สุสานจิ๋นซีมาถึงบ้าน ไม่อยากลุกไปดูหน่อยหรือ

ชักชวนกันแบบรู้นิสัยว่า คนไทยไม่ชอบไปพิพิธภัณฑ์ (หรือพิพิธภัณฑ์ทำให้คนไทยไม่ชอบไปหาก็ไม่รู้) บางคน มีบ้านที่อังกฤษซึ่งมีพิพิธภัณฑ์ชั้นยอด 1 ใน 3 ของโลกอยู่คือ “บริติช มิวเซียม” แหะแหะ ขอประทานโทษ มีของวิเศษให้ดูมากมาย ซึ่งขนมาจากประเทศในอาณานิคมเอาดื้อๆ เช่น ชั้นที่แสดงมัมมี่ทั้งชั้น เป็นอาทิ ยังสู้เดินทางไปมาท่องเที่ยว พักผ่อนอยู่ได้เป็นสิบปี แต่ไม่เคยย่างเข้าไปเห็นอะไรในพิพิธภัณฑ์เลย ทั้งที่ไม่เก็บตังค์

จะมีข้อแม้ว่า ของอะไรในพิพิธภัณฑ์ไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิต ที่จะชักจูงให้อยากไปรู้จักตัวเองเลย เพราะมีแต่ของที่มาจากวัดกับวัง ซึ่งถ้าจะนับเนื่องว่าใกล้กันได้บ้าง ก็เพียงเพราะเรื่องของวัดกับวังเหล่านั้น ในประวัติศาสตร์พงศาวดาร เป็นตำราที่ต้องเรียนต้องตอบข้อสอบ ก็แล้วแต่ข้อแม้ของแต่ละคนไป

หากคราวนี้ของที่นำมาแสดง ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถึงจะไม่เกี่ยวกับชีวิตแบบไทยๆ แต่กลับเป็นโบราณวัตถุจากสถานที่และเรื่องราวซึ่งคนไทยไม่น้อยรู้จักดี

“กองทัพทหารดินเผา” ของจักรพรรดิผู้รวมแผ่นดินจีนองค์แรก “จิ๋นซีฮ่องเต้”

Advertisement

 

ซึ่งชาวนาขุดพบโดยบังเอิญตั้งแต่ปี 2517 ที่ซีอาน เมืองหลวงเก่าอายุเกือบสามพันปี ในมณฑลส่านซี เมืองหลวงของ 13 ราชวงศ์ และเมืองต้นทางการค้าโลกสมัยโบราณ อันเป็นจุดเริ่มและจุดสิ้นสุดเส้นทางสายไหม

เป็นข่าวอึกทึกไปทั่วโลก เพราะนอกจากเป็นแหล่งโบราณคดีซึ่งใหญ่ที่สุด ยังขุดค้นไม่เสร็จสิ้นหมดจด กระทั่งเดี๋ยวนี้ ทหารดินเผานับพันนับหมื่นคน ที่มีขนาดเท่าคนจริง เช่นเดียวกับม้าเทียมรถจำนวนมาก หน้าตาแตกต่างกันไป ทั้งอาวุธที่ผิดแผกกับเครื่องแบบซึ่งแต่งตามชั้นยศ บ่งถึงการใช้เวลา และกำลังการผลิต อันอุตสาหะด้วยการลงแรงและลงทุนมหาศาลถึง 11 ปีกว่าจะสำเร็จลง ก่อนจะเริ่มคริสตศักราชถึงเกือบ 250 ปี

ที่ว่าคนไทยไม่น้อยรู้จักเรื่องราวเหล่านี้ดี และอาจรู้จักดีกว่าหลายเรื่องในประวัติศาสตร์ไทยด้วยซ้ำ ก็เพราะสินค้าวัฒนธรรมของจีน ไม่ว่าหนังใหญ่ หนังชุดทางโทรทัศน์ นิยายกำลังภายในจำนวนมาก อิงเรื่องราวของ “ฉินสื่อหวาง” เช่นหลังสุดคือ “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” ของ “หวงอี้” ผู้ล่วงลับ ได้ช่วยกันสร้างภาพและเรื่องราวของจักรพรรดิองค์นี้ไว้ต่อเนื่อง ตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

ไม่น้อยคนรู้จัก “จิงเคอ” (เก็งคอ) มือสังหารที่อาสาไปประทุษร้ายจิ๋นซี หรือยังจำหนัง “ฮีโร่” ของผู้กำกับ “จางอี้โหมว” ที่แปลงเรื่องแบ่งบทจิงเคอออกเป็น 3 มือสังหารแข่งกันลอบทำร้ายฉินอ๋องได้

