ลอยกระทงแบบไหน ในภาวะของโลก ปี 2562

แม้จะเป็นเทศกาลที่ยึดปฏิบัติกันมานาน ว่าพอถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ผองเราก็จะไปลอยกระทง จะเป็นการลอยตามความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าเพื่อเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา เนื่องจากตลอดปีที่ผ่านมาทิ้งของเสียลงแม่น้ำกันมากมายไม่รู้เท่าไหร่ หรือจะด้วยเหตุผลอื่นใดก็แล้วแต่ หากที่แน่ๆ ซึ่งทุกคนต้องยอมรับว่าคือในทางหนึ่งกระทงที่เราลอยลงไปในแม่น้ำนั้นจะก่อให้เกิดมลภาวะ เกิดขยะมากขึ้น

และนี่คือไอเดียของคนบันเทิงส่วนหนึ่ง ในเรื่องที่ว่าในวันลอยกระทง 11 พฤศจิกายนนี้ ด้วยเราควรจะลอยกระทงแบบไหน ให้เหมาะกับสภาวะของโลกปี 2562

เริ่มต้นกับกลุ่มผู้ประกาศข่าวจากช่อง 3 อย่าง ดาว อภิสรา เกิดชูชื่น พิธีกรรายการ ‘ผู้หญิงยกกำลังแจ๋ว’ ที่บอกว่า หลายคนคงตระหนักดีว่ากระทงที่ทำมาจากวัสดุที่เป็นโฟมจะส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่ายินดีที่ปัจจุบันมีการนำโฟมมาใช้เพื่อการนี้ลดน้อยลง โดยเปลี่ยนไปใช้วัสดุจากธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ในความเห็นของเธอ แม้จะเป็นของจากธรรมชาติ แต่บางอย่างก็ต้องใช้เวลาในการย่อยสลาย

Advertisement

“อย่างเช่น ต้นกล้วย เอาจริงก็ใช้เวลาไม่น้อย” เธอบอก

ดังนั้น ไอเดียกระทงประจำปีนี้ของเธอ “ดาวคิดว่าจะทำจากน้ำแข็ง”

เหตุผลเพราะ “ลอยไปก็ไม่เป็นมลพิษ ละลายได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องเสียเวลาในการเก็บขยะในวันรุ่งขึ้น”

Advertisement

แถมวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยาก

ขณะที่ หมวย อริสรา กำธรเจริญ จาก ‘เที่ยงวันทันเหตุการณ์’ ไก่ ภาษิต อภิญญาวาท จาก ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ และ กระเต็น วราภรณ์ สมพงษ์ จาก ‘เรื่องเด่นเย็นนี้’ ก็เห็นด้วย

ในส่วนของกระเต็น เธอยังว่า ภายในกระทงของเธอนั้นจะใส่ดอกไม้สวยๆ ไว้

“เพราะว่าไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม เลยไม่ต้องตัดต้นไม้ ไม่ต้องไปทำอะไร”

“เราต้องการเพียงแค่สัญลักษณ์ในการขอขมา กระทงน้ำแข็งจึงเป็นกระทงที่กระเต็นอยากจะใช้ในการลอยกระทงค่ะ” ว่าอย่างนั้น

ด้าน ไบรท์ พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ จาก ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ก็มีมุมมองเรื่องกระทงจากวัสดุธรรมชาติเช่นกัน

โดยว่า “ถึงจะเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง หรือหยวกกล้วย แต่ถ้าเก็บไม่หมด ข้ามคืนไป น้ำก็เน่าได้เหมือนกัน”

“กระทงที่ทำจากขนมปัง ถ้าปลากินไม่หมดภายใน 1 ชั่วโมง น้ำก็เน่าอีก”

ที่เธอคิดจึงเป็น “แทนที่จะลอยกระทงแบบ 1 คน 1 กระทง เรารวมกันลอย เป็นครอบครัวละ 1 กระทง กลุ่มเพื่อนฝูง 1 กลุ่ม 1 กระทง หรือถ้าเป็นคู่รักก็ 1 คู่ 1 กระทง ดีไหมคะ”

“นอกจากจะช่วยลดปัญหาเรื่องขยะ ลดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเพิ่มความอบอุ่นใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วยค่ะ”

ไอเดียเรื่อง ‘กระทงร่วม’ ก็เป็นสิ่งที่ ฟลุค จิระ ด่านบวรเกียรติ เห็นด้วย โดยเขาว่า “สำหรับผม ก็คงเน้น 1 ครอบครัว 1 กระทง ลอยด้วยกัน”

เพราะแม้กระทงที่ใช้วัสดุทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติ ไม่ว่า ต้นกล้วย ใบตอง ดอกบัว จะดีที่สุด เพราะย่อยสลายได้ เอาไปหมักเป็นปุ๋ยต่อก็ได้ประโยชน์ แต่ที่ต้องยอมรับ คือ “มันกลายเป็นปัญหาขยะเยอะ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาดูแลเก็บกวาด”

1 ครอบครัว 1 กระทง จึงเป็นสิ่งที่เขาเลือก

สำหรับ ฝ้าย เวฬุรีย์ ดิษยบุตร เธอว่าที่ผ่านมาเธอก็ใช้กระทงจากต้นกล้วย ใบตอง เพราะตระหนักดีว่า “เราต้องช่วยกันเรื่องสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์แม่น้ำลำคลอง”

ที่ไม่ค่อยเลือกกระทงจากขนมปัง ฝ้ายก็ว่าเป็นเพราะไม่รู้ว่าแหล่งน้ำที่ไปลอยจะมีปลาอยู่มากน้อยแค่ไหน

“ถ้าไม่มี หรือน้อยมาก ลอยไปก็กลายเป็นขยะ น้ำอาจเน่าเสียได้”

“การอนุรักษ์ประเพณีเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มอีกทาง โลกจะน่าอยู่มากขึ้นค่ะ” ฝ้ายว่า

ที่ฟันธงชัดเจนว่า “หมดยุคของการเอาโฟมมาทำเป็นกระทงแล้ว” คือ ใบเตย อาร์สยาม สุธีวัน ทวีสิน

“เดี๋ยวนี้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ มีความครีเอต เก๋ๆ เยอะมาก รูปทรงทันสมัยแปลกตาก็เยอะ”

“แต่ใบเตยแนะนำ สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา หรือไม่ชอบไปเบียดเสียดคนเยอะ ลอยกระทงออนไลน์ก็ได้นะคะ ประหยัด ไม่สร้างขยะเพิ่มเติมด้วยค่ะ”

เธอว่าอย่างนั้น

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image