ยุคที่ทุกคนมีกระบอกเสียง เริ่มด้วยด่าทอลงท้ายด้วยอะไร

คนเกิดครึ่งศตวรรษก่อน ไม่มีใครนึกถึง ว่าวันหนึ่งจะมีโทรศัพท์มือถือ และด้วยโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้น แต่ละคนก็มีกระบอกเสียงของตัวเอง พร้อมกับข่าวคราวและความรู้ทั้งโลกอยู่ในมือ

กระบอกเสียงของตัวเองสำคัญอย่างไร

สำคัญอย่างยิ่งในสังคมที่คนเกิดมามีปากเหมือนไม่มีปาก

สำคัญคือสามารถพูดต่อสาธารณะได้ และมีคนสนใจฟัง

Advertisement

ปกติ บรรดานายทุน นายเงิน เจ้าที่ดิน ฯลฯ ในโลกที่สาม ล้วนต้องการกระบอกเสียง หรือมีสื่อของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น เพื่อเป็นทั้งกระบอกเสียงโฆษณาและปกป้องตัวเอง แต่มักมีไม่ได้ เพราะโลกที่สามส่วนใหญ่อยู่ในอำนาจปกครองของเผด็จการทหารมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ยอมให้ใครมีสื่อ

สังคมไทยแตกต่างออกไปบ้าง จากวิถีกำเนิดของสื่อเอกชน

ย้อนไปสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เป็นสื่อหลักซึ่งเข้มแข็งอย่างยิ่งในสังคม เข้มแข็งจนไม่ว่ารัฐบาลเผด็จการทหารหรือรัฐบาลพลเรือนเห็นเป็นปฏิปักษ์ เพราะทำหน้าที่ปากเสียงของประชาชนซึ่งๆ หน้า

Advertisement

เป็นยุคที่นักเลือกตั้งยังเหลือความละอาย หากปรากฏข่าวเสื่อมเสียของตนตามหน้าหนังสือพิมพ์ ยังชะลอหรือยุติบทบาททางการเมืองชั่วคราว ต่างจากสมัยใบหน้าหมดยางในปัจจุบัน ที่ทำผิดเห็นๆ แต่ถึงขนาดชาวบ้านไล่ก็ไม่ไป บอกว่าหากศาลยังไม่ตัดสินก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์

หรือยกกฎกติกามาแก้ต่างหน้าซื่อๆ ว่า แม้ทำผิดกฎหมายติดคุก แต่ไม่มีกฎบริษัทเอกชนบังคับ ยังบริหารงานตามหน้าที่ตำแหน่งเดิมไปได้ (เพราะเป็นบริษัทตูเอง)

เยี่ยม – ถูกต้องแล้วคร้าบบบ

เรื่องมรรยาทองค์กร มรรยาทสังคม มรรยาททางการเมือง พับเก็บเข้าตู้เซฟห้าชั้นไป

การเกิดของหนังสือพิมพ์รายวันแต่เดิม หลังปี 2500 เป็นความตั้งใจของนักเขียนอิสระ ที่พึงใจจะประกอบสัมมาชีพสื่อมวลชนเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ และเพื่อสิทธิเสรีภาพในสังคม

สมัยนั้น ในพาสปอร์ตหนังสือเดินทาง ยังกรอกช่องระบุอาชีพว่าตนเป็น journalist หรือนักหนังสือพิมพ์ได้อย่างแหงนหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน แต่เดี๋ยวนี้กรอกได้แค่ employee หรือลูกจ้าง จะด้วยความจริงของระบบธุรกิจเป็นอย่างนั้น หรือราชการเห็นคำนี้เป็นของแสลงก็ไม่รู้

กระนั้น ความพยายามของนักหนังสือพิมพ์ที่จะเป็นเจ้าของกิจการตัวเอง มักลุ่มๆ ดอนๆ ต้องมีนายทุนมาอุดหนุน การย้ายค่าย ยกคณะเข้าออก ของกลุ่มคนทำหนังสือพิมพ์จึงเกิดขึ้นเป็นระยะ ผู้บริโภคข่าวสารจึงมักรู้จักแต่ละกลุ่มดี ว่ากลุ่มนั้นคณะนี้มีคุณภาพอย่างไร ปากกล้าภาษาคมขนาดไหน

