เสียงร้องของนักเขียน ‘ผมถูกปล้น !!!’

ที่ วัธนา บุญยัง และนักเขียนอีกหลายคนเจอ ไม่ใช่โจรสวมหมวกกันน็อคหรือใส่หน้ากากปิดบังหน้าตาแล้วถือปืนมาจี้เพื่อชิงทรัพย์ แต่กลับเป็นพวกหัวใส ที่ใช้เทคโนโลยีเป็น นำผลงานวรรณกรรมที่เขาบรรจงสร้างสรรค์มาตลอดหลายสิบปีไปเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และเท่าที่ทราบ มีคนติดตามฟังเป็นจำนวนมาก

ในเฟซบุ๊ก วัธนา บุญยัง เขายังบอกด้วยว่า คนที่ทำอย่างนั้นน่าจะได้เงินไปใช้ ขณะที่เขาซึ่งเป็นคนเขียนไม่ได้อะไรเลย

เจ็บไปกว่านั้น คือ ‘แรกๆ ก็ยังให้เกียรติ บอกชื่อคนเขียนด้วย มาตอนหลัง นอกจากไม่บอกชื่อแล้วยังเปลี่ยนชื่อเรื่องด้วย แต่อ่านหรือเล่าจากเรื่องของเราร้อยเปอร์เซ็นต์’

?

Advertisement

ที่วัธนารับรู้มา ผลงานหลากประเภทที่เขาเขียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับป่า อย่างที่ผู้อ่านทั่วไปรับรู้ ถูกนำ ‘ไปอ่าน’ แล้วบันทึกไว้ในยูทูปมานานนับเป็นสิบปี โดยบุคคล 4 ราย ที่ถ้าให้รวมยอดวิวของผู้ที่เข้าไปคลิกฟังก็มากกว่า 20 ล้านวิว “คิดดูเขาจะได้เงินเท่าไหร่”

“ขณะที่เราพิมพ์หนังสือ 2,000 เล่ม ขายหลายปีก็ไม่หมด”

Advertisement

ครั้นจะบอกว่าเขาเขียนเรื่องไม่ดี อ่านไม่สนุก คนเลยไม่ซื้อ ยอดวิวคนฟังก็ขัดแย้งกันอยู่ อย่างชัดเจน
เรื่องที่เกิดขึ้น วัธนาบอกว่าเขาเองยังไม่ได้ดำเนินการอะไร เพราะเอาตรงๆก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงดี

“มีแต่คนให้กำลังใจ แล้วก็เชียร์ให้ฟ้อง แต่ต้องเข้าใจว่าการฟ้องในบ้านเราไม่ใช่ง่ายๆ แล้วกรณีอย่างนี้คนฟ้องจะเครียด จะลำบากขนาดไหน มันต้องจ่ายค่าทนาย ผมเองก็อายุตั้ง 70 แล้ว เป็นทั้งเบาหวาน หัวใจ มะเร็ง คงไม่มีปัญญาไปสู้คดีในศาลขนาดนั้นหรอก แล้วงานนี้เป็นงานใหญ่ ไม่ได้มีผมเป็นนักเขียนคนเดียวที่

โดน ผมไปคุยกับคุณผาด (วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ เจ้าของนามปากกา ผาด พาสิกรณ์) ลูกชายคุณ พนมเทียน  เขาก็โดน และอีกหลายๆคนก็โดน”

ในความเห็นของเขา องค์กรที่เกี่ยวข้องจึงน่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เช่น สมาคมนักเขียนอาจจะขอความร่วมมือไปยังกระทรวงยุติธรรม อะไรแบบนั้น

ที่เสนออย่างนั้น วัธนาบอกว่าจากประสบการณ์เคยพยายามด้วยตัวเอง โดยเขาติดต่อไปยังผู้ที่กระทำการดังกล่าว ส่งอีเมล์ไปหา “แต่เขาเฉยๆ”

“เราก็ทำอะไรไม่ได้ เราไม่ใช่กฎหมายที่จะไปจัดการเขา”

เจออย่างนี้เข้า คงไม่ต้องสงสัยว่า เขาจะรู้สึกแย่ขนาดไหน

“แน่นอนเลยครับ” เขาบอก

“เพราะเรากำลังจะอดตาย หนังสือขายไม่ได้น่ะ เมื่อก่อนนี้ผมก็มีรายการจากการขายหนังสือเดือนหนึ่ง 20,000-30,000 บาท ก็อยู่ได้สบาย ตอนนี้ไม่ได้แม้แต่บาทเดียว 2-3 ปีมาแล้ว”

ที่มีคนแนะนำให้ลองหันมาขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์เอง วัธนาก็ว่าในความเห็นเขา รวมถึงกลุ่มเพื่อนที่ได้หารือ เห็นตรงกันว่า ออนไลน์เมืองไทย “ยังไม่เวิร์ค”

