เด็กดูรายการผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ดูรายการเด็ก

รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กในเมืองไทย มีคนเจตนาดี มุ่งมั่นสร้างสรรค์จำนวนไม่น้อย พยายามหาเวลาหาสถานี ผลิตขึ้นมาเพื่อสังคมซึ่งมีลูกเล็กเด็กแดงอยู่ไม่น้อยได้บันเทิงกัน แต่ส่วนมากยากจะประสบผลสำเร็จ

ประเด็นสำคัญแต่ไหนแต่ไรมาคือ นอกจากไม่ได้เวลาออกอากาศที่เหมาะสมแล้ว ยังขาดรายได้สนับสนุนจากสินค้ามาอุปถัมภ์รายการ

เพราะรายการเด็กมิใช่รายการเรียกผู้ชมมากมาย ที่สินค้ายินดีจะซื้อเวลาโฆษณา ต่างจากรายการวาไรตี้ เกมโชว์ ที่มักมีจำอวดคอยสอดแทรกสร้างเสียงหัวเราะ หรือละครหลังข่าว

เป็นเช่นนี้มาตลอดยุคสัญญาณอนาล็อก

Advertisement

ครั้นเข้าสัญญาณดิจิทัลเล่า แม้มีผู้ประมูลสถานีเพื่อเสนอรายการเด็กโดยเฉพาะหนึ่งสถานี แต่ปัจจัยร้อยแปดทั้งสถานการณ์การเมือง กับสถานการณ์เศรษฐกิจ ก็ส่งผลให้สถานีล้มหายไปได้

“รายการเด็กจึงมักเกิดมาเพียงชั่วครั้งชั่วครู่ให้ชื่นชม แล้วจากไปให้เสียดาย”

ที่สังคมจำได้ในหลายรอบทศวรรษนี้ ก็คือรายการ “สโมสรผึ้งน้อย” ซึ่งปรากฏแต่ปี 2521 แพร่ภาพทางสถานีกองทัพบกช่อง 5 เวลาสี่โมงครึ่งถึงห้าโมงครึ่ง มี “ภัทรจารีย์ อัยศิริ” เป็นหัวแรง กับนักแต่งเพลงเด็กคนสำคัญ “ประชา พงศ์สุพัฒน์” สองคน ช่วยกันเขียนเพลงน่าฟังออกมามากมาย

Advertisement

สโมสรผึ้งน้อยทำให้เด็กๆ สนุกกับการเฝ้าชม โดยมีผู้ใหญ่ร่วมดู เด็กๆ อยากมีส่วนในรายการ พ่อแม่เป็นส่วนสนับสนุน สร้างสมาชิกรายการได้นับแสนคน เป็นรายการที่ถูกกล่าวขวัญมาสิบกว่าปี

สมาชิกที่มาจากสโสรผึ้งน้อยซึ่งวงการบันเทิงรู้จักคนหนึ่งคือ “ศิริลักษณ์ ผ่องโชค”

นอกเหนือสมาชิกอีกหลายรายที่มีโอกาสรับเชิญร้องเพลง โฆษณาสินค้า หรือแสดงภาพยนตร์

เมื่อปีที่ผ่านมาก็ได้ข่าวว่า มีการพบปะกันระหว่างสมาชิกซึ่งเติบโตเป็นหนุ่มสาวกันหมดแล้ว ในวันผึ้งน้อยคืนรัง ฟังแล้วน่าปลาบปลื้มที่ความทรงจำของเด็กๆ กับรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งยังคงอยู่

รายการอยู่ถึงปี 2537 ก็ชะงักไปช่วงหนึ่ง กลับมาอีกหนในปี 2539 ถึง 2546 ก็จากไป

อีกรายการซึ่งจำเป็นต้องกล่าวถึงในขอบเขตนี้คือ “ทุ่งแสงตะวัน” โดย “นิรมล เมธีสุวกุล” นักนิเทศศาสตร์ ที่ยืนหยัดทำรายการนี้ตั้งแต่ปี 2535 จากช่อง 11 มาช่อง 3 จนปัจจุบัน เพราะเป็นรายการที่สร้างคุณประโยชน์ยิ่งยวด ต่อความเข้าใจระหว่างสังคม ชุมชนกับชุมชน คนกับคน และที่สำคัญคือการเชื่อมเมืองกับชนบทให้เรียนรู้กันและกันยิ่งขึ้น โดยมีเด็กเป็นตัวนำในการสื่อสาร