จักรพรรดิจิ๋นซีจึงเป็นนามที่คนไทยจำนวนมากคุ้น และกองทัพทหารดินเผาในสุสานย่อมเคยได้ยิน

ตลอด 40 ปีที่ผ่านไป คนไทยซึ่งสามารถซื้อทัวร์เดินทางไปจีน จึงมักเลือกเส้นทางที่ครอบคลุมกำแพงเมืองจีนในปักกิ่ง สุสานจิ๋นซีในซีอาน และความก้าวหน้าของเซี่ยงไฮ้เมืองอนาคต นอกเหนือเมืองธรรมชาติงามอื่นๆ อย่างซูโจว หางโจว เป็นหนึ่งในบรรดานักท่องเที่ยวนับล้านๆ คนที่ไปซีอาน

ดังนั้น จากผนังกำแพงใหญ่ยาว ที่สร้างให้ผู้เยี่ยมเยียนยืนเรียงหันหน้าเข้าฉี่ใส่ เมื่อปวดปัสสาวะ รดลงร่องซึ่งทำทางไหลรวมไปสวนผักในปีแรกๆ ปัจจุบัน ห้องน้ำสำหรับทำธุระหนักและเบา ซึ่งนักท่องเที่ยวหลายทศวรรษก่อนกลัวกันนัก ได้เปลี่ยนรูปเป็นทันสมัย ถูกสุขอนามัย ถูกใจผู้เยือนไปแล้ว

ส่วนคนที่ยังไม่ได้ไปเห็นด้วยตา ก็ได้แต่พิศวงกับเรื่องราว ตื่นตากับภาพ ซึ่งนิตยสารมักรายงานให้รู้

บัดนี้ โอกาสดีที่ไม่คาดหมายได้มาถึง

“ปกติ การขนโบราณวัตถุสำคัญขนาดใหญ่จำนวนมาก ออกแสดงนอกประเทศ เป็นเรื่องยากลำบาก ทำไม่ได้บ่อยอยู่แล้ว ไม่ว่าของใครที่ไหน และสำหรับทหารม้าทหารเดินเท้าของสุสานจิ๋นซี รวมถึงสรรพาวุธ ม้า รถรบ ที่นำเคลื่อนออกแสดงหลายโอกาส มักเป็นของทำเทียมเพื่อป้องกันของจริงเสียหาย

แต่คราวนี้ ระหว่างวันที่ 16 กันยายน- 15 ธันวาคม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทุกวัน เว้นจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. จะมีนิทรรศการพิเศษครั้งแรก ในไทย ที่จะได้ชมกองทัพทหารดินเผาของแท้กับตา ยกข้ามประเทศมาให้ดูกันเห็นๆ จากสุสานจิ๋นซี”

โบราณวัตถุทุกชิ้นอายุกว่า 2,700 ปี 86 รายการ 133 ชิ้น ซึ่งในบรรดานี้มีอยู่ 17 ชิ้น ที่ถูกจัดเป็นโบราณวัตถุระดับเลิศ เกรดเอ พลาดชมไม่ได้ทั้งสิ้น

งานพิเศษครั้งนี้ เป็นการวางแผนและประสานงานกันอย่างละเอียด รอบคอบ ผ่านการคำนวณอย่างถี่ถ้วนทุกขั้นตอน ระหว่างสถานทูตจีนในไทยกับฝ่ายเจ้าของบ้าน ที่จะนำโบราณวัตถุทุกชิ้นจากสุสานจิ๋นซีมาถึงประเทศไทย เพื่อชาวไทยจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และโบราณคดีจีนในอดีตอย่างใกล้ชิดที่สุด

โดยกรมศิลปากรขอยืมมาจัดแสดงได้ถึง 3 เดือนเต็ม ดูเหมือนจะนาน แต่อย่ารอช้าทีเดียวเชียว พลาดแล้วพลาดเลย ไม่อาจกลับมาอีกครั้งได้ง่ายๆ ในช่วงชีวิตที่เหลือของหลายๆ คน

ด้วยบัตรเข้าชมเพียง 30 บาทสำหรับคนไทย และ 200 บาทสำหรับชาวต่างชาติ โลกโบราณอันยิ่งใหญ่ของจีนก็จะรอผู้ชมอย่างขรึมขลังอลังการอยู่ใน 4 บริเวณกับ 4 หมวดการแสดง

ส่วนแรก ให้เห็นพัฒนาการก่อนการรวมชาติ ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก ที่แคว้นต่างๆ อยู่กันเอกเทศ ต่างสั่งสมเทคนิค วิทยาการ และวัฒนธรรม ที่ส่งให้แคว้นฉินแข็งแกร่งขึ้นในเวลาต่อมา โบราณวัตถุในส่วนนี้ จะเห็นความก้าวหน้าทางโลหกรรม จากภาชนะสัมฤทธิ์ อาวุธ และเงินตรา