ที่สร้างตัวขึ้นมาอย่างมั่นคงเป็นหนังสือพิมพ์ยอดนิยมซึ่งรู้จักกันทั่วประเทศคือ “ไทยรัฐ” โดย “กำพล วัชรพล” ผู้ถูกเรียกขานว่าเป็น “ลอร์ด ทอมป์สัน แห่งประเทศไทย” และ “ยูเนสโก” เพิ่งสดุดีในฐานะบุคคลสำคัญของโลกในวาระ 100 ปีชาตกาลไปเมื่อเร็วๆ นี้

มี “เดลินิวส์” ตามมาเพิ่มสีสัน โดยเฉพาะยามที่กีฬามวยสากลโลกของไทยกำลังเฟื่องฟู

ทั้งสองฉบับถูกเรียกเป็นหนังสือพิมพ์ “ข่าวชาวบ้าน” (soft news) เสนอข่าวหลากหลาย ในสังคมที่ประชากรขยายจำนวนขึ้นมาถึง 60 และ 70 ล้านคนระหว่างสี่ทศวรรษที่ผ่านมา มี “สยามรัฐ” ของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” เสนอ “ข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม” (hard news)

ต่อมา “สุทธิชัย หยุ่น” จึงออก “เดอะ เนชั่น” (The Nation) เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของคนไทยประชัน “บางกอก โพสท์” (Bangkok Post) และ “ขรรค์ชัย บุนปาน” กับ “พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร” และ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” ออก “ประชาชาติ” รายวัน ซึ่งคลี่คลายเป็น “ประชาชาติธุรกิจ” ท่ามกลางกลิ่นควันรัฐประหารในเงารัฐบาลจำอวดพลเรือน

โดยมีหนังสือพิมพ์รายวัน “เจ้าพระยา” ซึ่งรัฐบาลหนุนหลังให้ออกมาคอยแก้ต่าง สร้างความชอบธรรมกับรัฐบาลจำอวด อันเป็นความพยายามที่ล้มเหลวในช่วงสั้นๆ

และในที่สุดก็ “มติชน”

การเดินทางมาไกลของหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ถูกเผด็จการใช้โซ่ล่ามแท่นพิมพ์ก่อนปี 2500 ถึงการขว้างระเบิดใส่สำนักงานที่อยู่หน้าวัดช่วงทศวรรษ 2520 เนื่องจากรายงานข่าวหุ้นยุคเปิดตัว ที่ทำให้คนฆ่าตัวตายเพราะเก็งกำไรผิด เริ่มเปิดโอกาสให้สังคมผู้บริโภคข่าวสารเข้ามามีส่วนร่วมชัดเจน

หนังสือพิมพ์ซึ่งแต่ก่อน แม้เป็นฝ่ายคนส่วนมากที่ถูกกระทำ แต่ก็เหมือนอยู่ไกลจนเข้าถึงไม่ได้

ก็มีคอลัมน์ “จดหมาย” ที่ประชาชนสามารถระบายความอัดอั้นตันใจ หรือเสนอความเห็น ทั้งต่อสภาพแวดล้อมและการบริหารงานราชการ เกิดการปะทะสังสันทน์กันอย่างสร้างสรรค์ ระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมติชนเปิดพื้นที่กว้างขวางไม่ว่าการเมืองหรือเรื่องบันเทิง

ไทยรัฐที่หน้ากระดาษมีค่าราวทองคำ ยังให้ผู้อ่านจดหมายเข้าไปวิจารณ์เรื่องต่างๆ โดยเฉพาะรายการโทรทัศน์

ร่นระยะทางระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคลง ซึ่งเท่ากับขยายระยะทางทำความเข้าใจกันในสังคม ให้ไกลขึ้น

สำหรับสื่อวิทยุและโทรทัศน์นั้น ด้วยวิถีการเกิดที่แตกต่างไป จึงใช้ข่าวหนังสือพิมพ์มาเสนอต่อ แม้สามารถลงทุนด้านข่าวโทรทัศน์ของตัวเองได้ แต่ใช้เวลาหลายทศวรรษ กว่าจะมีข่าวของตัวเองในวันนี้

แต่การมาของโลกในโทรศัพท์มือถือได้สร้างความเปลี่ยนแปลงชนิดกลับตาลปัตร

ทุกคนที่มีมือถือ มีกระบอกเสียงของตัวเอง ทั้งเป็นสื่อมวลชนโดยอัตโนมัติ ข่าวอาชญากรรม เช่น มือลอบวางระเบิดทำระเบิดหล่น รายงานข่าวการเมือง เช่น ส.ส.ลุแก่อำนาจ รายงานข่าวบันเทิง ข่าวชาวบ้านสารพัด รายงานได้แทบจะในฉับพลันทันที

