ไวซ์-vice (รองประธานาธิบดี) ไม่ต้องอภิปรายไว้วางใจ

การมีโอกาสได้ชมหนังฮอลลีวู้ดทำเรื่องอัตชีวประวัติบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะในวงการเมืองออกมาให้ดู ถือเป็นประโยชน์ยิ่งยวดต่อทั้งนักดูหนัง ผู้เรียนรู้ จนแม้คนทั่วไป ที่ใช้เวลาเพียงชั่วโมงครึ่งสองชั่วโมง ก็สามารถเข้าใจเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญๆต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคลนั้นๆได้

แทนที่ต้องใช้เวลาอ่านหนังสือหนาๆสี่ห้าเล่ม หรืออยู่ในห้องเรียนหลายคาบหลายคราวเพื่อศึกษา

ฮอลลีวู้ดใช้เรื่องจริงทำหนังน่าดูมาแล้วไม่รู้เท่าไหร่ ยิ่งเกี่ยวกับตัวตนคนจริงๆยิ่งมากมายเกินจดจำ

และด้วยธรรมเนียมค่านิยมของเขา แม้หนังเหล่านั้นจะตีความ วิพากษ์วิจารณ์ ตามเจตนาที่ผู้สร้างวางไว้ แต่ข้อเท็จจริงจะถูกเสนออย่างตรงไปตรงมา ผู้ชมสามารถใคร่ครวญความน่าเชื่อถือการนำเสนอนั้นได้เอง

Advertisement

เพราะเมื่อหนังเป็นสื่อสาธารณะ จึงยากที่จะบิดเบือนข้อมูลชนิดกลับดำเป็นขาวให้คนโห่ ตรงกันข้าม มักจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่คนไม่รู้หรือรู้น้อย ช่วยให้หนังตื่นตาตื่นใจขึ้นด้วยซ้ำไป หนังเหล่านี้จึงน่าชมนัก

อย่างปี 2538 เอชบีโอ ทำหนังใหญ่สำหรับแพร่ภาพทางโทรทัศน์เรื่องประธานาธิบดี ทรูแมน ผู้สั่งทิ้งระเบิดปรมาณูลงฮิโรชิมาและนางาซากิ ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำได้น่าดูจนนักแสดงนำ แกรี่ ไซนีส​ ซึ่งโด่งดังจาก ฟอเรสท์ กัมพ์ คว้ารางวัลดารานำไปมากมาย จาก “ลูกโลกทองคำ” จาก “ไพร์มไทม์ เอมมี่” และจาก “สกรีน แอคเตอร์ส กิลด์” ที่แสดงฝีมือได้ฉกาจฉกรรจ์

จากบทอดีตพนักงานขายรองเท้า ผู้ถ่อมตัวและซื่อสัตย์ ซึ่งกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 33 ผู้ไม่สนใจเสียงวิจารณ์หรือคะแนนนิยม เมื่อเดินทางไปเคารพศพเจ้าพ่อท้องถิ่นที่เคยช่วยเหลือตนมาก่อน

Advertisement

และปีเดียวกันนั้นเอง ผู้กำกับ โอลิเวอร์ สโตน ซึ่งทำหนังระดับตุ๊กตาทองมาแล้วหลายเรื่อง ก็จับชีวิตอดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 37 มาทำเรื่อง นิกสัน โดยได้ดาราตุ๊กตาทอง แอนโธนี ฮอปกินส์ มาแสดงนำ หนังเรื่องนี้ยิ่งน่าดูน่าสนใจเข้าไปอีก เนื่องจากนิกสันเป็นคนที่รู้กันว่าเจ้าเล่ห์ ขี้โกง แม้ความเก่งกาจด้านการต่างประเทศยุคสงครามเย็น จะช่วยให้ชนะ จอร์จ แมคกัฟเวิร์น จากเดโมแครท มาด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้งห่างกันมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ก็ตาม

nixon

หนังเหล่านี้ช่วยให้เห็นภาพเต็มของคน ประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคมได้ถ้วนทั่ว คุ้มเกินเวลาชม

และหนังประเภทนี้ ขอประทานโทษ ชาติหน้าก็ไม่รู้จะสร้างขึ้นได้ไหมในประเทศแบบไทยๆของเรา

โดยเฉพาะเรื่องของคนเช่นที่กำลังจะกล่าวถึง ในหนัง ไวซ์ ซึ่งสร้างเมื่อสองปีที่แล้ว 2561

หนังออกมาตีแผ่เรื่องราวและบุคลิกตัวละครแต่ละตัวอย่างไม่เกรงอกเกรงใจผู้ใด (เพราะไม่อย่างนั้น ไม่รู้จะทำออกมาทำไม) และนักแสดงทั้งหลายก็เล่นกันอย่างได้รสชาติ จนเข้าแถวชิงรางวัลต่างๆกันทั่วถึง