ทุ่งแสงตะวันมิใช่รายการเด็กเสียทีเดียว แต่เริ่มจากเด็กและเยาวชนนอกห้องส่งสถานีโทรทัศน์ ซึ่งยังชีวิตที่ทั้งดิ้นรนและรื่นรมย์อยู่กับทุ่ง นา ป่า เขา และสายน้ำแวดล้อม อยู่กับค่านิยม และวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบ

เป็นรายการที่ยืนยันว่าประเทศไทยมิใช่กรุงเทพฯ และกรุงเทพฯมิใช่เจ้าของแสงตะวัน

รายการนี้ดูได้ดูดีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กเห็นตัวอย่าง ผู้ใหญ่เห็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ – ถ้ามีใจจะมอง เพราะมีแค่ตาไม่พอ

ถึงวันนี้ รายการเด็กในเมืองไทยจึงมิใช่คำถามต่อผู้ประสงค์จะผลิต แต่เป็นคำถามต่อหน่วย หรือองค์กรสังคม ผู้มีโอกาสและมีศักยภาพที่จะสนับสนุนรายการ เป็นคำถามต่อรัฐ ที่สามารถเปิดหนทางแก่ผู้ผลิตโดยตรง เพื่อประโยชน์ที่สังคมหรืออนาคตของสังคมจะได้รับ

แม้ไทย พีบีเอสจะพยายามทำอยู่ส่วนหนึ่งก็ตาม แต่ยังไม่แข็งแรงเหมือนที่ในอังกฤษกับญี่ปุ่นทำ

รายการที่เห็นมีเด็กเป็นตัวนำซึ่งหมุนเวียนผ่านมาให้ดูส่วนมากก็คือ ประกวดร้องเพลงเด็ก ซึ่งอาจมีที่พ่อแม่ชวนลูกหลานดูให้เกิดแรงบันดาลใจ แต่ที่จริงแล้ว กลับเป็นรายการเด็กที่ผู้ใหญ่ดูมากกว่า

เด็กบ้านเราจึงมีแต่รายการของผู้ใหญ่ให้ดู ทุกวันนี้ อายุ 12-13 ปี ที่มีโทรศัพท์มือถือใช้ เห็นเปิดละครทีวีหลังข่าวดูติดต่อกันเป็นเรื่องๆ แล้ว นอกจากเล่นเกมหรือดูคลิปที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้ดู เช่น เด็กผู้ชายรุมทำร้ายกัน เด็กผู้หญิงตบตีกัน ภาพอาชญากรรมสยดสยองลักษณะต่างๆ หรือเรื่องอนาจารทางเพศ ฯลฯ จนดูจะธรรมดาไปแล้ว

ไม่ได้มีรายการเด็กแบบ “เซซามี สตรีท” (sesame street) ที่ออกอากาศในสหรัฐตั้งแต่ปี 2512 ยาวนานมาถึงปัจจุบัน และเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ไม่เว้นเมืองไทย

ซึ่งคำนวณกันว่าผู้ใหญ่สหรัฐสองสามทศวรรษที่ผ่านมา มีถึง 95 เปอร์เซ็นต์ที่เคยดูรายการนี้

ทุกวันนี้ “มัพเพท เบบี้ส์” (muppet babies) ก็ยังมีรายการที่แพร่ภาพอยูในเคเบิล ทีวี ไทย ทั้งกบเคอร์มิทน้อย กับเพื่อนๆ พิกกี้, ซัมเมอร์, กอนโซ, แอนิมอล และฟอซซี และบรรดาตัวละครอื่นๆ ช่วยกันมีเรื่องซาบซึ้งให้เด็กๆ ติดตามได้ตลอด

งานอันเนื่องมาจาก “เดอะ มัพเพทส์” ของ “จิม เฮนสัน” ชุดนี้ ที่ผลิตต่อมาโดยดีสนีย์ จูเนียร์ จึงเป็นหลักหมายสำคัญของรายการเด็ก ซึ่งสื่อสารกว้างขวางออกไปได้เป็นสากล

เนื้อหาของหุ่นน้อยแต่ละตอนวันนี้ แม้ว่าจะดูเหมือนง่ายๆ แต่ดูแล้วค่อยๆ สร้างความเข้าใจนานา ซึมซาบลงในใจเด็ก จนแม้ผู้ใหญ่ก็ถูกสำทับความเข้าใจนั้นได้ทันที

