HAPPY CITY … เมืองที่ดี เมืองที่ออกแบบได้

ตอนเด็กๆ เวลาที่ดูการ์ตูนญี่ปุ่น อย่างโดราเอมอน ชินจัง หรือแม้กระทั่งการ์ตูนจากสตูดิโอจิบลิ จะมีอย่างหนึ่งที่ติดอยู่ในใจเสมอ คือ “เมือง” ที่ตัวการ์ตูนอาศัยอยู่

เพราะสงสัยมากเลยว่า ทำไมโนบิตะ ชิซูกะถึงเดินไปโรงเรียนใกล้บ้านกันได้ ทำไมมิซาเอะถึงขี่จักรยานไปส่งชินจังที่โรงเรียนได้ แบบขี่ผ่านเนินเขาสวยๆเลย ไม่ต้องกลัวรถชนเฉี่ยวด้วย ทำไมมีสวนสาธารณะกลางเมืองแบบที่พ่อแม่พาลูกไปเล่นได้จริงๆ คือเดินจากบ้านไปได้เลย

ตอนนั้นคิดแค่ว่าญี่ปุ่นนี่ดีจังเลยนะ แต่พอโตขึ้น ได้เดินทางไปหลายๆ ที่ในโลก ก็เริ่มจะเห็นถึงอะไรหลายอย่างที่เมืองไทยแทบจะไม่มีเลย โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯนั่นคือความเป็น “เมืองที่ดี”

เมืองที่เราใส่ส้นสูงเดินบนฟุตปาธได้แบบไม่ต้องกลัวว่าส้นรองเท้าจะปักหลุมตรงไหนสักหลุมให้หน้าคะมำ เมืองที่เราเดินได้แบบไม่ต้องกลัวตกท่อระบายน้ำที่ลืมปิดฝา เมืองที่หายใจได้โล่งจมูกสบายปอดจากต้นไม่ใหญ่ที่ช่วยกรองฝุ่นควัน เมืองที่มีห้องสมุดดีๆ กระจายตัวอยู่ตามชุมชนต่างๆ เมืองที่ “เป็นมิตร” กับคนที่อาศัยอยู่ในเมือง นั่นล่ะ ความหมายง่ายๆ ของเมืองที่ดีสำหรับเรา

Advertisement

ไม่ใช่ความฝัน มีหลายเมืองที่ทำได้ และทำได้ดีขนาดที่สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาจากความเลวร้ายได้ด้วยซ้ำ

ใน “Happy City” ซึ่งเป็นผลงานของ Charles Montgomery แปลโดย พินดา พิสิฐบุตร โดย สนพ.น้องใหม่อย่าง “broccoli” ถอดบทเรียนจากหลายเมืองทั่วโลกมาให้เราได้เห็นความหมายของคำว่า “พื้นที่แห่งความสุข”

Happy City ช่วยจุดประกายความคิดได้ ด้วยกรณีศึกษาจากเมืองต่างๆ หลายประเทศทั่วโลก อาทิ ประเด็นเรื่องเมือง-ชานเมือง, คนเดินเท้า-รถยนต์, สวนสาธารณะ-ทางหลวง, ขนส่งสาธารณะ-รถส่วนตัว บ้านเดี่ยวบนที่ดินแปลงใหญ่-ชุมชนผสมผสานการใช้งาน เมืองแนวราบ-เมืองแนวตั้ง หรือแม้กระทั่งคนเมือง-รัฐ

เอ็นริเก้ เปญาโลซ่า อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เคยกล่าวไว้ว่า “เราสามารถออกแบบเมืองที่จะทำให้คนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เมืองที่ทำให้คนรู้สึกร่ำรวย เมืองที่ทำให้คนมีความสุขขึ้น”

ที่เปญาโลซ่ากล่าว ไม่ใช่แค่การหาเสียงลอยๆ แต่เขาทำได้จริงๆ

เมืองโบโกตา จากดินแดนที่มีอาชญากรรมสูงลิ่ว ยาเสพติดระบาดไปทั่ว ผู้นำท้องถิ่นและประชาชนของเขาพยายามปรับเมือง จนมีสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นนับร้อยแห่ง ถนนปลอดภัยมากขึ้น ขนส่งธาธารณะคุณภาพดีช่วยยกระดับชีวิตผู้มีรายได้น้อย รวมถึงสร้างห้องสมุดกลางสลัม

