คุยกับ ‘สินจัย’ ถึงเหตุที่ ‘แม่พลอย’ แห่งสี่แผ่นดินเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม

“ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้วค่ะ” นก สินจัย เปล่งพานิช บอกยิ้มๆ เมื่อถูกถามถึงการมารับบทเป็น ‘แม่พลอย’ ในละครเวที ‘สี่แผ่นดิน THE LEGEND MUSICAL @ LHONG 1919’ จากนั้นจึงขยายความว่า อย่างไรก็ดีครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ละครเรื่องนี้จะแสดงบนเวทีกลางแจ้ง ณ ล้ง 1919 ซึ่งแน่นอนว่าจะได้อีกอารมณ์ที่แตกต่าง จากครั้งก่อนๆ ทั้งในเรื่องของ ‘ภาพ’ ที่เห็น ภาพซึ่งใช้ประโยชน์จากสถานที่ซึ่งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา จนสามารถนำแม่น้ำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของฉาก แล้วยังจะมีการนำเทคนิคต่างๆ อย่างม่านน้ำ พลุ และ ฯลฯ มาเสริม

เป็นการเสริมที่เธอเองรู้สึกว่าเหมาะมาก เพราะ “จริงๆแล้วชีวิตของแม่พลอยเหมือนสายน้ำ คือไม่รู้จะไปในทิศทางไหน เริ่มต้นมาก็ออกจากบ้าน ลงเรือข้ามแม่น้ำ ข้ามฝั่งมาอยู่พระบรมมหาราชวัง ชีวิตเหมือนผูกพันกับสายน้ำที่ไหลไป”

ขณะเดียวกันอีกความแตกต่างที่เธอบอก คือ ครั้งนี้ บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้กำกับการแสดง จะตีความตัวละครใหม่ เพื่อ “ปรับให้เข้ากับยุคสมัย”

“คือสี่แผ่นดินยังเหมือนเดิม เรายังพูดถึงความผูกพันเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ การปกครองต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 เพียงแต่เราตีความว่าถ้าเป็นแม่พลอยในยุคนี้ แม่พลอยจะรู้สึกยังไง ถ้าลูกอยู่ในยุคนี้ ลูกจะรู้สึกยังไง มันทำให้เราเข้าถึงคนดูได้ง่ายขึ้น คนดูสัมผัสตัวละครได้ง่ายขึ้น”

Advertisement

“เท่าที่ได้ซ้อม มีความรู้สึกว่าได้เห็นแม่พลอยกับคุณเปรมในมุมความเป็นพ่อแม่มากขึ้น เห็นความเป็นครอบครัวที่มีความคิดต่างๆ ลูกที่มีลักษณะต่างๆ การเลี้ยงดูจากพ่อแม่คนเดียวกัน แต่มีผลกับลูกที่ไม่เหมือนกัน ลูกที่มีความคิดอ่านที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มีความรู้สึกว่าเข้ากับยุคสมัยเหมือนกันนะ ความเป็นคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ รุ่นผู้ใหญ่ รุ่นเด็ก มันจะมีบรรยากาศที่เกิดขึ้นในสี่แผ่นดินครั้งนี้”

ในส่วน ‘แม่พลอยยุคนั้น’ กับ ‘แม่พลอยวันนี้’ สินจัยบอกว่า จาก “ผู้หญิงโบราณ รับทุกอย่าง เศร้า เสียใจ สูญเสีย แม่พลอยก็จะเข้มแข็ง แข็งแรง แล้วก็ต่อสู้ ต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้น”

Advertisement

“เมื่อก่อนแม่พลอยรับแล้ว เอ๊ะ ยังไง ต้องถามคุณเปรม อันนี้ไม่เข้าใจ เกิดอะไรขึ้น อันนี้เป็นแบบเท่าทันมากขึ้น เอ๊ะ มันมีอะไรบางอย่างผิดปกติ เอ๊ะ มันมีการเปลี่ยนแปลงนะ อันนี้แม่พลอยรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ฉันต้องพูด อันนี้ฉันรู้สึกมาก ฉันจะบอก จะเป็นผู้หญิงแบบนั้นมากกว่า”

ส่วนที่ว่าคนดูจะรับได้ไหม แฟนสี่แผ่นดินที่มีภาพจำของแม่พลอยจะรู้สึกอย่างไร สินจัยก็ว่า “มาดูเองดีกว่าค่ะ ว่ารู้สึกอย่างไร”

“ตอนแรกเราก็รู้สึกอย่างนั้นนะ ว่าคนที่เป็นแฟนเก่าๆ หรือคนที่อ่านหนังสือ จะรู้สึกไหม ว่าแม่พลอยเขาเปลี่ยนไปหรือเปล่า แต่นกคิดว่าเขาน่าจะเข้าใจได้”

สำหรับเธอซึ่งผู้เป็นคนสวมบท รู้สึกว่า “ปรับก็ดีนะ คนเล่นจะได้ตื่นตัวด้วย เหมือนได้ทำอะไรใหม่ๆ คิดอะไรใหม่ๆ”

