มองเหตุการณ์ ‘พานทองคำ’หาย เห็นช่องโหว่!

กลายเป็นกระแสข่าวที่โด่งดังเมื่อหลวงปู่ภูพาน วัดโนนสวรรค์ (ภูดินแดง) บ้านโนนสวรรค์ ต.พังข้าง อ.เมือง จ.สกลนคร ออกมาเรียกร้องให้วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตรวจสอบพานทองคำลงยา น้ำหนักทองคำหนัก 42 บาท นำมาถวายไว้ภายในองค์พระธาตุพนม เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

หลวงปู่ภูพานย้อนที่มาของพานทองคำว่า เมื่อปี 2539 เป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของ ชาว จ.สกลนคร มีโอกาสต้อนรับพระราชอาคันตุกะ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป แห่งราชอาณาจักร เสด็จเยือน จ.สกลนคร อย่างเป็นทางการ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติพระราชกรณีกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์

ขณะนั้นอาตมาก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน หทัยภูพานสกลนคร เพื่อสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของ จ.สกลนคร ต่อมาเมื่อทราบหมายกำหนดการเสด็จล่วงหน้าและได้รับคำสั่งจากทางจังหวัดจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อต้อนรับพระราชอาคันตุกะ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป

ทางศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านร่วมกับลูกศิษย์อาตมาและญาติโยมชาวสกลนครเห็นว่าต้องจัดให้ยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติ รวบรวมเงินจากผูมีจิตศรัทธาสั่งทำพานทองคำขึ้นมาใหม่ ขนาดสูง 15 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร พานทั้งหมดทำด้วยทองคำ 99.99% ลงน้ำยาอย่างดี ด้านนอกมีลวดลายดอกบัวสื่อถึงพระพุทธศาสนา ทำโดยช่างฝีมือที่ร้านทองโต๊ะกัง กรุงเทพฯ มีตราประทับร้านที่บริเวณพื้นด่านล่างภายในของพาน

Advertisement

เมื่อทำแล้วเสร็จได้นำไปร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญโดยพานทองคำ ใช้เป็นพานวางด้ายผูกแขน มีหัวหน้าศาลจังหวัดสกลนครในขณะนั้นเป็นผู้ถือถวาย และนำด้ายในพานทองคำผูกพระหัตถ์สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์

หลังจากใช้ในงานพิธีบายศรีสู่ขวัญแล้วได้เก็บที่ตัวเองมาโดยตลอด เมื่อปี 2556 จึงเห็นว่าพานทองคำนี้ควรนำไปอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ให้บุคคลได้กราบไหว้ เพราะมีความสำคัญเกี่ยวกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จึงนำไปถวายไว้ในองค์พระธาตุพนม

พลันที่กระแสข่าวพานทองคำหายไป พระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม สั่งการให้พระศรีสุทธิเมธี และพระครูพนมปรีชากร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม เรียกเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ค้นหาสาเหตุพานทองคำที่หาย

Advertisement

แต่เวลาผ่านไปเพียงชั่วข้ามคืนหลังกระแสข่าวแพร่ออกไป ก็มีการนำพานทองคำมาวางไว้ภายในวัดแบบปริศนาคาใจให้กับประชาชนที่ทราบข่าว

กลายเป็นเรื่องสำคัญที่วัดพระธาตุพนมต้องทบทวนร่วมกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ถึงมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัย ที่อาจมีช่องว่างให้กับคนที่ไม่หวังดีมาฉวยโอกาสเอาทรัพย์สินมีค่าออกไปจากวัด

พระศรีสุทธิเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ได้หารือเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา เพราะมองว่าปัญหาพานทองคำหายและได้กลับคืนมา ไม่เป็นปัญหาใหญ่เท่ากับการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องซ้ำซ้อนขึ้นอีก โดยเสนอลงมติในที่ประชุม ออกคำสั่งให้มีการห้ามบุคคลภายนอกเข้าสักการบูชาภายในองค์พระธาตุพนมเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใดๆ นอกเหนือจากทางวัดและคณะกรรมการจะมีการพิจารณาเห็นสมควร

พร้อมจัดระเบียบการนำสิ่งของมีค่ามาถวาย ที่จะต้องลงทะเบียนตรวจสอบให้มีความเหมาะสม ไม่ให้นำของมีค่าเข้าออกโดยทางวัดไม่ทราบ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้เข้มงวด

