‘ช่องวันอ่านเอา’ งานต่อยอด , แก้ปัญหา เรื่องวิน-วิน ของนักเขียนนิยายกับคนทำละครโทรทัศน์

“การทำละครไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล นักเขียนสามารถเขียนเรื่องของตัวเองไปโดยไม่ต้องทำละครก็ได้ แต่เวิร์คชอปนี้คือ ถ้าคุณรู้ไว้ แล้วมันไม่ได้เสียหายที่จะเอาสิ่งนี้มาอยู่ในกระบวนการคิด มันจะทำให้เรื่องของคุณเอามาทำละครง่ายขึ้น”  

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ ผู้ควบคุมบทโทรทัศน์และคัดเลือกบทประพันธ์ ช่องวัน 31 หนึ่งในแกนหลักของการจัดเวิร์คชอป ‘ช่องวันอ่านเอา’ ที่สถานีโทรทัศน์ช่องวัน ร่วมกับ เพจอ่านเอา จัดขึ้นเพื่อเฟ้นหานักเขียนนิยายมือทองมาต่อยอดในการนำบทประพันธ์มาทำเป็นละครโทรทัศน์ บอกกับ มติชนออนไลน์ 

ที่คิดจัด ศิริลักษณ์ซึ่งทำหน้าที่ซื้อนวนิยายและพลอตเรื่องมาทำละครนานนับสิบปีบอกว่า สาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาการขาดแคลนนิยายดี ที่เหมาะจะทำเป็นละครโทรทัศน์

“ตอนนี้ช่องเยอะขึ้น คนทำละครเยอะขึ้น เรื่องมันไม่พอ”

Advertisement

ส่วนที่ “บางคนบอกว่านิยายออกมาใหม่เต็มท้องตลาด ทำไมค่ายละครทุกช่องรีเมควนเวียนซ้ำซาก”

คำตอบคือ  “มันใช้ไม่ได้”  

กระทั่งมีโอกาสพูดคุยกับ นพ. พงศกร จินดาวัฒนะ คุณหมอนักเขียนเจ้าของนามปากกา ‘พงศกร’ ผู้ทำเพจอ่านเอา ว่าจะดีไหม ถ้าผู้จัดละครหรือสถานีโทรทัศน์จะเข้าไปแนะนำว่าทำอย่างไร จึงจะได้นิยายที่อ่านก็สนุก และนำมาทำเป็นละครโทรทัศน์ก็สนุกด้วย

Advertisement

เพราะจากประสบการณ์ที่พบคือ “นิยายที่อ่านสนุกจะเป็นแบบหนึ่ง ที่ทำละครสนุกก็เป็นอีกแบบหนึ่ง”

แน่นอนว่าเรื่องที่สนุกทั้ง 2 แบบก็มี-เธอบอก แต่ทว่าน้อยเหลือเกิน

“บางทีคนเขียนนิยายจะพรรณนา เขามีวาทศิลป์ของเขา อ่านแล้วก็สนุกจังเลย แต่เวลาแคะเอามาทำละคร เรื่องมันไม่มีอะไร ไม่มีคอนฟลิคมากพอที่จะทำละครแล้วสนุก”

เรื่องนี้คอนิยายอย่างเธอเข้าใจดี และไม่ได้เห็นว่าการเขียนนิยายแบบนั้นเป็นเรื่องผิด หรือผลงานที่ได้จัดเป็นงานที่แย่

“เพราะคนอ่านนิยายไม่ต้องการความหวือหวา หรือพลิกแพลงอะไร อ่านตามไปเรื่อยๆก็สนุกดี แต่ละครต้องการพลอตที่หวือหวา มีความพลิกแพลง คาดเดาไม่ได้”

“วรรณกรรมที่ดี มันดีอยู่แล้ว และไม่จำเป็นต้องทำละครได้ หลายเรื่องที่ขึ้นหิ้ง เรื่องที่เราชอบก็ทำละครไม่ได้ และมันก็งดงามแล้วที่จะเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นเพียงเวิร์คชอปเสริม”

