โรคระบาด (Contagion) หนังที่คนนึกถึงมากที่สุดวันนี้

เมื่อ 9 ปีก่อน (2554) หนังฮอลลีวู้ดชื่อเรียบๆ เรื่องหนึ่ง “คอนเทเจี้ยน” หรือการแพร่ระบาด อาจเป็นหนังเขย่าขวัญสั่นประสาทธรรมดาๆ สักเรื่อง เหมือนหนังที่สร้างมาให้คนสนุกตื่นเต้นเรื่องอื่นๆ แต่มาวันนี้ วันที่ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) แพร่กระจายไปทั่วโลกราวกับไฟลามทุ่ง คร่าชีวิตผู้คนไปหลายหมื่น และยังป่วยติดเชื้ออยู่ในประเทศต่างๆ อีกถึงหลายแสนคน จึงมีผู้นึกถึงหนังเรื่องนี้ขึ้นมา มีการพูดถึงและเล่าเรื่องให้ฟังกันในสื่อสาธารณะหนาหูหนาตา

​ทำนองทำนายอนาคตได้ล่วงหน้าอย่างชวนพิศวง

กลายเป็นหนังซึ่งทำสถิติเช่าดูกันใน “ไอจูน” สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอยากรู้ว่าหนังบอกอะไรบ้าง

​จะว่าไปหนังทำนองนี้มีให้ชมมาแล้วเป็นระยะ โดยเปลี่ยนความคิดหลักจากสงครามล้างโลก ด้วยระเบิดปรมาณูในหนังยุคทศวรรษ​ 50 (2493) และ 60​ (2503) มาเป็นจุลินทรีย์พิฆาตที่มองไม่เห็น

Advertisement

​ย้อนกลับไปปี 2514 หนังเรื่อง “ดิ อันโดรมีดา สเตรน” (The Andromeda Strain) ซึ่งทำจากหนังสือของ ไมเคิล ไครช์ตัน เจ้าของ “จูราสสิค ปาร์ค” เรื่องของดาวเทียมที่ระเบิดเหนือเมืองเล็กๆในอริโซนา และคร่าชีวิตคนทั้งหมู่บ้านไปโดยไม่รู้สาเหตุ จนคณะนักวิทยาศาสตร์เข้าไปสืบค้น จึงพบไวรัสที่มาจากอวกาศซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการระเบิดของดาวเทียม หนังทำได้ดีจนถูกเสนอชิง 2 ตุ๊กตาทองออสการ์ กำกับศิลปกับลำดับภาพ

ที่ทำให้ผู้ชมสนใจหนังเรื่องนี้อีกประการคือผู้กำกับ โรเบิร์ท ไวส์ เจ้าของงานลือลั่นหลายเรื่องเช่น
“เวสท์ไซด์ สตอรี่”(2504) “เดอะ ซาวน์ด ออฟ มิวสิค”(2508) “สตาร์ เทรก”(2522) เป็นต้น

​ซึ่งล่วงลับไปแล้วด้วยวัย 91 ในปี 2548

ตัวอย่างอีกสักสองเรื่องก็เช่น ในปี 2538 “​12 มังกี้ส์” (12 monkeys) เมื่อนักโทษ บรูซ วิลลิส อาสาย้อนเวลากลับไปหาสาเหตุของไวรัสที่กำลังกวาดล้างโลก เรื่องนี้ แบรท พิตต์ ตัวละครประสาท ได้เข้าชิงออสการ์ดาราสมทบด้วยบุคลิกที่คอหนังไม่เคยเห็น

อีกเรื่องคือ “เอาต์เบรก” (outbreak) เรื่องของเมืองในแคลิฟอร์เนียที่กำลังหายนะ เพราะไวรัสที่ติดมาจากลิงในอัฟริกา แสดงโดยดัสติน ฮอฟมัน, เรเน่ รุสโซ และมอร์แกน ฟรีแมน

​แต่ “คอนเทเจี้ยน” ทำให้คนนึกถึงได้มากกว่าเรื่องอื่นๆ ก็ด้วยเหตุการณ์และบรรยากาศสุดละม้าย

​เริ่มตั้งแต่นักธุรกิจสาว กวินเนท พัลโทรว ซึ่งโผล่มาไม่กี่ฉากก็ตาย (เธอบอกใครต่อใครว่า ฉันอยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วยนะ – เพราะกลัวคนยังไม่ทันจำได้ก็หายจากจอไปเสียก่อน) หลังกลับจากฮ่องกงถึงสหรัฐก็กอดลูก กอดสามี (แมท เดมอน) ไม่กี่วันก็ล้มเสียชีวิต ลูกห้าหกปีก็ตายตาม

​จากนั้น ระหว่างที่สาธารณสุขโลกเริ่มสงสัย ก็ค่อยๆ มีคนทยอยตายทุกมุมโลกกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ

​หนังให้ภาพความหวาดกังวลของผู้คน การค้นหาสาเหตุ สื่อที่ขายข่าวสร้างความโกลาหล การจลาจลแย่งชิงสินค้าบริโภค การช่วงชิงวัคซีน และลักพาตัวนักวิทยาศาสตร์แลกกับยา ซึ่งไม่เพียงพอกับผู้คนนับล้านๆ ล้วนเป็นภาพในใจผู้ชมทั้งสิ้นหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ

​และเหตุการณ์เช่นนั้นก็เกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ – วันนี้

นักแสดงหลายคนในหนังเรื่องดังกล่าว ต่างออกมาให้ความเห็นในสัปดาห์นี้ ถึงเหตุการณ์จริงที่เกิด

