คุยกันวันละเรื่อง : ‘เจ๊กาก’ ถกกับ ‘หญิงเกือก’ เรื่องลิขสิทธิ์เพลงที่กลับมาฮอตเฟร่ออีกครั้ง

ฮ้ายยยยยยย…

สุขสันต์วันแรกของครึ่งปีหลัง รวย รวย รวยรับวันหวยออกกันม่ะพวกเทอว์?

ใครรวย (กรุณาอย่าผวน) เจ๊ก็ขอดีใจด้วย ส่วนใครพลาดอย่าได้เสียใจ จำไว้ว่าไม่ได้เจ็บตามลำพัง แต่ยังมีคนส่วนใหญ่ในประเทศร่วมเศร้าไปด้วยกับเทอว์อีกเพียบ

ปลอบใจกันพอหอมปากหอมคอก็เม้าท์ต่อเลยล่ะกัน เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อวันก่อนที่ร้านกาแฟเมืองแป้โดนจับเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์หลังเปิดเพลงฟังในร้านจนพ่อค้าต้องยอมจ่ายค่าปรับ 2 หมื่นบาท เพื่อให้จบเรื่องนั้น ทำให้ ‘หญิงเกือก’ เจ้าของร้านล้างรถข้างบ้านเจ๊ นางเกิดจิตตกหดหู่ กลัวขุ่นตำรวจจับ เพราะลูกน้องนางชอบเปิดเพลงเซิ้งกันตอนล้างรถ

Advertisement

“แหม, ถ้าโดน นางควรเป็นคดีหลอกลวงต้มตุ๋นมากกว่าเรื่องลิขสิทธิ์นะยะ นางกร๊วกก!!!” เจ๊กากได้แต่คิดในใจ

ทว่าเมื่อคนเดือดร้อนมานางฟ้าอย่างเจ๊ก็ต้องช่วย นี่เลยต้องไปรวมมิตรเรื่องลิขสิทธิ์มาเหลาให้ฟังสำหรับขุ่นพี่หญิงเกือกโดยเฉพาะ

เริ่มจากความเข้าใจเดิมๆ ที่เคยแชร์กันเป็นวรรคเป็นเวร โดยอ้างจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 ว่าการเปิดเพลงแบบไม่แสวงผลกำไรโดยตรงจากการให้ลูกค้าฟังเพลงถือว่า ‘ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์’

Advertisement

ลิขสิทธิ์เพลง

ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ถูกแต่ ‘ถูกแค่ครึ่งเดียว’ นะแกรรร

เพราะจากการที่นักข่าว ‘มติชนออนไลน์’ ไปสืบจากนักกฎหมาย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ  ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายลิขสิทธิ์และที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ทั่นว่าที่ศาลฎีกายกฟ้องคดีนั้น ด้วยคำร้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ตรงกัน เหมือนแนวๆ ว่าไปขโมยของเขาแต่ถูกฟ้องฐานยักยอกทรัพย์นั่นแหละ

อย่างที่ขุ่นพี่ตี่ – กริช ทอมมัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ช่วยเสริมอย่างแข็งขันว่า “คดีนี้ที่คนเข้าใจผิด ตรงนั้นเป็นเรื่องของมาตราคลาดเคลื่อนไป 2-3 มาตรา การแจ้งความร้องทุกข์กับศาล ศาลมีหน้าที่ตัดสินไปตามสิ่งที่คุณร้องทุกข์นะ ถ้าคดีไม่ชัดก็ต้องตัดสินตามที่คุณฟ้อง”

แต่ถ้าคดีนั้นยื่นฟ้องเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 วรรคสอง บอกเลยว่ารอดยาก!!!

ด้วยระบุไว้ว่า…

มาตรา 27 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

“ร้านอาหาร พ่อครัวเปิดฟังเองในขณะที่ทำอาหารให้ลูกค้า อันนี้ไม่ผิดกฎหมายลักษณะแบบนี้เป็นการใช้ส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับลูกค้า  แต่ถ้าเป็นลักษณะผับ ออฟฟิศ มีการเปิดเพลง มีคนเข้ามาใช้บริการ ดื่มเหล้า ทานอาหาร เพลงคลอไป มีการเล่นดนตรีอันนี้ถือว่าผิดกฎหมาย 100% ถือเป็นการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น โดยปกติในการที่มีการเปิดเพลงเผื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดลูกค้าเข้ามา อันนี้ถือเป็นความผิดฐานเผยแพร่ซึ่งงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่น” นักกฎหมายไพบูลย์ย้ำ

ดังนั้นถ้าจะเปิดเพลงฟังกันเฉพาะส่วนตัว ในครอบครัวก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเปิดในร้านต่างๆ จะร้านเล็กร้านใหญ่ พึงระวัง ‘เรื่องลิขสิทธิ์’ ไว้ได้เลย เพราะไม่ว่าเป็นเพลงที่เปิดฟังจากซีดี วิทยุ หรือยูทูบก็ล้วนเสี่ยง ในเมื่อมันเป็นการเปิดเพื่อ ‘เผยแพร่ต่อสาธารณชน’

ฟังแล้วแม้หญิงเกือกจะโล่งใจไปเปลาะหนึ่ง เพราะลูกน้องเปิดเพลงฟังกันเองไม่ได้หวังชวนลูกค้ามาเซิ้งด้วย แต่ก็ไม่วายขอทางหนีทีไล่ เข้าตำราปลอดภัยไว้ก่อน

เจ๊เลยแนะนำไปซึ่งถ้านางนอยด์มากนักก็ให้ ‘จ่ายค่าลิขสิทธิ์’ ไปให้รู้แล้วรู้รอด ชอบเพลงค่ายไหนก็ไปจ่ายกับค่ายนั้น อย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ที่มีปัญหาบ่อยๆ ก็คลิกเข้าไปดูเรตราคาได้เลยจ่ะที่  http://www.gmm-mpi.com/rate.php

