กาฬโรคจากจีน ทำภาษาอังกฤษ ‘คืนชีพ’ ยุคร่วมสมัยพญาลิไท โดย ‘ไมเคิล ไรท์’

เป็นที่สนใจอย่างมากสำหรับประเด็นโรคระบาดหลังสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ครั้นย้อนไปในประวัติศาสตร์โลก กาฬโรค จากเมืองจีน คร่าชีวิตผู้คนมหาศาล นำมาซึ่งปรากฏการณ์สำคัญมากมาย หนึ่งในนั้น คือการช่วยคืนชีพให้ ‘ภาษาอังกฤษ’ ดังที่ ไมเคิล ไรท์ นักคิด นักเขียนผู้ล่วงลับเรียบเรียงไว้ในบทความ ‘ภาษาอังกฤษกับโรคห่า-ความรอดของภาษาหนึ่ง’ เมื่อ พ.ศ.2547

เนื้อหาดังนี้

เบื้องหลัง
แต่เดิมคนส่วนใหญ่ในหมู่กาะอังกฤษและในแคว้นฝรั่งเศสพูดภาษาในตระกูลเค็ลท์(Celtic) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลอินโด-ยูโรเปียน ในคริสตกาล 300 ปีแรกชาวโรมันบุกรุกเข้ามาใน Gaul (ฝรั่งเศสปัจจุบัน) จึงเกิดภาษาฝรั่งเศสที่หนักไปทางภาษาละติน
ในคริสตกาล 400 ปีต่อมา เผ่าต่างๆที่พูดภาษาในตระกูลเยอรมันบุกเข้ามาจากทะเลเหนือในเกาะอังกฤษ เข้ามากันจำนวนมาก ชาวเค็ลท์จึงถอยไปอยู่ตามเกาะและแหลมฝั่งตะวันตก แล้วภาษาอังกฤษโบราณ (Old English) เริ่มก่อตัวขึ้นมาจากรากเหง้าเยอรมัน แต่ในภาคตะวันตกของฝรั่งเศสชาวเผ่าเยอรมันมากันเป็นจำนวนน้อย เขาจึงเปลี่ยนภาษาเป็นฝรั่งเศสไป
อย่างไรก็ตามเจ้าเมืองอังกฤษกับเจ้าเมือง Normandy (“แดนคนเหนือ”) ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส แม้ต่างภาษาก็ยังเป็นญาติกันอยู่ เพราะแลกเปลี่ยนลูกสาวกันไม่ขาด
ใน ค.ศ. 1066 (ปีเดียวในประวัติศาสตร์ที่เด็กนักเรียนอังกฤษทุกคนจำได้) พระเจ้า         วิลเลียมแห่งนอร์มังดียกทัพเรือมาตีอังกฤษและปราบปรามโดยสิ้นเชิง ท่านตั้งตนที่ลอนดอนแล้วค่อยถอดถอนเจ้านายอังกฤษเดิมแล้วแจกแคว้นต่างๆ, ที่ดิน, ไพร่ และแม้กระทั่งสังฆมณฑลและพระอาราม ให้แก่เจ้านายและสงฆ์จากนอร์มังดี
ในสถานการณ์“กลับหัวกลับหาง” นี้ พระเจ้าวิลเลียมที่ครองอยู่ในลอนดอนยังส่งทัพอักฤษไปปราบเจ้านายที่ขบถในนอร์มังดี นี่ฟังคล้ายพระเจ้ารามาธิบดีที่หนึ่งแห่งกรุงศรีอยุธยาส่งทัพไปปราบ“ขอมแปรพักตร์”ในเขมร?