ไม่ว่า คริสเตียน เบลล์ แบทแมนที่ต้องกินเพิ่มน้ำหนักจนหน้าบวม เสริมพุงอีกต่างหาก เล่นเป็นรองประธานาธิบดี ดิค เชนีย์ ผู้คิดถึงอำนาจเบ็ดเสร็จมาตั้งแต่เริ่มเข้าวงการเมือง เอมี่ อดัมส์ สุภาพสตรีหมายเลข 1 และ แซม รอคเวลล์ เล่นเป็นจอร์จ บุช จูเนียร์ ประธานาธิบดี

เอมี่ อดัมส์

หนังเรื่องนี้ชิง 8 ตุ๊กตาทองออสการ์ ได้มาตัวเดียวคือแต่งหน้าทำผม ชิงลูกโลกทองคำ 6 ลูก ได้ลูกเดียวคือดารานำ คริสเตียน เบลล์ ชิงตุ๊กตาทองอังกฤษบาฟตา ได้ตัวเดียว ลำดับภาพยอดเยี่ยม

ความที่ผู้กำกับ อดัม แมคเคย์ เขียนบทหนังเป็นหลักมาก่อน ทั้งที่เป็นนักแสดงและเล่นตลก โดยเฉพาะมีคณะร่วมกับ สตีฟ ฟาร์เรลล์ ที่ลากมาเล่นเรื่องนี้ด้วยในบท โดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหม ที่เคยเป็นนายของเชนีย์มาก่อนตอนแรกๆ จนกลายเป็นคอหอยลูกกระเดือกกันมา

หนังเรื่องนี้จึงทั้งจริงจัง ทั้งเสียดสีให้เฮฮาเอาเจ็บๆกันแบบโจ๋งครึ่ม จึงเข้าชิงลูกโลกทองคำในสาขา หนังตลกหรือหนังเพลง ไม่ใช่สาขาหนังชีวิต (ดราม่า)

ด้วยความพร้อมของข้อมูล ผู้กำกับซึ่งเขียนบทเอง จึงเรียบเรียงเนื้อหาออกมาตรงเผง ไม่เบี่ยงเบน จากอดีตของชายหนุ่มซึ่งถูกเมียผู้มีความรู้ความสามารถมากกว่าจะเป็นเพียงแม่บ้าน บังคับให้เลิกเหล้า ก้าวสู่ผู้ช่วยหรือคนรับใช้นักการเมือง เรียนรู้ตั้งแต่ครับๆๆอย่างเดียว จนออกความเห็นพลิกแพลงนานา ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้คนพอใจ ขณะที่มุ่งความสนใจไปยังกฎหมายซึ่งกำหนดอำนาจบริหาร อำนาจปกครอง ว่าสามารถใช้อย่างสูงสุดได้ถึงระดับไหน จึงกลายเป็นรองประธานาธิบดีที่รู้ช่องว่าง ลดเลี้ยวกฎกติกา ไม่ถูกตรวจสอบอะไรเป็นส่วนตัวเลย พร้อมกันนั้นก็ใช้อำนาจแทนประธานาธิบดีอย่างลึกล้ำ กว้างขวาง จนปั้นเรื่องเท็จเกี่ยวกับอาวุธเคมีชีวภาพร้ายแรงในอิรัก สร้างสงครามขึ้นหลอกหลวงประชาคมโลกได้

หนังเดินเรื่องอย่าง “ดราม่า” และจริงจัง จนพอสลับทีเล่นเข้าไป ผู้ชมแทบตั้งตัวเฮฮาไม่ทัน ก่อนจะค่อยๆคุ้นกับวิธีนำเสนอของผู้กำกับ

เช่นเกือบผ่านชั่วโมงแรก ตอนเชนีย์ร้างสภาช่วงการเมืองเปลี่ยนแปลง เมื่อ จิมมี่ คาร์เตอร์ ขึ้นมา ผู้กำกับใช้วิธีจบของหนังประเภทเรื่องจริงทั้งหลาย ที่มักขึ้นตัวหนังสือบรรยายหลายย่อหน้าว่า ตอนนี้เชนีย์ไปทำอย่างนั้น เมียไปทำอย่างนี้ ฯลฯ แบบบอกเรื่องที่เหลือของตัวละครก่อนจบ พร้อมทะยอยขึ้นชื่อนักแสดงว่าใครเล่นเป็นตัวอะไร จนผู้ชมชักไม่แน่ใจว่า เอ๊ะ, หนังจบแล้วเหรอ แต่ไม่ใช่

หนังดำเนินเรื่องต่อไป อย่างเข้มข้นขึ้นทุกขณะ เมื่อบุช จูเนียร์มาชวนไปร่วมสมัครรับเลือกตั้ง ในฐานะรองประธานาธิบดี ซึ่งเมียคัดค้านไม่เห็นดีด้วย เพราะเธอเห็นว่าเป็นตำแหน่งที่ว่างเปล่า แต่เธอไม่เข้าใจว่าสามีเธอเห็นช่องว่างการใช้อำนาจสูงสุด มานานแล้ว และรู้ว่านี่คือโอกาสที่แท้จริง

หนังไม่บอกว่าตอนนั้นสามีจูงใจภรรยาอย่างไร แต่ผู้กำกับซึ่งเขียนบทเอง ใช้ภาษา เชคสเปียร์ ใส่ปากตัวละครทั้งสองตอนคุยเรื่องนี้กันอยู่บนเตียงเฉยเลย