เวิร์คชอปที่อยากแชร์โน ฮาว

“แชร์ตั้งแต่ตอนที่เขายังไม่เขียน คุณจะได้เอาสิ่งนี้ไปขยำรวมกับสิ่งที่คิด ซึ่งเราหวังว่าเมื่อจบการเวิร์คชอปจะได้ทั้งนิยายที่สนุก และทำละครสนุกด้วย”

“คือวิน-วิน”

เรื่องที่เคยมีคนสงสัย “แปลว่าจะให้เขียนตามสั่งเหรอ” 

“ไม่ใช่” เธอยืนยัน

“ช่องต้องการความหลากหลาย ต้องการให้คุณเป็นตัวคุณ เพียงแต่สิ่งที่คุณคิด บางทีบิดนิดเดียวก็เอามาทำละครได้แล้ว แต่ไม่ต้องการให้นักเขียนมาคิดว่าทำยังไงช่องวันถึงจะชอบ เขียนตามใบสั่งช่องวัน”

ไม่ได้ต้องการให้นำโจทย์ทางการตลาดมาทำจนเสียความเป็นศิลปะ

“ไม่ใช่เลย”

“เราต้องการวาไรตี้ ครีเอทีฟไอเดีย แล้วในขณะเดียวกันนโยบายของช่องไม่ได้ทำเพื่อหาคอนเท้นท์มาทำละครอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่งก็อยากยกระดับวรรณกรรมด้วย”

“จริงๆสังคมไทยต้องการการสนับสนุนอีกเยอะมากในเรื่องของการอ่านและการเขียน เราต้องการให้เกิดวรรณกรรมที่ดี ต้องการให้นักเขียนอยู่ได้ ปัจจุบันธุรกิจสิ่งพิมพ์แย่ลง เดี๋ยวนี้บางทีเขาอ่านอีบุ๊ก บางทีก็เป็นเรื่องที่เขียนเพื่อเอาใจวัยรุ่นบ้าง นิยายเรทบ้าง แต่คนเขียนงานวรรณกรรมชั้นดี ถ้าเป็นนักเขียนรุ่นใหม่บางทีไม่ได้พิมพ์ เพราะตลาดก็ต้องเอาชื่อที่ขายได้ มันเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ของธุรกิจ เราก็คิดว่าถ้าคุณสามารถต่อยอดงานเขียนของคุณมาทำเป็นละครได้ ในทางธุรกิจโอกาสในการพิมพ์หนังสือมันสูงขึ้น อย่างน้อยคุณก็อาจจะอยู่ต่อได้”

“เรารู้สึกว่าการช่วยซึ่งกันและกันมันดี เราได้ละครที่มีคุณภาพ แล้วนักเขียนที่มีคุณภาพอยู่ได้”

ด้วยเหตุนี้ช่องวันอ่านเอาจึงจะเปิดรับพลอตเรื่องจากงานที่เป็นออริจินัล ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ก๊อปปี้ใครมาพิจารณา โดยผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ทางเพจ anowldotco

ศิริลักษณ์ยังบอกด้วยว่า จากโครงการนี้นักเขียน 50 คนที่มีพลอตเรื่องน่าสนใจจะได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการที่นักเขียนชื่อดังอย่าง คุณหมอพงศกร , ปิยะพร ศักดิ์เกษม และ กิ่งฉัตร เป็นเมนเทอร์ให้คำแนะนำเรื่องการเขียนนิยายที่ดี ขณะที่เธอและ พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์มือทองอีกคนของช่องวัน จะแนะว่า ถ้าจะให้นิยายเรื่องนั้นเป็นละครที่ดีด้วย ต้องเพิ่มอะไรเข้าไป

“จากนั้นคุณก็ไปเขย่าเอาเอง แล้วทำนิยายที่ดีมาเล่มหนึ่ง” 

เมื่อจบโครงการ เรื่องที่ได้รางวัลที่ 1 จะถูกนำมาทำเป็นละคร โดยผู้เขียนจะได้รับค่าตอบแทนตามมาตรฐานทั่วไป ขณะที่อีก 49 เรื่องที่เหลือ ถ้าเธอว่าถ้าดีช่องวันก็ซื้อหมด

“เราก็หวังว่าจะได้เจอช้างเผือก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image