“ผมมีหนังสือที่ขายออนไลน์ 44 เล่ม เดือนหนึ่งผมจะได้ 300 , 500 จะไปอยู่ได้ยังไง”

“แต่ในยูทูป ยอดวิวเยอะจริง มีคนรู้จักกันเขาก็บอก ก่อนนอนฟังแทบทุกคน เพราะมันง่ายนี่ นอนฟังไม่ต้องเปิดไฟ แต่การอ่านหนังสือมันคนละรูปแบบ เดี๋ยวนี้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน พฤติกรรมคนเราก็เปลี่ยน เอาสะดวก เอาง่ายเข้าว่า ไม่เสียตังค์ด้วย”

หากก็นั่นละ เจ้าของผลงานได้รับกระทบไปเต็มๆ

วัธนา บุญยัง

ส่วน ‘รอมแพง’ จันทร์ยวีย์ สมปรีดา ที่เคยเจอคนนำบทประพันธ์เรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ไปลงในช่องทางออนไลน์ให้ผู้สนใจได้อ่านและได้ฟัง ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จะแจ้งความเอาไว้ แต่การดำเนินการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยคนที่ทำ พอรู้ว่าเธอจะเอาเรื่องก็รีบลบ บางรายหลักฐานจึงไม่ชัดเจน

“แล้วเหมือนเราต้องช่วยตัวเอง ถ้าเกิดมีใครปล่อย เราต้องตามให้เจอก่อน อย่าให้เขารู้ตัว สืบให้ได้ชื่อ นามสกุล และเก็บหลักฐานไว้ เพราะไม่มีใครช่วยจริงๆ”

จากเหตุการณ์นั้น ทุกวันนี้เธอใช้วิธีจ้างโปรแกรมเมอร์เพื่อตรวจจับการละเมิด เมื่อพบจะได้ล้วงเอาข้อมูลคนที่ทำผิด เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับการดำเนินคดี

รอมแพง

ขณะที่ ‘ปราบต์’ ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ ก็เจอตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีก่อน ทั้งที่ปล่อยเป็นไฟล์ pdf ให้อ่าน แล้วปล่อยเป็นเสียงลงในยูทูป ซึ่งเรื่องนี้สำนักพิมพ์ที่เขาทำงานด้วยคอยช่วยดูแลให้

“ที่ผมเจอจะเป็นเว็บที่ฐานของเขาอยู่ที่ต่างประเทศ เราจึงไม่สามารถแจ้งกับทางไทยได้”

คนที่นำงานของเขาไปเผยแพร่ เท่าที่เห็นปราบต์บอกว่าไม่ได้มีการคิดเงินกับผู้ที่เข้าไปอ่านหรือฟังก็จริง แต่คาดว่าน่าจะได้ประโยชน์จากการขายโฆษณาในเว็บที่ว่า

เขายังเปิดเผยความรู้สึกด้วยว่า ทุกครั้งที่เจอเรื่องแบบนี้ นอกจากจะรู้สึก “เซ็งไปทั้งวัน จนไม่มีกำลังใจไปทำอะไรเลย” แล้ว ยังอดคิดไม่ได้ว่าทำไมเขาต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ด้วย

สำหรับทางแก้ไขปราบต์บอก หากมีการออกมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้ ก็น่าจะดีมาก-มาก

“เคยพยายามจะติดต่อเอง บางทีก็ไม่สำเร็จ เคยแจ้งไปทางยูทูป ก็มีขั้นตอนในการแสดงตัวตนค่อนข้างเยอะ ต้องเสนอว่าเราเป็นเข้าของผลงานจริงๆ ทุกวันนี้จึงกลายเป็นว่าแล้วแต่คน ถ้าคนนี้มีกำลังมากพอ มีความอดทนก็ไปเอาเรื่อง”

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือในแต่ละขั้นตอนที่ผ่านไป มันบั่นทอนเราเยอะ แทนที่จะไปทำงานอย่างอื่น ก็ไม่ได้ทำ เสียเวลา เสียอารมณ์”

กับคนที่ทำ ซึ่งเขาเคยเจอ มีบางคนที่เป็นเด็ก อายุยังน้อย

“เขาปล่อยให้โหลดฟรี โดยที่อ้างว่าให้เครดิตเราแล้ว เขานึกว่าเท่านั้นน่าจะพอ แต่จริงๆไม่ใช่”

“เขานึกว่าเป็นเรื่องการมีน้ำใจที่เอาผลงานเรามาเผยแพร่ แต่ว่าจริงๆต้องเริ่มปลูกฝังกันเลยว่า ไม่ควรเอาผลงานของผู้อื่นมาเผยแพร่โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ควรปลูกฝังว่าอะไรถูก อะไรผิด”

“คนที่รู้ว่าผิด แต่ยังทำ อาจจะลงจำนวนลงได้มั๊ง”

ปราบต์ ชัยรัตน์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image