เมื่อสายธารแปรเปลี่ยนผ่าน ‘สี่แผ่นดิน’

ชีวิตของ แม่พลอย ในบทประพันธ์ สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหนึ่งชีวิตที่ยืนหยัดผ่านการเรื่องราวต่างๆ มากมาย พลัดจากบ้านเข้าสู่รั้ววัง พบรักและแต่งงานกับ คุณเปรม สร้างครอบครัว มีลูกๆ อ้น, อั้น, อ๊อด, ประไพ เผชิญหน้ากับการสูญเสีย การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ธรรมเนียม ประเพณี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ช่วงชีวิตของแม่พลอยจึงมีทั้งแง่มุมและแง่คิดที่น่าสนใจพร้อมให้หยิบมาบอกเล่าในรูปแบบต่างๆ เสมอ
การกลับมาของสี่แผ่นดินในรูปแบบละครเวทีครั้งนี้มาในชื่อ สี่แผ่นดิน THE LEGEND MUSICAL @ LHONG 1919 จัดการแสดงขึ้นในโรงละครกลางแจ้งที่ ล้ง 1919 โดยมีฉากหลังเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
สี่แผ่นดินในครั้งนี้มีการตีความใหม่ในหลายส่วน โดยเฉพาะการเพิ่มบทเพลงเล่าเรื่องราวให้สัมพันธ์สายน้ำที่เป็นฉากหลัง ที่สำคัญคือตัวบทแม่พลอยถูกตีความให้ทันสมัยจับต้องได้ ไม่เรียบร้อยไร้ปากเสียง เป็นแม่พลอยที่พูดเร็วและแสดงความรู้สึกมากขึ้น แน่นอนว่า สินจัย เปล่งพานิช ถ่ายทอดแม่พลอยเวอร์ชั่นนี้ออกมาได้ดีเยี่ยม

นักแสดงชุดเดิมที่เคยเห็นหน้าค่าตากันมาจากเวอร์ชั่นก่อน ทั้ง เกรียงไกร อุณหะนันท์ ในบทคุณเปรม วัยผู้ใหญ่, แม่ช้อย รัดเกล้า อามระดิษ, กุลธิดาญ์ อักษรนันทน์ แม่พลอยวัยสาว, ดี๋ ดอกสะเดา พ่อเพิ่ม และ อาณัตพล ศิริชุมแสง ในบทอ้น ต่างทำหน้าที่ได้อย่างน่าประทับใจ ที่โดดเด่นน่าจับตาคือนักแสดงใหม่ที่มาร่วมแสดงอย่าง อัศรัญ มะ ผู้รับบท อั้น ยังมีนักแสดงคนอื่นๆ อย่าง ภัทรภณ โตอุ่น คุณเปรมวัยหนุ่ม, อ๊อด อรรณพ ทองบริสุทธิ์ และประไพโดย ณิชกานต์ แก้วอินธิ เรียกว่าพาฝีมือเน้นๆ มาให้ได้ชมกัน

Advertisement

ฉากต่างๆ ผ่านออกแบบมางดงาม ภาพที่ฉายผ่านโปรเจกเตอร์ไปยังฉากหลังที่ขึงขึ้น บางฉากดึงแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหลังเป็นส่วนหนึ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากสวยเทคนิคม่านน้ำซึ่งคงทำได้ยากยิ่งหากเป็นโรงละครปิด รวมถึงพลุสวยให้ได้ตื่นตาตื่นใจ แปลกใหม่สำหรับละครเวทีและงดงามทีเดียว

ด้วยพื้นที่ที่เป็นโรงละครกลางแจ้งริมแม่น้ำเจ้าพระยายามค่ำคืน อากาศบ้านเรายังอบอุ่นไปสักหน่อยพกพัดไปด้วยอาจช่วยได้ ทายากันยุงและคว้าติดมือไปด้วยสักหน่อยก็อาจทำให้การชมสี่แผ่นดินกลางแจ้งครั้งนี้ราบรื่นสบายตัวยิ่งขึ้น

Advertisement

แต่สิ่งที่คงอยู่เหนือการควบคุมของผู้จัดแสดงจริงๆ คงเป็นเรือดื่มกินของนักท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยแสงไฟส่องสว่างผ่านฉากหลังและบางลำมาพร้อมเสียงดนตรีดังสนั่นที่อาจทำลายอารมณ์ร่วมของผู้ชมได้ไม่ยาก
“สี่แผ่นดิน” ครั้งนี้ย่อมไม่ใช่ครั้งแรกของ ถกลเกียรติ วีรวรรณ และหากการตีความชีวิตของแม่พลอยให้เหมือนสายน้ำที่มีวันเอ่อล้นและแห้งเหือด คนที่เคยชมสี่แผ่นดินในครั้งก่อนๆ อาจพบว่าสำเนียงการเล่าเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ ในรูปแบบละครเวทีแต่ละครั้งค่อยๆ เปลี่ยนไป ไม่ต่างจากสายน้ำและชีวิตของแม่พลอย

แน่นอนว่ามันยังกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ หากที่เด่นชัดขึ้นคือการต่อสู้ทางความคิดและช่องว่างระหว่างคนสองรุ่น เรื่องของครอบครัวและผู้คนตัวเล็กๆ ที่ยังต้องอยู่กับสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลงในบ้านหลังใหญ่ที่ถาโถมมาเป็นระลอก

เมื่อการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่มั่นคงแน่นอนที่สุด ชีวิตแม่พลอยและคนในครอบครัวจึงต้องเผชิญมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างที่คุณเปรมบอกแม่พลอยว่าการเปลี่ยนแปลงอาจไม่เลวร้ายและบางครั้งถ้าไม่ลองเปลี่ยนคงไม่รู้ และสุดท้ายจะอย่างไรทุกอย่างสวยงามตามที่มันเป็น

อาจฟังดูโลกสวยไปบ้าง แต่เพราะในแม่น้ำสายชีวิตนั้นบางวันน้ำอาจล้นเอ่อจนเต็มตลิ่ง แห้งขอดในบางครา บางครั้งไหลเร็วเชี่ยวแรงหรือกระทั่งไหลเอื่อยอ่อนแรง การมองหาแง่งามแม้เพียงเล็กน้อยให้ยืนหยัดผ่านวันต่างๆ เหล่านั้นไปคงไม่ผิด

ใช่เพียงชีวิตของแม่พลอยผู้ผ่านสี่แผ่นดินที่เป็นเช่นนั้น

ชีวิตพวกเราทุกคนที่นี่ก็เช่นกัน

 


มีน เกวลิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image