ฟิลิปปา เกรกอรี่ แปรเล่ห์รักราชวงศ์ สู่นิยายอิงประวัติศาสตร์

หนึ่งในประเภทงานวรรณกรรมที่เราคิดว่าเขียนยากมากๆ ประเภทหนึ่งคือ “นวนิยายอิงประวัติศาสตร์”

เพราะนอกจากจะต้องใช้พลังทางการเขียนแล้ว การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่ทั้งหนักหนาและละเอียดอ่อนอย่างมาก

ทว่าสำหรับ ฟิลิปปา เกรกอรี่ แล้ว รักเร้น ซ่อนรัก และชีวิตที่อยู่ระหว่างบรรทัดของประวัติศาสตร์ในราชวงศ์อังกฤษ คือความหลงใหลอย่างหนึ่งในชีวิตเธอ

ฟิลิปปา เกรกอรี่ นักเขียนชาวอังกฤษวัย 62 ปี เริ่มเขียนนิยายตั้งแต่ปี 1987 เกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เธอมีผลงานนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ราว 24 เรื่อง แทบทุกเรื่องโด่งดังอย่างมาก และถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นทั้งซีรีส์ฉายทางโทรทัศน์และภาพยนตร์ เล่มดังสุดสุดอย่าง The Other Boleyn Girl เคยชนะรางวัลนวนิยายโรแมนติกยอดเยี่ยมแห่งปี จาก The Romantic Novelists’ Association นิตยสารออดิโอไฟล์มอบสมญานามให้เกรกอรี่ว่า “ราชินีแห่งนิยายประวัติศาสตร์อังกฤษ”

Advertisement

ผลงานของเกรกอรี่ที่โด่งดัง ส่วนใหญ่เป็นนวนิยายที่ใช้ช่วงเวลาราวศตวรรษที่ 16 ของราชวงศ์ทิวดอร์ ซึ่งเป็นห้วงที่ราชวงศ์อังกฤษมีการขับเคี่ยวแย่งชิงอย่างข้มข้น ทั้งทางศาสนจักรที่แตกแยกอย่างรุนแรงเพราะความศรัทธาอันแตกต่าง และการต่อสู้ระหว่างตระกูลชั้นสูงแห่งอาณาจักรเพื่อสิทธิในราชบัลลังก์ มาเป็นฉากหลัง เกรกอรี่ได้ให้สัมภาษณ์ในเดอะ เทเลกราฟว่า เธอสนใจประวัติศาสตร์อังกฤษช่วงนี้อย่างยิ่ง เพราะมีเรื่องราวอีกมากมายที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกไว้ เป็นเรื่องราวชีวิตบางส่วนที่เร้นลับของใครหลายคนที่ครั้งหนึ่งเคยมีอำนาจในระดับเปลี่ยนแปลงโลกได้ และตัวละครสำคัญของเธอมักเป็น “ผู้หญิง”

“จริงอยู่ที่กษัตริย์ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่เบื้องหลังทุกความวุ่นวายของการแย่งชิงอำนาจในประวัติศาสตร์คือผู้หญิง” เกรกอรี่ เจ้าของผลงาน สงครามรัก อำนาจ ราชบัลลังก์ (The Other Boleyn Girl), มรดกเลือดตระกูลโบลีน (The Boleyn Inheritance), หนึ่งนารีลิขิตบัลลังก์ (The Queen’s Fool) กล่าวกับเดอะ เทเลกราฟ

เธอเล่าว่า ในประวัติศาสตร์แบบแผนที่เผยแพร่กันโดยทั่วไปนั้น เรื่องราวชีวิตของผู้หญิงต่อราชบัลลังก์ มักจะถูกเขียนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและรองรับการสถานะของผู้ชาย ไม่ว่าจะในฐานะของชู้รัก ภรรยา มารดา หรือแม้แต่ลูกสาวก็ตาม ซึ่งจากการศึกษาของเธอที่ก้าวข้ามประวัติศาสตร์แบบแผนไปสู่ประวัติศาสตร์ซุบซิบ เธอพบว่าท่ามกลางความงดงามของรอยยิ้มแสนหวาน พวงแก้มสีชมพูเปล่งปลั่ง ดวงตาที่พราวระยับราวดวงดาว มือของพวกเธอล้วนแดงฉานไปด้วยเลือด ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่มีตัวละครเด่นเป็นผู้หญิง และพยายามศึกษาความลับในความรักของพวกเธอ ที่แทบจะไม่เคยถูกจารึกไว้ในอย่างแท้จริง ทั้งที่ประวัติศาสตร์ระดับชาติของอังกฤษหลายอย่างในห้วงเวลานั้น เกิดขึ้นจากแรงขับของรักเร้นลับที่ทั้งอ่อนหวานและขมขื่น