เครื่องประดับรูปเสือ ที่จับประตูรูปสิงโตคาบห่วง ไหบรรจุเหล้าในพิธีกรรม และหม้อน้ำ ล้วนสะดุดตา

ส่วนที่สอง ว่าด้วยจักรพรรดิองค์แรกของจีน ผู้ผนวกโลกมนุษย์กับสวรรค์ แสดงความสำเร็จในการรวม รัฐทั้งเจ็ดเป็นหนึ่ง พร้อมระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์ พัฒนาวิทยาการสงคราม กำหนดหน่วยชั่ง ตวง วัด และระบบเงินตรา ภาษาเขียน เชื่อมแนวกำแพงดินอัดของแคว้นต่างๆ จนกลายเป็นกำแพงเมืองจีน

ให้ชมยุทโธปกรณ์ล้ำยุค หน้าไม้กลไก และดาบที่ต่างไปจากปกติเป็นอาวุธอันทรงพลังของกองทัพจิ๋นซี

ส่วนที่สามอันเป็นหัวใจของการแสดง สุสานจักรพรรดิ มหาอาณาจักรใต้พิภพ ที่เรื่องราวถูกบันทึกไว้โดยอาลักษณ์ยุคถัดมา สมัยราชวงศ์ฮั่น “ซือหม่าเฉียน” ซึ่งพรรณนาความยิ่งใหญ่ อันชวนพิศวงของมหาสุสานไว้ละเอียดลออ จนการค้นพบได้พิสูจน์ยืนยันการบันทึกนั้นว่า มิได้เป็นนิยาย

ที่จักรพรรดิผู้ปรารถนาอมตะ แสวงยาอายุวัฒนะ ได้สร้างมหาสุสานไว้รอโลกหน้า หรือเตรียมพร้อมไว้สำหรับชีวิตหลังความตาย

การแสดงส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญ มีหุ่นดินเผาแม่ทัพสวมเกราะ นายทหาร พลธนูชุดเกราะนั่งชันเข่า นักรบในชุดเกราะ ม้าเทียมรถ ที่ล้วนบอกถึงความสามารถชั้นสูงของทั้งช่างและวิทยาการยุคนั้น

ส่วนที่สี่ มาถึงการสืบสานความรุ่งโรจน์ของราชวงศ์ฮั่น ต่อยอดภูมิปัญญาราชวงศ์ฉิน ผ่านความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม การเมืองการปกครอง สังคมเกษตรกรรม และวิทยาการการทหาร ทั้งยังเป็นยุคทองของเศรษฐกิจการค้า และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติทางตะวันตก บนเส้นทางแพรไหม รวมถึงงานศิลปกรรม บ่งถึงความรุ่งเรืองของอารยธรรมจีนโบราณกว้างไปไกล

ส่วนนี้มีตุ๊กตารูปสัตว์อันหมดจด ซึ่งยืมมาจากพิพิธภัณฑ์ฮั่น ให้เห็นช่วงเวลาสงบสุขระยะหนึ่ง ในประวัติศาสตร์จีนที่เต็มไปด้วยการรบพุ่ง ช่วงชิงแผ่นดิน เพื่อบอกว่า ถึงแผ่นดินจะปั่นป่วนเพียงใด ก็ไม่อาจเป็นอุปสรรคกับความคิดอ่านทางสร้างสรรค์ของคนในสังคมได้

งานนิทรรศการพิเศษ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คราวนี้ จึงมิใช่งานปกติธรรมดาที่จืดชืดแห้งแล้ง ไม่ว่าจะนึกภาพพิพิธภัณฑ์ไว้อย่างไร แต่เป็นการแสดงถึงชีวิต ที่มีเลือดเนื้ออุทิศอยู่ทุกชิ้นโบราณวัตถุ

เรื่องราวของชนชั้นปกครองอาจกระเดื่องดังถูกจดจำ แต่แม้ไม่รู้ว่าผู้ถูกเกณฑ์แรงงานมาทั้งหลาย ผู้ใดออกแบบลวดลาย ผู้ใดปั้นหล่อกองทัพทหารดินเผา ผู้ใดเป็นช่างสัมฤทธิ์ และตกตายพร้อมกันอยู่ในสุสาน ด้วยหรือไม่ งานที่รังสรรค์ไว้นานเกือบสามพันปีเหล่านี้ จะไม่ถูกรำลึกถึงการเสียสละอย่างเงียบงัน นั้นบ้างเลยหรือ

“จะไม่ลุกไปชม ไม่อุ้มลูกจูงหลานไปดู ได้อย่างไร.”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image