Advertisement

ภาษาอังกฤษจวนสาบสูญ
แต่เดิมในเกาะอังกฤษพระศาสจักรใช้ภาษาละตินควบคู่กับภาษาอังกฤษของอาณาจักร แต่หลัง ค.ศ. 1066 ภาษาอังกฤษถูกเลิกราโดยสิ้นเชิง พระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาเจ้านายล้วนทรงภาษาฝรั่งเศส ภาษาราชการคือฝรั่งเศส จะขึ้นศาลสถิตยุติธรรมก็ต้องใช้ภาษาฝรั่งเศส
ภาษาอังกฤษตกเป็นภาษาไพร่ ไม่มีราคา เด็กอังกฤษหากอยากได้ดีต้องเรียนฝรั่งเศส ไม่มีใครสอนภาษาอังกฤษเพราะไม่มีใครอยากเรียน
แต่นั้นมาประมาณ 300 ปี ภาษาอังกฤษตกเป็นของชาวชนบท, คนกรรมาชีพ, ชาวตลาด และหญิงคนใช้ เช่น แม่นม
นักประวัติศาสตร์ภาษากะว่า ใน 300 ปีหลังพระเจ้าวิลเลียมชนะอังกฤษ ศัพท์ฝรั่งเศสอย่างน้อยหนึ่งหมื่นคำเข้ามาอยู่ในภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่เป็นคำสูงๆ ว่าด้วยกฎหมาย, การปกครอง, การทหาร และศิลปวิทยาการ
น่าขำที่ชาวอังกฤษจนทุกวันนี้ยังเลี้ยงสัตว์ เช่น Pig, Cow, Sheep (คำอังกฤษเดิม), แต่เมื่อเนื้อมันปรากฏบนโต๊ะอาหารมันกลายเป็น Pork, Beef, Mutton (คำฝรั่งเศส)
แสดงว่าในยุคโน้นคนเลี้ยงสัตว์คงเป็นไพร่อังกฤษ แต่คนกินเนื้อคงเป็นเจ้านายฝรั่งเศส
หลัง ค.ศ. 1066 เพียง 60 ปี พระลูกวัดแห่งหนึ่งบันทึกความว่า “ทุกวันนี้ไม่มีอังกฤษผู้ใดเป็นพระยา (Earl) หรือสังฆราช (Bishop) หรือเจ้าครองอาราม (Abbot) คนมาใหม่เขมือบสมบัติและไส้พุงอังกฤษ ดูยุคเข็ญนี้จะไม่มีวันสิ้น” ท่านเขียนเป็นภาษาละติน ยังมีการบันทึกความเป็นภาษาอังกฤษอยู่บ้าง แต่ค่อยๆรีลงจนถึง ค.ศ. 1154 อาลักษณ์ของอารามแห่งหนึ่งในเมือง Peterborough จดรายงานว่า “ท่าน…(ชื่อฟ้องว่าเป็นชาวนอร์มังดี) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสครองพระอารามนี้ ท่านได้เริ่มต้นด้วยดี ขอให้พระคริสต์เจ้า           จงบันดาลให้ท่านจบลงด้วยดี” นี่คือประโยคสุดท้ายในประวัติอารามแห่งนั้น
แต่นั้นไปประมาณ 200 ปีกว่าๆ ภาษาอังกฤษเกือบไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรอีกต่อไป เว้นแต่ความสั้นๆไม่กี่ท่อนที่ถูกบันทึกและถอดมาได้โดยบังเอิญ จนกว่ากาฬโรคจะมาพลิกคว่ำสังคมและช่วยภาษากลับคืนชีพกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14

กาฬโรคมาพลิกคว่ำสังคม
กาฬโรค (Black Death หรือ Bubonic Plague) เป็นโรคร้ายที่คนมีความต้านทานน้อยมาก มันเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pasteurella pestis ที่เพาะตัวในเลือดหนู และหมัดหนูเป็นพาหะนำเข้าสู่เลือดคน แต่โบราณท่านไม่รู้เรื่องเหล่านี้ ท่านว่าเป็น “ห่า” บ้าง,  “ผีเข้าเมือง”, “พระผู้เป็นเจ้าลงโทษ”, “เราถูกของทำ”, “ยาสั่งของศัตรู” ฯลฯ
นักปราชญ์โดยมากเชื่อกันว่ากาฬโรคเริ่มเพาะตัวที่เมืองจีนก่อน(ต้นคริสต์ศตวรรษ         ที่ 14) แล้วค่อยแพร่ไปถึงยุโรปตามเส้นทางสายไหม หรือทางทะเลโดยอาศัยหนูในท้องเรือสินค้า ผ่านอุษาคเนย์, อินเดีย, และตะวันออกกลาง
ใน ค.ศ. 1347 เรือสินค้าลำหนึ่งจากตะวันออกกลางมาเทียบท่าที่อิตาลี ลูกเรือส่วนใหญ่เป็นซากศพ มีเพียงสองสามคนพอเหลือชักใบบังคับเรือเข้าปากน้ำ แต่นั้นไปโรค         นิรนามกระจายไปทั่วยุโรป และได้รับขนานนามว่า Black Death เพราะตัวจะเริ่มเน่า(เปลี่ยนสี) ก่อนที่คนไข้จะตายสนิท
ใน ค.ศ. 1348-1349 กาฬโรคเข้าถึงเมืองท่าแห่งหนึ่งในอังกฤษ แล้วระบาดทั่วเกาะในปีเดียวกัน แล้วกลับมารุกรานใหม่ในปีต่อๆไป ตัวเลขสมัยโบราณเป็นที่ถกเถียงได้เสมอ แต่เชื่อได้ว่าจำนวนพลเมืองตกอย่างน้อยหนึ่งในสาม ในบางชุมชนคนตายสองในสี่บ้าง และทั้งหมดไม่เหลือบ้าง
ชาวเมืองตายกันมากกว่าชาวชนบท เพราะเมืองสร้างกันแออัด ไม่มีที่ว่าง ในเมืองนักบวช, เจ้านาย, และประชาชนตายกันในอัตราพอๆกัน เพราะวัด, วัง, ตลาด และสลัมสร้างประชิดกัน
ในเมื่อชนชั้น“ผู้ดี”มีจำนวนน้อยกว่าสามัญชน “ผู้ดี”ตายกันในอัตราส่วนสูงกว่าสามัญชนหลายเท่าตัว เจ้านายที่พูดฝรั่งเศสจึงลดจำนวนมากกว่าไพร่ที่พูดอังกฤษ
ในศาสนจักรที่พูดภาษาละตินก็เช่นเดียวกัน บรรดานักบวชตายกันในอัตราส่วนสูงกว่าพลเมืองทั้งหมด บรรดานักพรต (Monks) ที่อยู่กันเป็นหมู่คณะในอารามก็ตายกัน          คาอาราม ส่วน“พ่อเจ้าวัด” (Parish Priests) ที่อยู่โดดเดี่ยว ต้องออกไปให้ศีลให้พรชาวบ้านจึงติดโรค(และเป็นพาหะโดยไม่รู้ตัว) ตายจำนวนมาก
ในหอระฆังวัดบ้าน Ashwell, จังหวัด Herfordshire มีจารึกขีดเขียนตามฝาเป็นภาษาละตินผิดๆ มีความว่า “ห่านี้มาครั้งแรก 1350 ลบหนึ่ง…1350 มารุนแรง, ไร้ปรานี, สุด เถื่อน, จนมีแต่ตะกอนประชาชนเหลือเล่าเรื่องนี้สู่กันฟังต่อไป”
ผู้ศึกษาจารึกสันนิษฐานว่า พ่อเจ้าวัดคงติดโรคจึงขีดเขียนความนี้ไว้ด้วยแรงเฮือกสุดท้าย แน่นอนทีเดียว “ตะกอนประชาชน” ต้องหมายถึงชนชั้นล่าง คือไพร่ที่พูดแต่ภาษาอังกฤษ
แต่นั้นไประบอบศักดินา(เกณฑ์แรงงาน) เริ่มพังสลายเพราะแรงงานหายาก เจ้านายจำเป็นต้องง้อไพร่และแย่งชิงแรงงานกันด้วยสิทธิพิเศษ, สวัสดิการ และเงินค่าตอบแทนกว่าจะได้คนมาเลี้ยงปศุสัตว์, ไถนา และเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เป็นการเสริมความสำคัญและศักดิ์ศรีให้แก่ภาษาอังกฤษของไพร่พลเมืองส่วนใหญ่

