์ ได้ร้องเพลงบันทึกเสียงเอาไว้หลายเพลงเหมือนกัน เช่น
1. เกี้ยวเรื่อย ๆ (เพลงแรกที่บันทึกเสียง)
2. ฉันกลัวบางกอก
3. ตำนานสงกรานต์ ร้องคู่ขวัญจิตร
4. พ่อรูปหล่อ
5. ผู้ชายพายเรือ
6. รับขันหมาก
7. สาวคลองจินดา
8. สาวเวียงจันทร์
9. อยู่นาห่วงพี่
10. เพลงอีแซว ถามพี่ขวัญจิตร ตอน 1
11. เพลงอีแซว ถามพี่ขวัญจิตร ตอน 2

เมื่อแม่ขวัญจิตรยุบวง ก็พากันกลับกันไปทำนาอยู่บ้านที่บ้าน จังหวัดสุพรรณบุรี ยามว่างจากการทำนา ทั่งขวัญจิตรและขวัญใจ ก็หันมาฟื้นฟูเพลงอีแซว และเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ขึ้นมาอีกครั้ง ร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานโดยการนำคณะไปทำการแสดงในทุกพื้นที่ของภาคกลาง รวมถึงในสถาบันการศึกษา กับทั้งยังรับสอนลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจเพลงพื้นบ้าน จนเป็นที่แพร่หลาย แรก ๆ ก็มีแค่คณะขวัญจิตร ศรีประจันต์ คณะเดียว ต่อมาเมื่อมีงานมากขึ้น ก็ตั้งคณะ ขวัญใจ ศรีประจันต์ ขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง แล้วแต่เจ้าภาพต้องการคณะไหนคณะนั้นก็ไปทำการแสดง ทั้งขวัญจิตรและขวัญใจ ศรีประจันต์ มีความเชี่ยวชาญการแสดงพื้นบ้านทุกแขนง ไม่เฉพาะแต่เพลงอีแซวเท่านั้น เพลงลำตัด เพลงฉ่อย
เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ ก็เชี่ยวชาญ

ขวัญใจ ศรีประจันต์ เป็นแม่เพลงพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากอีกคนหนึ่ง ท่านทำหน้าที่มาจนวาระสุดท้ายของชีวิต ขอให้ดวงวิญญาณของท่านจงไปสู่สุคติภพด้วยเถิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image