ครั้งฟอซซีซึ่งเป็นเพื่อนซี้เคอร์มิท อาสาดูแลกบน้อยที่มาใหม่ เพราะอ้างว่ารู้จักกบดีที่สุด นำทุกสิ่งที่เคอร์มิทชอบมาให้ ทั้งกินทั้งเล่น แต่กบน้อยมีรสนิยมที่ต่างไปจึงรู้สึกถูกยัดเยียดและเบื่อหน่าย จนที่สุดฟอซซีเข้าใจและเปลี่ยนแปลงความคิด ว่ากบเหมือนกันก็มิได้หมายว่าจะต้องเหมือนกันทุกสิ่ง

รายการเด็กที่เคเบิลทีวีซื้อมาจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ทั้งรายการเด็ก และเด็กก่อนวัยรุ่นเช่น “มิคกี้ เมาส์ คลับ” หรือการ์ตูนสองหนูน้อยมุสลิม “อูปิน อีปิน” (Upin Ipin) ซึ่งแพร่ภาพมาสิบกว่าปีแล้ว พอจะสันนิษฐานได้ไหมว่า รายการสำหรับเด็กและการ์ตูนเด็กบ้านเขา อยู่ดีเป็นที่ต้องการในชีวิตประจำวัน

นอกจากรายการเด็กกับการ์ตูนให้เด็กดูแล้ว หลายประเทศยังมีรายการเด็กให้ผู้ใหญ่ดู เพื่อให้เห็นพฤติกรรมระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ หรือความสามารถของเด็กที่ผู้ใหญ่คิดไปไม่ถึง เช่น “เดอะ รีเทิร์น ออฟ ซูเปอร์แมน” (The Return of Superman) ของเกาหลีใต้ เรื่องคุณพ่อคนดังเลี้ยงลูก

หรือวาไรตี้สหรัฐ “ลิตเติล บิ๊ก ช็อตส์” (Little Big Shots) ที่ “สตีฟ ฮาร์วีย์” นักแสดง พิธีกร จำอวด นักเขียน ร่วมผลิตกับ “เอลเลน เดอเจเนเรส” นำเด็กที่ความสามารถล้นเหลือหลายแบบทั่วโลก มาแสดงให้เห็น นักร้อง นักกายกรรม นักต่อสู้ป้องกันตัววัย 6-8 ขวบ วงแชมเบอร์มิวสิกวัยเดียวกัน เด็กน้อย 5 ขวบทำสวนครัว ขายผัก ฯลฯ สร้างความเข้าใจในการปลูกฝังอนาคตของสังคมได้กว้างขวางขึ้น

หากสังคมยังทำได้เพียงรายการประกวดเด็กร้องพลง ซึ่งก็ยังดีกว่าทำอะไรไม่ได้ หรือไม่ทำอะไร ภาระก็คงตกหนักกับรายการเช่น “ทุ่งแสงตะวัน” ที่ต้องขยายพื้นที่การสร้างความเข้าใจในสังคมออกไป

หรือบางคราวรายการเช่น “คุณพระช่วย” อาจแบ่งเบาไปบ้าง จากการนำเด็กและเยาวชน มาแสดงทักษะในการสืบสานมรดกวัฒนธรรม เช่น ดนตรีไทย เป็นต้น

“รายการเด็กในโทรทัศน์บ้านเรา จึงมิใช่เรื่องที่สังคมจะโยนไปให้ผู้ต้องการทำรายการ หาหนทางกันถ่ายเดียว แต่พูดได้แบบกำปั้นทุบดินว่า เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยควรยื่นมือมาร่วมรับผิดชอบด้วย อย่างน้อยก็ดูจากตัวอย่างที่สังคมอารยะช่วยกันทำ ไม่เช่นนั้น ถึงวันที่ กาสิโนโผล่ตามสารพัดสลากกินแบ่งขึ้นมา แต่แหล่งสร้างสมสติปัญญาเยาวชนยังไม่เคยปรากฏ เช่น หอประชุมแสดงกิจกรรมและแสดงทรรศนะชุมชน ห้องสมุดถาวร ห้องสมุดเคลื่อนที่ทุกย่าน พิพิธภัณฑ์มีชีวิตสาขาต่างๆ ทุกเขต เวทีแสดงทั้งในร่มและกลางแจ้งสี่มุมเมือง ที่เด็กและเยาวชนได้มาแสดงความสามารถ แม้จนสนามกีฬาสาธารณะนานาประเภทให้ออกกำลัง ฯลฯ

สังคมก็คงต่ำเตี้ยลงเรื่อยๆ อย่างที่เห็น.”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image