เทศกาลละครเพื่อ ‘เด็ก’ ที่ผลงานไม่ ‘เด็ก’ ตามชื่อ

เดอะ คีย์ เธียเตอร์

แม้จะเป็นกิจกรรมเพื่ออนาคตของชาติโดยเฉพาะ แต่ดูแล้วเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ BICT Fest 2016 ที่อาร์ทส ออน โลเคชั่น ร่วมกับเดโมเครซีเธียเตอร์สตูดิโอ จัดขึ้นระหว่าง 21 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม  ณ หอศิลป์กทม. นั้นน่าสนใจไม่แพ้เทศกาลละครไหน

เพราะนอกจากเป็นครั้งแรกในบ้านเราที่มีมหกรรมการแสดงระดับนานาชาติเต็มรูปแบบเพื่อเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ ยังมีศิลปินมากถึง 6 ประเทศมารวมตัวกัน ไม่ว่าจะอังกฤษ โปรตุเกส อิสราเอล ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และไทย พร้อมพื้นที่กิจกรรมศิลปะสำหรับครอบครัว

โดยในงานจัดเป็น 3 ส่วน ทั้งส่วนการแสดง กิจกรรมเวิร์คช็อป และเวทีเสวนา ซึ่งอย่างแรกนั้นเน้นรูปแบบอินเตอร์แอ็คทีฟให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อเด็กๆ ได้เปิดประสบการณ์ตื่นเต้นผ่าน 8 การแสดง

เริ่มจากละครหุ่นจากขยะรีไซเคิล ‘รีไซเคิล รับบิช’  ของกลุ่มละครเธียเตอร์ ไรท์ส จากอังกฤษ ที่เนรมิตรขยะไร้ค่าให้กลายเป็นหุ่นมีชีวิต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ทอดทิ้ง

Advertisement
"รับบิช" จากเธียเตอร์ ไรท์ส
“รับบิช” จากเธียเตอร์ ไรท์ส

ส่วนละครหุ่นร่วมสมัยจากกลุ่มละครหุ่น เปเปอร์มูน พัพเพ็ท เธียเตอร์ อินโดนีเซีย มักทำศิลปะแบบทดลองร่วมกับเวิร์คช็อป โดยสร้างสรรค์การแสดงพิเศษจากหนังสือนิทาน

ชุด ‘อาลีบาบาค’ จากกลุ่มละครของโปรตุเกส คอมปานย่า เดอ มูสิก้า เตียตราล นั้นเหมาะสำหรับเด็กวัยแรกเกิดถึง 5 ปี โดยให้สัมผัสเสียงดนตรีคลาสสิค ดนตรีพื้นบ้านเป็นของเล่น และเพลิดเพลินไปกับมหัศจรรย์ของแสงสี รูปทรง การเต้น และละคร

ด้านการเต้นรำร่วมสมัย ชุด‘ไลฟ์โบน’ จากไคจิ โมริยามะ ชาวญี่ปุ่นจะนำโครงสร้างกระดูกและอวัยวะภายในร่างกาย ทั้งกระดูกสันหลัง ลำไส้ หัวใจ ใบหู มานำเสนอผ่านการเคลื่อนไหวประกอบดนตรีและเครื่องแต่งกายที่มีเอกลักษณ์

Advertisement

ฝั่งหุ่นเชิดไม่มีบทพูดชุด ‘เมื่อทุกอย่างเคยเขียวชอุ่ม’ จากกลุ่มละครเดอะ คีย์ เธียเตอร์ ประเทศอิสราเอล ได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเด็ก นำเสนอความเป็นมนุษย์ ธรรมชาติ และความโลภ ผ่านเรื่องของเด็กชายที่เพื่อนสนิทเป็นต้นแอปเปิ้ล กับพื้นที่สีเขียวที่ค่อยๆ กลายเป็นสีเทาของคอนกรีต

สำหรับหุ่นเงาชุด ‘การผจญภัยของอยู่ดี’ จากกลุ่มละครบีฟลอร์ ประเทศไทย เป็นการผจญภัยของเด็กชายอยู่ดีที่ต้องออกเดินทางไปตามหาคนรักที่หายไปในดวงดาว ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ ได้สำรวจ และค้นหาอารมณ์ต่างๆ ของตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมรับความยากลำบากในอนาคต และปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์