เอ็นริเก้ เปญาโลซ่า พยายามถึงสามครั้งกว่าจะคว้าเก้าอี้นายกเทศมนตรีไปได้ เขามองว่ารูปแบบและวัฒนธรรมของเมืองจะต้องเชื่อมโยงกัน และตั้งใจจะทำให้ผู้คนเคารพเมือง ด้วยการใช้คอนกรีต เหล็ก ใบไม้ สนามหญ้า เขาเชื่อในเรื่องที่ว่า การออกแบบเมืองควรเป็นไปเพื่อทำให้คนมีความสุขขึ้น

ก่อนการเลือกตั้ง เมืองโบโกตาได้รับคำแนะนำเชิงเทคนิคและการทำผังเมืองจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า ที่แนะนำให้สร้างเครือข่ายทางด่วนยกระดับขนาดยักษ์ เพื่อบรรเทาความหนาแน่นของการจราจร .. แน่นอนว่าอภิสิทธิ์ชนของโบโกตาตอบรับแผนงานนี้อย่างกระตือตือร้น แต่เปญาโลซ่าปัดตกไปเมื่อรับตำแหน่ง

เขาทุ่มรายได้ของเมืองไปยังพื้นที่สาธารณะ ระบบขนส่ง ซื้อพื้นที่รอบนอกเพื่อขยายย่านที่อยู่อาศัยและกันการเก็งกำไร ย่านที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ราคาถูก และมาพร้อมสวนสาธารณะ ทางสีเขียว โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็กมากมาย ปลูกต้นไม้แสนต้น สร้างห้องสมุดขนาดใหญ่ 3 แห่งในย่านที่ยากจนที่สุดของเมือง

ทั้งหมดนี้เพื่อสนับสนุนปรัชญาความเป็นธรรม

“สิ่งหนึ่งที่จำเป็นในการสร้างความสุข ก็คือความเท่าเทียม” เปญาโลซ่าบอกกับผู้เขียน

ตัวอย่างความเท่าเทียมที่นั่น คือ “เสากั้นรถ”

เปญาโลซ่าสั่งติดเสากั้นรถไว้ตามขอบทางเท้าทั่วเมือง เป็นการประกาศสงครามกับรถยนต์ที่คนขับชอบทำผิดกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้ทางเท้าเหล่านี้มักถูกรถยนต์จอดขวางอย่างผิดกฎหมายจนเข้าไปใช้งานไม่ได้ แต่ตอนนี้ทางเท้าเปิดโล่ง และอื้ออึงด้วยเสียงผู้คน

เสากั้นรถเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าคนเดินเท้า ก็สำคัญไม่ต่างจากคนที่มีรถ ทางจักรยาน และระบบรถประจำทางก็เช่นกัน เปญาโลซ่าอธิบายว่า เขากำลังสร้างความเท่าเทียม สร้างความเคารพในในศักดิ์ศรีของมนุษย์ โดยบอกว่าผู้คนว่า “คุณเป็นคนสำคัญ ไม่ใช่เพราะคุณรวย แต่เพราะคุณเป็นมนุษย์”

นี่เป็นเพียงเคสตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้น ยังมีกรณีศึกษาที่สนใจมากอีกหลายเรื่องในหนังสือเล่มนี้

อีกไม่นานก็จะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.คนใหม่แล้ว อยากให้ทุกคนที่เสนอตัว และทุกคนที่ต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ รวมถึงเมืองอื่นๆ ที่มีปัญหามากๆ ได้ลองอ่าน แล้วอาจจะคิดเหมือนเราว่า เมืองทั้งหลายยังพอเยียวยาปัญหาได้นะ ถ้ามีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของเมือง ซึ่งสัมพันธ์กับความอยู่ดีมีสุขทั้งกายและจิตของคนในเมืองด้วย

ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าไม่ลงมือทำอะไรเลย

Happy City ช่วยถอดบทเรียนบางส่วนมาให้แล้ว

ดอกฝน

 

 

 

 

All site contents copyright © by Matichon Public Co.,Ltd. All Rights Reserved.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image