เปิดต้นแบบ “ตู้ปันสุข” จาก ‘ตู้หนังสือแบ่งกันอ่าน’ สู่ ‘ตู้อาหาร’ แบ่งกันอิ่ม

ตู้ปันสุข

เปิดต้นแบบ “ตู้ปันสุข” จาก ‘ตู้หนังสือแบ่งกันอ่าน’ สู่ ‘ตู้อาหาร’ แบ่งกันอิ่ม

เป็นประเด็นฮอตที่เพิ่งเกิดขึ้นสำหรับโปรเจ็คต์  ตู้ปันสุข ที่กำลังกระจายอยู่ทั่วประเทศตอนนี้

นอกจากเรื่องของการให้ การสอดส่องการให้ของตัวเอง การรับ การหยิบสิ่งที่ต้องการมากเกินไป ที่ถกเถียงกันมาหลายวันแล้ว ล่าสุดทวิตเตอร์ของศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ก็คาดโลโก้ศูนย์ปฏิบัติการฯ ในภาพที่นำมาเผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์ จนคนโลกโซเชียลบางคนตั้งข้อสังเกตว่า จะเคลมเป็นงานผลงานรัฐบาลหรือ ถึงคาดโลโก้พีอาร์แบบนั้น

เพราะทั้งหมด คือสิ่งที่ประชาชนทำขึ้นมาเอง ช่วยเหลือกันเอง ถึงจะมีประเด็นให้เถียงกันต่อก็เถอะ

วางดราม่าไว้ชั่วครู่ อยากชวนมารู้จักจุดเริ่มต้นของตู้ปันสุขกัน ซึ่งจริงๆแล้วมาจาก “ตู้หนังสือ” ในชุมชนที่แบ่งกันอ่าน ก่อนแปรเป็นตู้แบ่งปันอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่กระจายไปหลายประเทศทั่วโลกในช่วงวิกฤตโควิด-19

Advertisement

จุดเริ่มต้นของ Little Free Libraries หรือตู้หนังสือในชุมชนต่างๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2009 จากความรักการอ่านของชายชาวอเมริกันชื่อ ทอดด์ โบล (Todd Bol) ซึ่งคุณแม่ของเขาเป็นครูบรรณารักษ์ที่ปลูกฝังความรักในหนังสือมาให้เขาตั้งแต่เยาว์วัย เขาร่วมมือกับเพื่อนคือ ริค บรูคส์ (Rick Brooks) ทำโปรเจ็คนี้ขึ้นมา

โบลและบรูคส์ เป็นชาวเมืองวิสคอนซิล ประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาทำตู้หนังสือเล็กๆ ด้วยเศษไม้เหลือๆ และตั้งไว้ที่หน้าบ้านของโบล พร้อมแนวคิด “Take a book, leave a book”

นั่นคือว่า ถ้าอยากอ่านหนังสือเล่มไหน ก็หยิบไปจากตู้ได้เลย แต่ขอให้เอาเล่มอื่นมาวางไว้ด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนกัน เพราะฉะนั้นตู้นี้ เลยเป็นเหมือนตู้หนังสือวิเศษที่หนังสือไม่เคยพร่องเลย

Advertisement

เป็นมนต์วิเศษ ที่เสกขึ้นจากหัวใจที่รู้จักแบ่งปัน

จากตู้หนังสือเล็กๆ หน้าบ้านแค่หลังเดียว ได้ขยายไปในหลายชุมชนทั่วอเมริกาอย่างรวดเร็ว โบลและบรูคส์ ได้ก่อตั้ง “Little Free Library” ขึ้น โดยเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร ที่ช่วยส่งเสริมทั้งการอ่านและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชน โดยมีชุมชนต่างๆ มาลงทะเบียนตั้งตู้หนังสือเล็กๆ น่ารักๆ นี้กว่าแสนตู้ในอเมริกา ที่สำคัญยังกระจายสู่ชุมชนเมืองด้วยโปรเจ็คต่างๆ ด้วย อาทิ การร่วมมือกับ The Architectural League of New York และ PEN World Voices Festival คัดเลือกนักออกแบบกว่า 10 ทีม มาออกแบบตู้หนังสือสาธารณะนี้สำหรับบรรดานิวยอร์กเกอร์ทั้งหลาย ซึ่งก็ออกแบบได้ฮิปมาก และกลายเป็นโปรเจ็คน่ารักๆ ท่ามกลางตึกสูงระฟ้าที่มอบความหมายของการแบ่งกัน และลดช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ของผู้คนในเมืองใหญ่กันได้ รวมถึงขยายไปสู่ประเทศต่างๆ อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น บราซิล และเนเธอร์แลนด์

แล้วถ้าใครสร้างห้องสมุดแต่ไม่มีหนังสือ ทางมูลนิธิก็จะบริจาคให้ และปักหมุดตำแหน่งห้องสมุดเล็กๆ บนแผนที่โลก ลองเข้าไปดูที่ https://littlefreelibrary.org ได้ มีตู้หนังสือหนึ่งน่ารักมากๆ คือสมาชิกเนรมิตต้นไม้ตายแล้วที่มีอายุราว 110 ปี ให้กลายเป็นห้องสมุดเทพนิยายที่หน้าบ้าน

แล้วมาแปรเป็นตู้แบ่งปันอาหารสู้กับโควิดได้อย่างไรกัน ?

ในข่าวของ www.cnn.com เปิดเผยว่า เริ่มมาจาก เจสสิก้า แมคคลาร์ด ในปี 2016 ที่แปรตู้หนังสือที่แบ่งกันอ่าน สู่ตู้อาหารที่แบ่งกันอิ่ม ในแถวบริเวณบ้านของเธอที่อาร์คันซอ ด้วยแนวคิด Take what you need, leave what you can หยิบในสิ่งที่คุณต้องการ และแบ่งปันในสิ่งที่คุณสามารถให้ได้

“อาร์คันซอเป็นหนึ่งในรัฐที่มีความมั่นคงด้านอาหารต่ำ ผู้คนยากจน คนไร้บ้าน คนตกงานมีอยู่ไม่น้อยเลยตามพื้นที่ต่างๆ ฉันคิดว่าแนวคิดของ Little Free Library ที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว น่าจะช่วยแก้ปัญหาพวกนี้ได้บ้าง หยิบไปแค่พอที่ตัวเองต้องการ และนำมาแบ่งปันในวันที่ตัวเองมี”

แนวคิดดังกล่าวกระจายไปทั่วอเมริกา ตู้หนังสือจิ๋วหลายตู้ แปรเป็นตู้อาหารและของใช้ในพื้นที่ขาดแคลน บางตู้ตั้งอยู่คู่กัน

ในสถานการณ์วิกฤต Covid-19 ที่กระทบไปถึงเรื่องเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ตู้แบ่งปันอาหาร โดยเฉพาะอาหารแห้งและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน กระจายยิ่งกว่าเดิม และการที่ตู้ทั้งหลายถูกปักหมุดในกูเกิ้ลแมพไว้แล้วนั้น สร้างความสะดวกให้กับทั้งคนรับและคนให้มากๆ แผนที่ออนไลน์ทำให้เห็นถึงจุดวางตู้แบ่งปันอาหารมากมายทั่วอเมริกากว่า 500 ตู้ โดยมีการจัดการกันเองในชุมชน ซึ่งผู้ได้รับก็จะทิ้งโน้ตขอบคุณไว้ และยังมีในอีกหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อิตาลี อินเดีย

รวมถึง “ตู้ปันสุข” ในไทย

——————————————————–
สิรนันท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image