ขณะที่ ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แนะถึงแนวทางป้องกันไม่ให้ ศิลปวัตถุล้ำค่าการสูญหายว่า ต้องทำความเข้าใจว่าวัดวาอารามส่วนใหญ่ที่เก็บรักษาข้าวของไว้นั้น มักทราบถึงวิธีการดูแลจัดเก็บและการทำทะเบียน เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ เช่น กรมศิลปากร ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) มีโครงการอบรมพระสงฆ์และคนท้องถิ่นคนในประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาคือการปฏิบัติงานจริง ซึ่งเป็นไปได้ยาก อาจเพราะข้อจำกัดด้านบุคลากร ส่วนหน่วยงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นมีแนวคิดที่แตกต่างออกไป

“วัดส่วนใหญ่รู้วิธีการดูแลจัดเก็บ เพราะในช่วง 10 ปีมานี้ กรมศิลป์ไปอบรมพระเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นปัญหาคือ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ทำยาก แค่ทำทะเบียนพื้นฐานอย่างวัดสัดส่วน องค์ประกอบ จดขนาด ต้องใช้เวลา คนทุ่มเทให้งานอย่างนี้มีน้อย ส่วนอาสาสมัครที่มีใจผูกพัน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน มักขาดทักษะการเขียนบันทึกข้อมูล สำหรับวัฒนธรรมจังหวัดและวัฒนธรรมอำเภอ เขาเน้นเทศกาลและศาสนกิจ เจ้าหน้าที่สายส่งเสริมวัฒนธรรมก็มีภาระงานมาก” ชีวสิทธิ์ระบุ และว่า มีบ้างที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในท้องที่ยื่นมือเข้าช่วยวัดในท้องถิ่น แต่เป็นไปในลักษณะความสัมพันธ์ส่วนตัว คือ รู้จักมักคุ้นกันมาก่อน ไม่ได้เกิดขึ้นตามระบบงานอย่างที่ควรเป็น เช่นในอังกฤษมีหน่วยงานที่ออกแบบระบบฐานข้อมูลให้กลายเป็นระบบทะเบียน แล้วนำไปส่งพิพิธภัณฑ์ตามท้องถิ่นต่างๆ ทำให้พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กไม่ต้องทำหน้าที่เองทั้งหมด ทั้งยังมีความสัมพันธ์เชิงกฎหมายด้วย เนื่องจากมีประเด็นเรื่องการกระจายงบประมาณแผ่นดินกลับเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดการดำเนินการนั่นเอง

เมื่อระบบคงยังเป็นไปไม่ได้ในเมืองไทยขณะนี้ แล้ววิธีเบื้องต้นอย่างง่ายที่สุด “ชีวสิทธิ์” บอกว่า วัดหลายแห่งนิยมทำ “ลูกกรง” ใส่กุญแจไว้เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้าวของมีค่า และเต็มไปด้วย “ความหมาย” ต่อชุมชน เช่น วัดไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ซึ่งถือเป็นความพยายามในการตอบโจทย์เรื่องการส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่ต้องอยู่รอดปลอดภัย

นอกจากนี้ยังพบว่าสถานศึกษาบางแห่ง อย่างโรงเรียนลองวิทยา อ.ลอง จ.แพร่ ยังใช้วิธีง่ายๆ แต่ได้ผลดี คือการนำสมุดกราฟหรือสมุดบัญชีขนาดใหญ่มาตีตาราง แล้วเขียนรายละเอียดของวัตถุด้วยลายมือ เมื่อถูกย้ายที่จัดเก็บต้องมีการจดบันทึก อยู่ในความรับผิดชอบของใครก็สามารถดำเนินการได้

“ถึงจะมีแผนงาน มีจินตนาการ แต่ก็ทำจริงยาก กรณีโรงเรียนลอง มีครูที่ทำทะเบียนพวกนี้มานานเกือบ 10 ปี ส่วนเด็กๆ ในพื้นที่ หากคิดอย่างโรแมนติกคือ ถ้ามีการอบรมจะทำให้เขาร่วมสืบทอด รับไม้ต่อ แต่จากที่เคยคุยกับนักวิชาการของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ลงไปช่วยทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด นครปฐม พบปัญหาว่าเมื่อฝึกเด็กแล้ว ได้ผลน่าพอใจ แต่พอเรียนจบก็ไปทำงานโรงงาน หรือเรียนต่อที่กรุงเทพฯ บางคนย้ายบ้านตามพ่อแม่ซึ่งไม่ใช่คนพื้นที่มาแต่เดิม” ชีวสิทธิ์ระบุ

ก่อนทิ้งท้ายประเด็นของหายว่า “ของแบบนี้มักไม่ใช่แค่คนนอกขโมย วัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดกระบี่ มีเจ้าอาวาสถือกุญแจห้องเก็บของมีค่า เมื่อท่านอาพาธ มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ชาวบ้านพากันนำโบราณวัตถุออกจากวัดไป”

ทั้งหมดนี้คือปมปัญหาซับซ้อนที่แวดวงศิลปวัฒนธรรมไทยยังคลายไม่ออก!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image