และนี่คือตัวอย่าง…

ลิขสิทธิ์เพลง1

แต่ถ้าไม่อยากเสียสตางค์ง่ายสุดคือ ‘ไม่ต้องเปิด’

เอิ่มมมม อันนั้นโหดไปเหรอ? งั้นก็เปลี่ยนไปเปิดเพลงที่เปิดได้สิอย่างพวกเพลง  ‘Public Domain’ หรือ ‘Creative Commons’ 

เอาจริงๆ ตอนแรกเจ๊ก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร แต่ดีที่ขุ่นพี่ Drama-addict ชี้ทางสว่างอธิบายให้จึงต้องขอบคุณมาไว้ ณ ที่นี้

โดย ‘Public Domain’ หมายถึงสมบัติสาธารณะที่ไม่มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง อาจเพราะคนแต่งไม่ขอเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ คนแต่งเสียชีวิตไปแล้ว หรือเพลงนั้นไม่เคยเข้าสู่สารบบเพราะเกิดมาก่อนเรื่องลิขสิทธิ์จะถือกำเนิด

ส่วน ‘Creative Commons’ พี่จ่าดราม่าบอกไว้ว่า “สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ คือลิขสิทธิ์คุ้มครองอีกประเภทที่ค่อนข้างยืดหยุ่นและอนุญาตให้เอาไปเผยแพร่หรือดัดแปลงได้ในระดับนึง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เจ้าของผลงานระบุไว้ (แต่ส่วนมากแค่ให้เครดิตก็โอเคละ)”

และถ้าใครอยากใช้ก็เข้าไปเสิร์ชในยูทูบโดยพิมพ์คำว่า  ‘Public Domain’ หรือ ‘Creative Commons’ ได้เลย

อ่อ หรือขี้เกียจเสิร์ชหาพี่ๆ ทีโบน (T-Bone) และ Byrd & Heart เขาฝากมาบอกด้วยนะว่าให้หยิบเพลงเขาไปเปิดได้ฟรีๆ แบบไม่เสียค่าลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์เพลง2

 

ลิขสิทธิ์เพลง3

งานนี้แม้จะเปลี่ยนแนวไปหน่อยแต่มีเพลงให้ลูกน้องฟังฟรียังงี้ หญิงเกือกคงสบายใจขึ้น ซึ่งเอาจริงๆ เจ๊ว่าการทำอะไรให้ถูกกฎ ถูกระเบียบมันก็สบายใจไร้กังวล

ถึงอย่างนั้นก็หวังว่าค่าลิขสิทธิ์ที่ค่ายเพลงเก็บได้จะถูกแบ่งให้นักแต่งเพลง นักร้องอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามสัดส่วน เพราะเห็นที่พี่ปุ้ม – พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา แห่งวงตาวัน ออกมาจวกถึงผู้บริหารค่ายเพลงแล้วบอกเลยว่าคิดหนัก

โดยส่วนหนึ่งที่พี่ปุ้มบอกคือ “คือด่าไอ้คนที่มันขโมยจริง ๆ ก็ว่าไปอย่างนะ เช่น ไอ้พวกเทปผีซีดีเถื่อน.. ท่านพูดมาเหมือนเห็นใจชะตากรรมพวกผม หรือคนที่สร้างสรรค์เพลงเหลือเกิน “ไปขโมยเขา คุณไม่เห็นใจนักแต่งเพลงหรือ?..” โห ผมน้ำตาเกือบไหลน่ะ.. ถ้าพวกท่านเห็นใจพวกผมจริง ๆ นะครับ พวกท่านก็คืนสิทธิผู้ประพันธ์ให้พวกผมสิครับ ท่านจะได้ไม่ขึ้นชื่อว่าขโมยเหมือนที่ท่านด่าคนอื่น ได้ไหมล่ะ? เพราะท่านไม่ได้เป็นคนแต่งซะหน่อย ทำไมสิทธิไปอยู่กับท่านล่ะ พิลึกไหม?

ทั้งหมดนี่น่ะ คุณห่วงแต่กำไรของคุณ ห่วงการขาดทุนกำไร เพราะที่ลงทุนไปน่ะคุณได้คืนหมดแล้ว แต่เวลาคุณออกปกป้องผลประโยชน์ของพวกคุณ พวกคุณก็เอาพวกผมมาอ้างทุกที แหกตาดูให้ดีสิ คนที่รวยสะดือปลิ้นมันพวกผมหรือพวกคุณ ถ้าจริงใจนะ สักวันลองแจงมาหน่อย ที่จัดเก็บน่ะ เก็บจากไหนได้บ้าง? แล้วแบ่งพวกผมเท่าไหร่? ไปปรับใครเขาน่ะ ได้มาเป็นหมื่นเป็นแสน มาที่พวกผมเท่าไหร่? เก็บ public perform น่ะ คุณได้เท่าไหร่? พวกผมได้เท่าไหร่? อยากรู้มานานแล้ว เอาแบบแถลงข่าวมีสื่อมวลชนรับรู้ก็ยิ่งดีนะ”

แหม, น้องกากก็อยากรู้เหมือนกันกับพี่ปุ้มเป๊ะเลยค่ะ

ปล.ขอกราบงามๆ ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจากเฟซบุ๊กผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายที่ได้เอ่ยนามมา ได้โปรดอย่าคิดค่าลิขสิทธิ์เลยเพราะอย่าว่าแต่ 20,000 แค่ 2,000 เจ๊ก็ยังไม่มีเลยจ้า แบบว่าช่วงนี้ช็อต

บัยย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image