เชนีย์ตกลงกับบุช จูเนียร์ว่า ให้ทำแต่เรื่องเป็นหน้าเป็นตาใหญ่ๆเถอะ เขาจะรับผิดชอบเรื่องเล็กน้อย จุกจิก รายละเอียดเยอะแยะทั้งหลายเอง อย่างเช่นกลาโหม ความมั่นคง ฯลฯ อะไรอย่างนี้ ถ้าเห็นด้วย เขาก็จะยอมร่วมหัวจมท้าย บุชน้อยก็เลยชอบใจ โอเค

หนังแสดงการใช้อำนาจถึงขีดสุด (เกินมนุษย์มนา) ของเชนีย์ จนดูแล้วถึงกับนึกกลัวขึ้นได้ว่า หากรัฐบาลไหนมีผู้นำทำได้ขนาดนี้ (ปั้นเรื่องเท็จขึ้นสร้างสงครามตะวันออกกลาง – โดยที่ตัวเองเป็น ซีอีโอ บริษัทน้ำมันอยู่ด้วย – ขนาดให้นายพล โคลิน พาวเวลล์ ไปโกหกเรื่องอาวุธเคมีชีวภาพในสหประชาชาติ) ถ้าคิดจะใช้ไวรัสแพร่เชื้อหวัดร้ายแรงใส่ที่ไหนให้ระบาดขึ้นสักแห่ง ก็คงทำได้ง่ายๆ

ผู้กำกับแมคเคย์ไม่ยั้งมือเลย สร้างฉากเชนีย์กับพลพรรคไปกินอาหารในภัตตาคาร มีดารารับเชิญ อัลเฟรด โมลินา ศาสตราจารย์ซึ่งมี 4งวงเหล็กมฤตยูงอกกลางหลังใน สไปเดอร์แมน 2 โผล่เข้ามาเป็นบริกรฉากเดียว เสนอรายการอาหารประเภท เมนูทำร้ายคน ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สอดส่องผู้คน เบียดเบียนทุกสรรพสิ่ง ฯลฯ ท่านทั้งหลายจะเลือกกินอะไรดี เชนีย์บอกว่า เอามาหมดเลย

บริกรเก็บเมนู รับคำ “ เลือกได้ดีครับ “ (เอ็กซเซลเลนท์ ชอยซ์ – excellent choice) – ฮาาาาา…

ข้อน่าชมของหนังฮอลลีวู้ดที่ทำเรื่องจริงมีอีกประการคือ การคัดเลือกนักแสดง จะต้องหาคนที่หน้าตาคล้ายคลึงตัวจริงให้มากที่สุด เพื่อว่าแต่งหน้าเข้าไปแล้ว ผู้ชมจะยิ่งได้อารมณ์ร่วม

คริสเตียน เบลล์

เบลล์ ​(เชนีย์) ฝึกจนบุคลิก ท่าทาง กลมกลืนทั้งเรื่อง ถ้าไม่เจาะถ่ายใบหน้าระยะใกล้ ก็แทบจะไม่เห็นเค้ามนุษย์ค้างคาว รอคเวลล์​ (บุชน้อย) ออกฉากแรกเกือบจะเหมือนสนิทเลย เล่นเป็นประธานาธิบดีที่ไร้สติปัญญา น่าสงสาร ให้รองประธานาธิบดีหลอกใช้ จนได้ชิงหลายรางวัลที่ว่า ไทเลอร์ เพอร์รี (พาวเวลล์) ก็หน้าตาคล้าย ให้สัมภาษณ์ตอนหลังว่า วันโกหกในสหประชาชาติ เป็นวันซึ่งข่มขื่นที่สุด และฟาเรลล์ (รัมสเฟลด์) ถ้าไม่ติดที่คุ้นกับหน้าตาจำอวด ก็ถือว่าเล่นได้ดี

แซม รอคเวลล์

ยังมีตัวละครพิศดารอีกตัว เป็นทหารผ่านศึกที่คอยออกมาให้ความเห็นถึงเชนีย์ จนเดาทางไม่ถูก ท้ายที่สุดกลายเป็นผู้ช่วยชีวิตเชนีย์ไปได้อย่างน่าพิศวงงงงวย

หนังให้เชนีย์พูดก่อนจบว่า ไม่เห็นว่าผิด และไม่เสียใจ เพราะได้ทำหน้าที่ในฐานะที่ถูกเลือกเข้ามา อย่างเต็มกำลังสามารถแล้ว ให้คนอเมริกันได้นอนหลับเป็นสุขทุกคืน (ฟังคุ้นๆไหม)

สุดท้ายเป็นฉากสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของชาวบ้าน ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่า ต้องมีสองคนที่เห็นต่าง ลุกพรวดพราดขึ้นฟาดปากกันนัวเนียตามธรรมเนียมการเมืองเรื่องของกู

แบบนี้ แถวนี้สร้างให้ดูได้ไหม.

อารักษ์

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image