Advertisement

แม้จะเป็นนวนิยายรักโรแมนติก แต่เกรกอรี่ยืนยันที่จะเน้นความถูกต้องของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในภาพรวม แต่ก็จำเป็นที่ต้องเพิ่มสีสันให้เรื่องราวด้วยการตีความใหม่ๆ หรือขยายเรื่องเพิ่มจากเพียงหนึ่งบรรทัดในประวัติศาสตร์ และความสำเร็จอย่างสูงของเธอ กลายเป็นประเด็นในนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์บางคนรู้สึกไม่สบายใจ แต่เกรเกอรี่บอกว่านั่นเป็นวิธีคิดแบบอนุรักษนิยม

“ฉันเคารพข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เสมอ สิ่งที่ฉันทำคือการใส่ชีวิตเข้าไปในเรื่องราวของอดีตและทำให้เรื่องที่ตายไปแล้วน่าสนใจขึ้นด้วยซ้ำ เคยมีนักอ่านหลายคนบอกฉันว่านวนิยายของฉันทำให้พวกเขาสนใจประวัติศาสตร์ช่วงนั้นมากขึ้น และก็ไปหาความรู้เพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์ช่วงนั้นพวกเขาก็เคยเรียนมาแล้วตอนประถมศึกษา แต่มันก็ไม่ได้สร้างแรงดึงดูดให้เขาได้เลย” เธออธิบาย

เธอยังเล่าอีกว่า ไม่เคยอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์ของนักเขียนคนอื่นเลย เธออ่านเฉพาะงานประวัติศาสตร์ที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น ซึ่งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่เธอชื่นชอบคือ Alison Weir เพราะเป็นนักเขียนที่ไม่เคยละเลยทอดทิ้งผู้หญิงในประวัติศาสตร์ไว้ในมุมเล็กๆ ของการศึกษา งานของเธอไม่ตัดสินความถูกผิดหรือใส่ความรู้สึกใดๆ เป็นการรายงานของเท็จจริงตามที่ศึกษามา ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีมากสำหรับเกรกอรี่ อย่างไรก็ตามเธอชอบอ่านนวนิยายยุคโมเดิร์น กับงานคลาสสิก นักเขียนที่เธอชื่นชอบ คือ George Eliot, Jane Austen และ E.M. Forster

นิยายเล่มล่าสุดของเธอที่ สนพ.มติชน พิมพ์คือ “เล่ห์รัก บัลลังก์ราชินี” (The Virgin’s Lover) แปลโดย มณฑารัตน์ ทรงเผ่า ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวความรัก ความริษยา และการขับเคี่ยว เพื่อครอบครองอำนาจในราชสำนักราชินีอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งนำไปสู่โศกนาฏกรรมสะเทือนใจ

ราชินีอลิซาเบธที่ 1 ทรงขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากราชินีแมรี่ที่ 1 และเป็นราชินีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์โลก โดยปกครองประเทศยาวนานถึง 45 ปี และนำอังกฤษเข้าสู่ช่วงเวลาที่ได้รับการขนามนามว่ายุคทองของอังกฤษ โดยตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้นทรงตัดสินพระทัยไม่อภิเษกสมรสกับชายใดเลย โดยมีพระราชดำรัสอันเป็นที่จดจำคือ “เราได้แต่งงานกับประเทศอังกฤษเรียบร้อยแล้ว” จึงได้รับสมญา ราชินีผู้ทรงพรหมจรรย์ แต่การไม่อภิเษกสมรสก็ไม่ได้แปลว่าจะทรงไม่มีคนรัก

ทว่าความรักของพระองค์กลับต้องเป็นความลับ เพราะนอกจากราชินีเยาว์วัยจะต้องคิดถึงแผ่นดินมากกว่าตนเอง เพราะตอนที่พระองค์ขึ้นครองราชย์นั้น อังกฤษกำลังเผชิญภัยคุกคามจากฝรั่งเศสและการต่อต้านของชาวคาทอลิกแล้วนั้น “โรเบิร์ต ดัดลีย์” ขุนนางหนุ่มรูปงามผู้เป็นทั้งพระสหายและคนรักลับๆ ยังมีพันธะกับเอมี่ ดัดลีย์ ภรรยาผู้ภักดี ซึ่งทำให้เธอต้องเจอการทรยศอย่างร้ายกาจ ทั้งจากสามีที่รักและสตรีผู้ทรงอำนาจที่สุดในแผ่นดิน

เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่สนุกมาก อ่านได้รวดเดียวจบ เกรกอรี่รักษาสมดุลระหว่างข้อเท็จจริงและการเขียนแบบโซปโอเปร่าได้อย่างสมดุล ทั้งที่เราเองก็รู้อยู่แล้วว่าเรื่องราวจะลงเอยแบบไหนอย่างไรตามประวัติศาสตร์ แต่ความสนุกแบบโครงกระดูกในตู้ของกลเกมชิงอำนาจที่มาพร้อมรักลับรักเร้น ก็ทำให้วางหนังสือเล่มนี้แทบไม่ลง

สมฝีมือสมญา “ราชินีแห่งนิยายประวัติศาสตร์อังกฤษ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image