ภาษาอังกฤษฟื้นคืนชีพ
ตั้งแต่ ค.ศ. 1348-1349 เจ้านายและข้าราชการที่ถนัดภาษาฝรั่งเศสล้มตายกันเป็นจำนวนมาก
ใน ค.ศ. 1362 รัฐสภา (Parliament) ได้เปิดและดำเนินการประชุมเป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกใน 300 ปีตั้งแต่อังกฤษเสียเมืองในปี ค.ศ. 1066 เขาไม่ต้องประกาศกัน           แต่เป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะหาคนถนัดภาษาฝรั่งเศสไม่ครบองค์ประชุม
แต่นั้นไปภาษาราชการค่อยเปลี่ยนจากฝรั่งเศสเป็นอังกฤษโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีการบังคับบัญชาจากเบื้องบน
แต่วังหลวงยังรักษาโบราณราชประเพณี ต่อมาอีก 37 ปี ใน ค.ศ. 1399 พระเจ้าเฮนรีที่ 4 (ยังเป็นราชวงศ์นอร์มังดีอยู่) ตรัสกับประชาชนเป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรามีหลักฐานว่าถึงปี 1385 บรรดาวิทยาลัยฝึกเสมียนราชการ (Grammar Schools) ได้เลิกหลักสูตรภาษาฝรั่งเศสและเน้นการแปลละตินเป็นอังกฤษโดยตรง แต่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการกลับคืนชีพของวรรณคดีอังกฤษในงานของ Geoffrey Chaucer (ค.ศ. 1340-1400) ซึ่งผมอยากเรียกท่านว่า“สุนทรภู่”ของอังกฤษ
ในหนังสือ The Canterbury Tales (ประชุมนิทานนักแสวงบุญ) ท่านใช้ภาษาอังกฤษพื้นเมืองแท้ๆ ประสานคำ“ผู้ดี”ให้มีรสชาติเปรี้ยวหวานเผ็ดเค็มเพื่อล้อเลียนสังคมยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่อวดตัวว่าเป็น“ผู้ดี”

ความส่งท้าย
ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ภาษาอังกฤษฟื้นตัวเต็มที่ ในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ภาษาอังกฤษถึงยุคทอง มีการพิมพ์คัมภีร์คริสตธรรมภาษาอังกฤษฉบับแรก ตามด้วยงานของ Spenser, Shakespeare, Marlowe ฯลฯ นับไม่ถ้วน
หลัง ค.ศ. 1066 ภาษาอังกฤษ“ตาย” เงียบไปราว 300 ปีแล้วกลับคืนชีพในครึ่งหลังศตวรรษที่ 14 หลังกาฬโรคมาผลาญและพลิกคว่ำสังคม
กาลสมัยนี้ตรงกับรัชกาลพญาลิไท เมื่อภาษาไทยปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก(ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย) นี่เป็นการบังเอิญหรือ? หรือควรได้รับการศึกษาค้นคว้าต่อไป?
เป็นไปได้ไหมว่ากาฬโรคเคยมาเยือนสยามและเขย่าสังคมในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 14?

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image