หนอนอ่านนัว : ประภัสสร์ ชูวิเชียร ศิลปะกรุงธนฯ ก็ต้องมี #ภาพเขียนสีก็ต้องเซฟ

หนอนอ่านนัว : ประภัสสร์ ชูวิเชียร ศิลปะกรุงธนฯ ก็ต้องมี #ภาพเขียนสีก็ต้องเซฟ

หนอนอ่านนัว : ประภัสสร์ ชูวิเชียร ศิลปะกรุงธนฯ ก็ต้องมี #ภาพเขียนสีก็ต้องเซฟ

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงมาก ที่ยังส่อท่าทีไม่มีคำว่าจบง่ายๆ สำหรับวิวาทะเขายะลา ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรคนก่อนลงนามหั่นเขตโบราณสถานให้ลดลงหลักร้อยไร่ อ้างช่วยอุตสาหกรรมเหมืองหินที่ขาดแคลน และประเด็นความมั่นคง ทำเอาประชาชนไทยร่วมเซฟภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์บนภูเขาดังกล่าวกันยกใหญ่ด้วยความห่วงใยในมรดกชาติ

รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี รั้วศิลปากร คือนักวิชาการท่านแรกๆ ที่ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวอย่างน่าสนใจ ได้รับยอดไลค์ยอดแชร์ล้นหลาม

ศิลปะกรุงธนบุรี

ตัดฉากมายังผลงานล่าสุด ที่เหล่าหนอนน้อยสายฟื้นฝอยประวัติศาสตร์พลาดไม่ได้ นั่นคือ ‘ศิลปะกรุงธนบุรี’ ที่เจ้าตัวถ่อมตนอย่างอ่อนน้อมว่า เล่มนี้ไม่ถึงขั้นมีคุณูปการที่ต้องเชิดชู แต่ตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นหลักฐานในการเริ่มศึกษาศิลปะสมัยกรุงธนบุรีอย่างไม่ใช่ ‘ข้อสรุป’ ทว่า เป็นการ ‘เปิดประเด็น’ เกี่ยวกับศิลปกรรมและสถานที่ซึ่งมีร่องรอยด้านงานช่างในห้วงเวลา 15 ปี ในยุคพระเจ้าตาก

Advertisement

ครั้นถามว่าทำไมคนไทยถึงต้องอ่าน เจ้าตัวบอกว่า เพราะคนไทยส่วนใหญ่เรียนรู้ประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีผ่าน ‘สงคราม’

“หลายคนอาจไม่ทราบว่าเรากู้บ้านกู้เมือง สร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นมาอย่างไรโดยใช้กระบวนการด้านศิลปวัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งปรากฏร่องรอยบางอย่างว่าคนในช่วง 15 ปีนั้น กษัตริย์ จนถึงพระสงฆ์ และขุนนาง ทุกคนมีส่วนในการฟื้นฟูบ้านเมืองด้วยกระบวนการด้านวัฒนธรรมอย่างชัดเจน”

เจาะลึกลงไปอีกขั้น ว่าหน้าไหน บรรทัดใด อ่านข้ามไม่ได้เด็ดขาด รศ.ดร.ประภัสสร์ขอเวลาคิด 5 นาที แล้วชวนเปิดไปยังช่วงท้ายของหนังสือที่เขียนสรุปไว้ในหน้า 187 ความตอนหนึ่งว่า

Advertisement

‘การฟื้นฟูและรักษาศิลปวัฒนธรรม เช่น การปฏิสังขรณ์วัดเก่า กระทั่งเริ่มสร้างงานประณีตศิลป์เพื่อศาสนาตลอดระยะเวลาการเป็นราชธานีของกรุงธนบุรี เท่ากับเป็นการสืบอายุงานช่างเพื่อให้เป็นรากฐานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในศิลปรัตนโกสินทร์อันงดงามมาถึงปัจจุบัน ดังนั้น 15 ปีของกรุงธนบุรี จึงไม่ใช่ช่องว่างที่นิ่งสนิททางประวัติศาสตร์ศิลปะไทย อย่างที่เราเคยเข้าใจกันมาก่อน’

อ่านแค่นี้ก็มีความ ‘อิน’ และ ‘ฟิน’ มาก จนอยากพุ่งไปหามาอ่านให้ครบถ้วนทั่วทุกตัวอักษร

ย้อนกลับมายังปมฮอตเขายะลา ก็พาให้ต้อง ‘ขุดกรุ’ หนังสือเก่าอย่าง ‘สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย’ ของ ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี บิดาแห่งโบราณคดียุคบรรพกาลขึ้นมาปัดฝุ่นอ่านกันอีกครั้ง แม้ปัจจุบันข้อมูลใหม่ๆ จะมากมาย รุดหน้า ทว่า หนังสือเล่มนี้ก็เปรียบเสมือนคัมภีร์ยุคบุกเบิกที่หยิบขึ้นมาย้อนอ่านได้ไม่รู้เบื่อ

เป็น 2 เล่ม 2 ยุคสมัยที่หนอนสัญชาติไทยต้องหามาอ่านกันให้นัว

ดุสิตา รชตวิมาน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image