​เคท วินสเลท ในบทหมอเอริน เมียร์ส “ ฉันเล่นเป็นนักระบาดวิทยา ที่พยายามหยุดการแพร่เชื้อให้ได้ ในการเตรียมตัวสำหรับบท ฉันใช้เวลากับนักการสาธารณสุขอาชีพมือดีที่สุดของโลกหลายคน และสิ่งสำคัญมากสิ่งหนึ่งที่พวกเขาสอนก็คือ -ล้างมือ ให้เหมือนกับชีวิตของคุณขึ้นอยู่กับมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้-ต้องทำ

​“ไม่อย่างนั้น ชีวิตของคนที่คุณรัก หรือแม้แต่ชีวิตของคนที่คุณไม่รู้จัก ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของคุณ เหมือนคนที่อยู่แนวหน้าในการต่อสู้กับโรคระบาดคราวนี้ หมอ และผู้ดูแลรักษาอีกนานา พนักงานซึ่งยังทำงานในร้านขายของชำ คนที่คอยส่งอาหารให้คุณถึงบ้าน หรือไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหน-ในขณะนี้”

แมท เดมอน ซึ่งรับบทสามีผู้ปราศจากโรคกล่าวว่า “ ผมอยู่ตรงนี้เพื่อมาย้ำถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเราได้ยินกันมากสองสามสัปดาห์นี้ ในหนัง ผมรับบทคนที่มีภูมิต้านทานต่อโรคระบาด มีอยู่สองสามอย่างซึ่งเราต้องเริ่มทำ นั่นเป็นหนัง แต่นี่เป็นชีวิตจริง ไม่มีเหตุผลเลยที่จะเชื่อว่า ผมมีภูมิต้านทานต่อโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับคุณ

“ ไม่ว่าคุณจะหนุ่มขนาดไหน นี่คือไวรัสตัวใหม่ ต้องใช้เวลากว่าร่างกายของเรา หมอของเรา จะเข้าใจมัน และเข้าใจวิธีซึ่งดีที่สุดที่จะปกป้องพวกเราได้ “

​เคทยังย้ำตอนท้ายให้ฟังอีกว่า “ สบู่กับน้ำ คือสิ่งที่เราต้องการ “

​ขณะที่ มาริญอง โกติญา ในบทผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กล่าวถึงความสำคัญของการติดตามฟังหมอและนักวิทยาศาสตร์ โดยหยุดอยู่กับบ้าน

ที่น่าสนใจ น่ามองเห็น และน่าจะรู้สึกได้ทันทีก็คือ การป้องกันที่นักแสดงระดับโลกกล่าวกันนั้น เป็นเรื่องที่เราได้ยินมาตลอดเดือนกว่าๆนี้เช่นกัน เรื่องง่ายๆซึ่งทำได้ทันที เหมือนกันทั่วโลก ไม่มีที่ใดประหลาดพิสดารกว่าที่ใด

​นั่นคือ ล้างมือ กับการหยุดอยู่กับบ้าน

หยุดอยู่กับบ้านคือ การเว้นระยะห่างทั้งทางสังคม ไม่ไปในที่มีคนจำนวนมาก สถานที่ชุมนุมพบปะต่างๆ และการเว้นระยะห่างระหว่างคนต่อคน ไม่อยู่ใกล้กันกว่าเมตรหรือสองเมตร

อย่าลืมว่า ประเทศจีนประสบปัญหาหนักแต่แรก เพียงแค่ตัดสินใจปิดเมือง ให้คนอยู่แต่ในบ้าน หยุดการเดินทาง ไวรัสก็ไม่สามารถแพร่เชื้อรวดเร็ว ทุเลาลงได้

ล้างมือ ล้างมือ อย่าเผลอให้ไวรัสที่หากติดมือมา ได้มีโอกาสเข้านัยน์ตา จมูก หรือปากได้

คิดถึงตัวเอง ครอบครัว คนที่รัก และเพื่อนร่วมทุกข์อื่นๆ ซึ่งไม่มีไวรัสก็ทุกข์มากอยู่แล้ว ระมัดระวัง รับผิดชอบต่อทุกชีวิตรวมถึงตัวเองด้วย เป็นเรื่องประเสริฐสุดในภาวะลำบากเช่นนี้

“คอนเทเจี้ยน” ซึ่งกำกับหนังโดย สตีเวน โซเดอเบิร์ก เจ้าของงานเจ็บๆอย่าง “เซ็กส์, ลายส์, แอนด์ วิดีโอเทป”(2532) “แทรฟฟิก”(2543) “อีริน บรอคโควิช”(2543) ทำหนังเรื่องนี้ได้เป็นจริงเป็นจัง ด้วยนักแสดงเรืองนามมากมาย จู๊ด ลอว์ มาเป็นนักขายข่าว ลอเรนซ์ ฟิชเบิร์น เป็นหมอกองควบคุมโรคระบาด นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว

หนังจบลงด้วยการที่หมอสาวใช้ตัวเองทดลองวัคซีนที่เพิ่งคิดค้นขึ้นมา เมื่อพ่อกำลังตายไปต่อหน้า

หนังอาจจบลงอย่าง “แฮปปี้ เอนดิ้ง” ได้ในท้ายที่สุด แต่ชีวิตจริงที่กำลังเผชิญอยู่ตรงหน้านี้เล่า

ล้างมือ หมั่นล้างมือ อยู่บ้าน หาทางหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านให้ได้ และคิดอยู่เสมอว่า ต่างต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองและผู้อื่น

ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยกันทั่วทุกคน เทอญ.

——————————————————–
อารักษ์ ​

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image