ว่าด้วยหนัง(เคย)ถูกสั่งห้ามฉาย กลายเป็นมรดกภาพยนตร์แห่งชาติ กับเรื่องที่กรรมการเซ็นเซอร์ควรเข้าใจ

ภาพจาก @tanwarin

“แมลงรักในสวนหลังบ้าน-INSECTS IN THE BACKYARD” หนังไทยที่ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่งแบน ไม่อนุญาตให้ฉายในปี 2553 ด้วยเหตุผลว่า ขัดต่อมาตรา 29 ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 เนื่องจากมีเนื้อหาทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดย กอล์ฟ ธัญญ์วารินทร์ สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับการแสดงต้องใช้เวลายาวนานเพื่อต่อสู้ ตามกระบวนการต่างๆ ก่อนจะจบลงตรงที่เขาตัดสินใจตัดบางส่วนสั้นๆในภาพยนตร์ ที่แสดงให้เห็น ‘หนังโป๊ในทีวี’ ซึ่งปรากฏอยู่ในเรื่องออก แล้วยื่นขอพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ใหม่ จนได้ฉายในปี 2560

ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้รับประกาศให้เป็นมรดกภาพยนตร์แห่งชาติ ประจำปี 2562

ตื้นตันใจ ดีใจ และภาคภูมิใจมาก คือสิ่งที่เขาบอก ทันทีที่คุยกันถึงเรื่องนี้

ภาพจาก @tanwarin

“มันเป็นงานที่ตั้งใจทำให้ดีที่สุด ตั้งใจทำให้เป็นงานที่สื่อสารกับสังคม เรื่องความเป็นมนุษย์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วเรื่องนี้เคยโดนแบนมาก่อน เราต่อสู้มานานมาก 5 ปี กว่าจะได้ฉายก็รวมแล้ว 7 ปี ตอนที่ได้รับแจ้งว่ามีการประกาศขึ้นทะเบียน บอกไม่ถูกเลย ดีใจมากๆเลยค่ะ”

Advertisement

“และที่ดีใจมากไปกว่านั้น คือภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะได้รับการดูแลไม่ให้สูญหาย ผุพังไปตามกาลเวลา ไม่ว่าหอภาพยนตร์จะเปลี่ยนไปกี่รุ่น ภาพยนตร์ที่เป็นมรดกของชาติจะถูกทำนุบำรุงและถูกทำให้คงอยู่ตลอดไป”

“หลังจากนี้เมื่อเราตายไปแล้ว แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะยังอยู่”

Advertisement
INSECTS IN THE BACKYARD

จากคนทำหนัง ที่วันนี้ก้าวเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ธัญญ์วารินบอกว่า เขาตั้งใจจะผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ภาพยนตร์ และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551 ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

“อันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วตอนนี้เลือกที่จะอยู่คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ทำงานในอนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรม”

“ปัญหาของวงการภาพยนตร์ไทยที่คนมองว่ากำลังจะสูญสิ้นสลาย ตายไป ตกต่ำ เรามองว่ากระแสโลกที่พูดถึงสิทธิ เสรีภาพทางการแสดงออก แล้วยิ่งทุกวันนี้เป็นโซเชี่ยล มันปิดบังทุกสิ่งอย่างได้ยากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2551 ก็เป็นเวลา 11 ปีแล้ว ตอนนี้เราต่างเห็นข้อด้อย เห็นปัญหา ข้อบกพร่องต่างๆ ซึ่งตอนแรกที่ประกาศใช้เราก็บอกกันว่ารับๆไปก่อน เดี๋ยวค่อยแก้ แต่ 10 ปีแล้วยังไม่ได้แก้ แล้วตอนนี้พ.ร.บ.ภาพยนตร์ไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว พ.ร.บ.ควรจะส่งเสริม และสนับสนุน ภาพยนตร์ไทย แต่กลับกลายเป็นว่าเนื้อหา หรือหลักการสำคัญกลายเป็นริดรอนสิทธิเสรีภาพของคนทำงานศิลปะ ของศิลปิน ในการแสดง ความคิดวิพากษ์วิจารณ์สังคม หรือสิ่งต่างๆ ตรงนี้จะต้องถูกปรับแก้”

“คือก็เข้าใจนะคะ ว่าคนทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการ เขาใส่หมวกของผู้ถือศีลธรรมอันดี แล้วเขาคิดว่าเขามีหน้าที่คิดแทนปวงชนชาวไทยทั้งหมด ซึ่งตรงนี้แหละ ที่ต้องทำความเข้าใจกับคณะกรรมการนิดหนึ่ง”

“คณะกรรมการควรจะมองถึงตัวภาพยนตร์ ที่สามารถสะท้อนสิ่งที่สังคมเป็น แต่เขากลับมองว่าภาพยนตร์ควรจะเป็นสิ่งดีงาม ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งดีงามเสมอไป มันเป็นเป็นสิ่งที่ไม่ดีงามก็ได้ ใช่ไหมคะ”

“โลกทุกวันนี้ต้องยอมรับ ว่าจะไปคิดแทนคนทั้งหมดไม่ได้ แล้วจะมาปกปิดทุกอย่างในโลกนี้ไม่ได้ เรามองว่าคณะกรรมการเป็นผลผลิตของการศึกษาไทยที่ยังคิดว่าผู้ใหญ่ยังต้องคิดแทน ผู้มีอำนาจหน้าที่จะต้องคิดแทนประชาชน ซึ่งไม่ใช่ เรามั่นใจว่าประชาชนมีความแข็งแรงพอในการรับสื่อสารมวลชนอยู่แล้ว วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์เป็น เขาดูว่าภาพยนตร์คือการแสดง ไม่ใช่เรื่องจริง มั่นใจว่าคนไทยแยกออก ดูแล้วเข้าใจ เพราะฉะนั้นคนที่มีอำนาจในการพิจารณาเรตติ้ง ไม่จำเป็นต้องไปคิดแทนทั้งหมด”

จึงเห็นว่าพรบ.ภาพยนตร์ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2551 สมควรได้รับการแก้ไข-ดังว่า.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image