ทุกข่าวเป็นข่าวปัจจุบันทันด่วนตามประเภทและประสิทธิภาพของเครื่องมือ

ส่วนบรรทัดฐานสื่อสารมวลชน จรรยาบรรณ คุณค่า คุณภาพข่าวสารและผู้สื่อข่าว ว่ากันต่างหาก

ที่สำคัญ จากสังคมซึ่งบทกลอนเขาเปรียบว่า “มีปากเหมือนมีตูดพูดไม่ได้” ช่องทางสื่อสาธารณะ (social media) มากมายซึ่งสามารถใช้ผ่านมือถือ ทำให้กลายเป็นสังคมอุดมทัศนะ วิพากษ์วิจารณ์กันได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ทุกห้อง (website) ทุกเรื่องราว ทุกข่าวสาร ที่เปิดโอกาสให้แสดงความเห็น (comment)

แต่อาจเพราะสังคมไม่เคยมีช่วงเวลาให้ฝึกฝนและคุ้นเคยกับความคิดเสรีนิยม (liberalism) ที่การยอมรับความเห็นซึ่งแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา 80 กว่าปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคมน้ำท่วมปากอยู่ในหล่มเลนเผด็จการมากกว่าได้ใช้เวลาเรียนรู้วิถีประชาธิปไตย พอเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 ความคิดปัญญาชนส่วนหนึ่งเหวี่ยงไปทางสังคมนิยม ก่อนเกิดรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก

อาจด้วยความไม่เคยชินกับวิวาทะอย่างสร้างสรรค์ คุณพูด ผมฟัง ผมพูด คุณฟัง คุณและผมยอมรับความเห็นกันและกัน แม้จะขัดแย้งแตกต่างกัน ผสมความอัดอั้นตันใจที่สั่งสมมานาน

“คอมเมนต์” ระยะแรกไม่กี่ปีก่อนในความเห็นต่าง จึงเต็มไปด้วยคำผรุสวาท รุนแรง เสียดสี เยาะเย้ย หนักหนาด่าทอไปถึงโคตรตระกูลก็ยังมี โดยเฉพาะความเห็นทางการเมือง ซึ่งเกิดจากความเชื่อ ยิ่งกว่าเกิดจากการเรียนรู้ข้อเท็จจริง ที่ต่างสามารถแสวงจุดร่วมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้

การถกเถียงจะต้องเอาแพ้เอาชนะกันทุกเรื่องอย่างโต้วาที มากกว่าจะเรียนรู้เหตุผลกันและกัน

แต่นานเข้าก็เป็นธรรมดาของการสังสันทน์ เมื่อคุ้นกับความมืด ก็จะค่อยๆ มองเห็นหนทาง แต่ละห้องมักปรากฏวุฒิภาวะของผู้คอยประคองความเห็น มาพยุงสติ ยิ่งห้องมาตรฐานทั้งหลาย ยิ่งแสดงความคิดกันอย่างระมัดระวัง แม้ใน “ไลน์” ตั้งแต่กรณีท้องปลอมกับนักแสดงชาย ก็มีที่เห็นใจ พยายามเข้าใจทั้งสองฝ่าย วิจารณ์กันอย่างอดออมถ้อยคำ เช่นเดียวกับ ส.ส.สาวกับพิธีกรชายและพี่สาว ที่แม้คู่กรณีเองก็ต่อว่ากันด้วยภาษาที่สามารถรับฟัง

นอกจากนี้ ช่องทางสื่อสาธารณะยังถูกใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะจริงๆ ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรมงดงามต่างๆ ของผู้คน ถูกนำมาเผยแพร่กว้างขวางออกไป งานอาสาสมัครของคนปิดทองหลังพระ มีคนนำมาบอกกล่าว จึงไม่น่าสงสัยว่า ช่องทางเหล่านี้จะยิ่งเป็นคุณกับสังคมต่อไปในอนาคต

ที่น่าจับตามองคือ การใช้ช่องทางเหล่านี้ทางการเมือง จะสร้างสรรค์กันได้ขนาดไหน และต้องใช้เวลายาวนานมากน้อยเพียงไร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image