“นกก็อยากรู้เหมือนกัน ว่าการที่เราพยายามจะร่วมสมัย หรือพยายามที่จะให้ทุกคน ให้เด็กรุ่นใหม่มามองเรา มันดีไหม หรือเราเป็นเราน่ะดีแล้ว”

ถามคนซึ่งแสดงเรื่องนี้มาแล้ว 200 กว่ารอบ ถึงฉากที่ชอบมาก รู้สึกประทับใจ เธอบอกว่า ความรู้สึกนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา

“อย่างช่วงที่เราสูญเสีย เปิดมาคำแรกก็ตายแล้ว อิฉันรักพระเจ้าแผ่นดิน ก็โห…จุก ไปไม่ออกแล้ว หลายๆฉากที่เราสูญเสียก็มีอารมณ์พวกนั้น จะรู้สึกค่อนข้างมาก”

“พอช่วงเวลาผ่าน เหมือนพอเราโตขึ้น บางจุดก็เข้าใจมากขึ้น เรากลับไปรู้สึกกับอีกเรื่องหนึ่งมากกว่าเมื่อก่อน”

“แต่ว่าฉากที่มักจะแบบไม่ต้องเล่น แล้วอารมณ์มาตลอดๆก็อาจจะช่วงรัชกาลที่ 7 ในเรื่องของการสูญเสีย หรือการแตกแยกของในครอบครัว หรือในประเทศ ลูกโดนจับ มันก็โดนทุกครั้งเลย แทบไม่ต้องนั่น มาเองตลอด”

ถามไปอีกว่า ถ้าไม่ได้เล่นเป็น ‘แม่พลอย’ อยากจะเล่นบทไหนในละครเรื่องนี้?

เจ้าตัวยิ้มนำ จากนั้นบอกทันที “อยากเล่นบทอั้น อั้นคือลูกที่หัวรุนแรง ประชาธิปไตย รู้สึกว่าหลากหลาย เยอะดี น่าสนใจในแง่ของการแสดง ช้อยก็น่าเล่นนะคะ เป็นตัวละครที่น่าสนใจ สนุกสนาน เป็นคนที่รู้ทุกเรื่องราว เหมือนแม่พลอย รู้เท่าๆกัน และผ่านทุกอย่างมาเหมือนกัน แต่ว่าฉันยืนหยัด เชื่อมั่นในตัวฉันเอง ฉันจะเป็นช้อยแบบนี้ตลอดไป อันนี้ก็น่าสนุก”

สินจัยยังเชื่อด้วยว่า ละครซึ่งจะแสดงระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคมนี้ เหมาะกับคนดูทุกเพศ ทุกวัย

กับคนรุ่นใหม่-“ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่พี่บอยอยากจะปรับ”

“แน่นอน เราคงจะเปลี่ยนทั้งหมดไม่ได้ สี่แผ่นดินก็คือสี่แผ่นดิน เราก็อยากให้ทุกคนเห็นว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ประเทศชาติเราเป็นแบบไหนมาก่อน พ่อแม่เป็นแบบไหน ปู่ย่าตายายเราเป็นแบบไหน”

“ตอนจะเล่นเรื่องนี้ นกพูดกับคนเขียนบท ว่าเวอร์ชั่นนี้นกตีความเหมือนลูกกลับบ้านมาหาแม่ อาจจะไม่ค่อยได้กลับมาเยี่ยมบ้าน เสาร์อาทิตย์นี้อยากกลับ แล้วบอกแม่เล่าชีวิตวัยเด็กให้ฟังหน่อย ตอนเด็กๆแม่เป็นยังไง เพราะบางทีเหมือนเราไม่ค่อยได้ถาม เขาเติบโตมายังไงนะ แม่เคยอยู่ในวังเหรอ แม่ทำงานอะไร เจอกับพ่อยังไง คืออยากให้คนดูรู้สึกว่าใกล้ชิดกับแม่พลอยมากขึ้น เหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มาเล่า ว่าฉันเติบโตมาแบบนี้นะ ฉันถูกอบรมสั่งสอนมาแบบนี้นะ มีความคิดอ่านแบบนี้ มีการดูแลชีวิตตัวเองแบบนี้ เล่าสู่กันฟัง ให้เด็กฟัง ซึ่งโอเค เขาอาจจะซึมซับได้ในบางจุด หรือไม่ได้ในบางจุด”

“แต่เหมือนกับเราได้ฟังเรื่องราวซึ่งกันและกัน ฟังกันมากกว่า นกตีความว่าอย่างนั้น ให้มันง่ายขึ้น”

“ไม่งั้นคนก็มองว่า โอ๊ย แม่พลอย ยุคโน้น ยุคนี้ จะมองว่าโบราณ เก่าแล้ว ไม่เข้าใจ”

 “ไม่อยากให้มองอย่างนั้น”

ฟังความจากเธอได้ในคลิปนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image