“นิยายภาพ”… เทรนด์หนังสือในยุค Pop Culture

โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก เป็นการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานความฉับไวของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ล้ำสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของผู้คน และก่อให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยในวัฒนธรรมสมัยนิยมที่กำลังเป็นกระแสสำคัญอยู่ในปัจจุบันหรือ Pop Culture

หนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าจับตา คือการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมการดู (Visual Culture) เพราะเป็นวัฒนธรรมที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ในเรื่องของเสพสื่อประเภทต่างๆ รวมถึงสื่อ “หนังสือ”

วรรณกรรมประเภท “นิยายภาพ” แม้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง แต่กลับเป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งจากมวลชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน นอกจากกลวิธีการสื่อสารด้วยตัวอักษรซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงพูดของผู้ส่งสารในพื้นที่วรรณกรรมเช่นเดิมแล้ว “ภาพประกอบ” ก็เป็นกลวิธีการเล่าเรื่องที่สำคัญและถูกสถาปนาให้มีความเท่าเทียมกับการสื่อสารด้วยตัวอักษร จึงเป็นปรากฏการณ์ทางวรรณกรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการดู (Visual Culture) วัฒนธรรมใหม่ที่กำหนดพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อสื่อสมัยใหม่ต่างๆในวัฒนธรรมสมัยนิยมที่กำลังเป็นกระแสสำคัญอยู่ในปัจจุบัน (Pop Culture)

มีโอกาสได้คุยกับ สุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเลขานุการคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ โครงการประกวดหนังสือดีเด่นรางวัล 7 Book Awards ครั้งที่ 13 แล้วเห็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจและสามารถสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของวงการนักเขียนและนักอ่านท่ามกลางกระแสของวัฒนธรรมประชานิยมอย่างชัดเจน เพราะปีนี้ท่ามกลางผลงานที่เข้าประกวดกว่า 255 เล่มนั้น “นิยายภาพ” หรือ Graphic Novel เติบโตทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ และเป็นผลงานที่มีผู้ส่งเข้าประกวดมากที่สุดคือ 77 เล่ม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสป๊อบ คัลเจอร์ (Pop Culture) หรือวัฒนธรรมสมัยนิยมที่กำลังเป็นกระแสสำคัญของแวดวงหนังสือโลกในปัจจุบัน

Advertisement

“นิยายภาพ เป็นประเภทของวรรณกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนัก และได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักเขียนนักอ่านรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เป็นปรากฏการณ์ทางวรรณกรรมที่น่าสนใจ เพราะสอดคล้องกับวัฒนธรรมการดู (Visual Culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่กำหนดพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อสื่อสมัยใหม่ในกระแสวัฒนธรรมสมัยนิยม (Pop Culture) ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่ๆ จะดูสิ่งต่างๆมากกว่าอ่าน เช่น ดูโซเชียลมีเดีย ดูโทรทัศน์ ภาพยนตร์ต่างๆ เพราะฉะนั้นในนิยายภาพนอกจากจะมีองค์ประกอบของเรื่องเล่า ที่เป็นตัวอักษรเล่าเรื่องราวแบบเดิมแล้ว ภาพประกอบก็มีความสำคัญมาก เพราะช่วยถ่ายทอดมุมมองและยังต้องเสนอแก่นเรื่องที่นักเขียนต้องการสื่อด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่จากผลงานของนักเขียนนิยายภาพที่ส่งเข้าประกวดในรางวัล 7 Book Awards ในปีหลังๆ รวมถึงปีนี้ที่มีการส่งมากที่สุด สะท้อนให้เห็นได้เลยว่าฝีมือของนักเขียนนิยายภาพไทยมีคุณภาพและน่าสนใจมากขึ้น หลายคนเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อยมาก ซึ่งจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เรามองว่านิยายภาพน่าจะมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ เพราะสอดคล้องกับวัฒนธรรมของคนรุ่นนี้ และเป็นวรรณกรรมที่มีลักษณะของ Pop Culture สูงมากอีกด้วย” สุวิทย์กล่าว

http://www.waterstones.com/waterstonesweb/
ภาพจาก www.waterstones.com/waterstonesweb