นี่ก็ไทยเหมือนกันกับการแสดงชุด ‘แมวน้อย’ จากกลุ่มละครเบิร์ดคิดแจ่ม ที่เล่านิทานเกี่ยวกับแมวน้อยที่มีชีวิตอยู่มานานถึงหนึ่งล้านปีประกอบดนตรี นั่นจะทำให้เห็นการมีชีวิต ความรัก และการพลัดพราก

ปิดท้ายด้วยการแสดงของพระจันทร์พเนจร ชุดหุ่นเงา ‘ตัวโอสีเหลือง’ ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อเด็กออทิสติกที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการ และเด็กที่มีความบกพร่องด้านการได้ยิน

เปเปอร์มูน พัพเพ็ท เธียเตอร์
เปเปอร์มูน พัพเพ็ท เธียเตอร์

โดยชนาภัณฑ์ ธรรมรัฐ นักจิตบำบัดด้วยละครและการเคลื่อนไหว เล่าว่า “กระบวนการเรียนรู้ผ่านละครจะกระตุ้นให้เด็กใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การเคลื่อนไหวร่างกาย การสร้างความเข้าใจในสัมพันธภาพของสิ่งต่างๆ รวมถึงการสื่อสารภาษาพูดและภาษาร่างกาย ซึ่งช่วยสนับสนุนพัฒนาการหลักของเด็กทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และความฉลาดทางปัญญา”

ทั้งนี้แม้จะเป็นการแสดงของศิลปินต่างชาตก็ไม่นับเป็นอุปสรรคเพราะ 70% ของการสื่อสารหลักของมนุษย์เข้าใจได้ผ่านภาษากาย

ขณะที่กิจกรรมเวิร์คช็อปนั้นมีทั้ง การทำพัพเพ็ท โดยเปเปอร์มูน, เวิร์คช็อปหุ่นสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาการเด็กและเด็กพิเศษ โดยดร.ซู เจนนิงส์ ประเทศอังกฤษ, เวิร์คช็อปสร้างศิลปะจากขยะรีไซเคิล โดยเธียเตอร์ ไรท์ส, เวิร์คช็อปสัมผัสทางดนตรีเพื่อการเข้าถึงลูกน้อย โดยคอมปานย่า เดอ มูสิก้า เตียตราล, เวิร์คช็อปการเคลื่อนไหวสำหรับเด็ก โดยไคจิ โมริยามะ และเวิร์คช็อปโลกแห่งจินตนาการของกระดาษและหุ่นกระดาษเคลื่อนไหว โดยเดอะ คีย์ส เธียเตอร์

นอกจากนี้ยังมีเวทีสำหรับครู นักการละครและบุคลากรที่ทำงานกับเด็กให้มาเวิร์คช็อป เช่น เวิร์คช็อปละครสร้างสรรค์จากสิ่งของและละครหุ่น โดยซู บัคมาสเตอร์ นักละครจากอังกฤษ, เรียนรู้ตนเองและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นผ่านเวิร์คช็อปมาเล่นกันเถอะ โดยชนาภัณฑ์ ธรรมรัฐ

ซึ่งอัจจิมา ณ พัทลุง ผู้อำนวยการจัดงานบอก “ที่จริงแล้วละครสำหรับเด็กสามารถมีคุณภาพสูงและมีสุนทรีย์ทางศิลปะได้เทียบเท่ากับละครผู้ใหญ่ และเนื้อหาก็สามารถหนักแน่นจริงจังได้ เพราะเด็กนั้นพร้อมที่จะเปิดรับเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และพร้อมที่จะใช้ความคิดจินตนาการอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา”

และแม้งานนี้จะมีค่าเข้าชมโดยจองบัตรและสอบถามได้ที่ 081-4415718, 099-0093172 หรือคลิก www.bictfest.com แต่ก็เปิดโอกาสให้เด็กที่ขาดโอกาส

โดยอัจจิมาว่า “เรากระจายโอกาสด้วยการจัดแบ่งพื้นที่บางส่วนในทุกการแสดงให้กับเด็กที่ขาดโอกาส สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยทางมูลนิธิที่สนใจสามารถติดต่อมาได้ที่คอลเซ็นเตอร์ของเรา และภายในงานยังมีมุมให้ร่วมกิจกรรมฟรีอีกด้วย”

สมแล้วที่เป็นเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง

เธียเตอร์ ไรท์ส
เธียเตอร์ ไรท์ส
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image