ขณะที่นักเขียนนิยายภาพชื่อดัง “ปิยพัชร์ จีโน” หรือที่รู้จักกันในนามปากกา Art Jeeno ก็มองว่าการเติบโตของนิยายภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับวัฒนธรรมร่วมสมัยในปัจจุบันที่สื่อออนไลน์มีผลอย่างยิ่งต่อการบริโภคสื่อต่างๆ รวมถึงลักษณะของการเขียนการอ่านที่แปรเปลี่ยนไป

“การเขียนนิยายภาพ บางทีความหมายของภาพก็ไม่จำเป็นต้องมีความสมดุลกับเรื่องเล่า อย่างเล่ม ‘NOW’ ที่พิมพ์กับสนพ.แซลมอนและได้รางวัลก็เป็นหนังสือที่สื่อด้วยภาพล้วนๆ ผมมองว่าอยู่ที่สไตล์ของนักเขียนมากกว่าที่จะเลือกใช้ในงานไหน จริงๆแล้วนิยายภาพกับการ์ตูนก็มีความต่างกันอยู่ ถ้าพูดถึงนิยายภาพ ตัวหนังสือจะมีบทบาทมากกว่าในการบรรยายเรื่องราวของภาพๆนั้น ยังมีที่ว่างให้จินตนาการไปกับการเล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ ส่วนการ์ตูนจะเน้นไปที่การมองรูปภาพหลายๆรูป เล่าด้วยความต่อเนื่อง และตัวหนังสือที่ใช้ประกอบในงานก็จะเป็นบทพูดมากกว่า หรือว่าจะไม่ใช้ตัวหนังสือเลยก็ได้ ดังนั้นก็อยู่ที่ว่านักเขียนแต่ละคนจะหยิบใช้รูปแบบไหนขึ้นมาใช้เท่านั้นเอง

Advertisement

การเกิดขึ้นของสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบันทำให้มีการเปิดเผยตัวตนและผลงานให้คนได้เห็นมากขึ้น คนทั่วไปจึงได้รับรู้ว่ามีกลุ่มคนที่เขียนงานด้านนี้อยู่ ประกอบกับสังคมของคนรุ่นใหม่มีมุมมองในการทำงานที่อิสระมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ สามารถหารายได้จากการทำงานอิสระได้ และการเขียนการ์ตูนหรือนิยายภาพก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้น

นอกจากนี้ในอดีต ผู้ใหญ่มักมองว่าการอ่านการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก พอมาถึงในปัจจุบันเมื่อกลุ่มเด็กเหล่านั้นได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาก็ยังคงอ่านหนังสือการ์ตูนหรือนิยายภาพกันอยู่ นี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นิยายภาพเติบโตขึ้น จึงไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก เพราะนิยายภาพเองก็มีหลายประเภท มีทั้งทำเพื่อให้เด็กอ่าน ผู้ใหญ่อ่าน มีทั้งเรื่องของปรัชญา เรื่องของวิทยาศาสตร์ ถ้านักเขียนคนไหนแต่งเรื่องได้เก่ง แต่งเรื่องได้ลึกซึ้ง ก็ไม่ต่างจากวรรณกรรมชั้นดีเลย อย่างนิยายภาพเรื่อง ‘Watchmen’ ก็ถูกจัดให้ติดหนึ่งในร้อยวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดจากทั่วโลก ถ้าเป็นเด็กไปอ่านเรื่องนี้ก็คงจะไม่เข้าใจ แต่พอโตขึ้นมาหน่อย ประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมาจะทำให้เข้าใจความลึกซึ้งของเนื้อเรื่องได้มากขึ้น ดังนั้นก็อยู่ที่ตัวนักเขียนเองแล้วว่า ต้องการจะเขียนให้ใครอ่าน” ปิยพัชร์กล่าว

วรรณกรรมประเภทนิยายภาพ จึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสมัยนิยม และเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแวดวงการเขียนการอ่าน ซึ่งเป็นการสื่อสารผ่านงานศิลปะในโลกยุคหลังสมัยใหม่
ความเปลี่ยนแปลงของการเขียนการอ่านที่น่าจับตาในโลก Pop Culture

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image