อินดี้ เวย์…บนเส้นทางที่ไม่โดดเดี่ยว

ภาพโดย วิกรานต์ ปอแก้ว

ในสังคมที่การอ่านไม่ใช่วัฒนธรรม หนังสือขายดีคือเรื่องแก้กรรม ความรวย อีโรติก ส่วนงานเชิงความรู้ สารคดี วรรณกรรม (ตามความหมายเคร่งครัด) คือของขมลิ้น

คนเล็กๆ ซึ่งทำหนังสือด้วย “ความรัก” และยังตัดสินใจก้าวเดิน ความมุ่งมั่นจึงเป็นเรื่องที่นับถือหัวใจอย่างยิ่ง

งาน “20 ปี อินดี้ เวย์ 20 ปี บนเส้นทางงานเขียนของนิวัต พุทธประสาท” ที่เพิ่งจัดกันไปจึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ท่ามกลางบทสนทนาที่ จักรพันธุ์ ขวัญมงคล บก.หนังสือ The Hollywood Reporter Thailand และ กตัญญู สว่างศรี นักเขียนหนุ่ม เป็นพิธีกรร่วมกันสัมภาษณ์ นิวัต พุทธประสาท นักเขียน หัวเรือใหญ่ของอัลเทอร์เนทีฟไรท์เตอร์ และบรรณาธิการบริหาร สนพ.เม่นวรรณกรรม และ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บก.นิตยสารไบโอสโคป โดยมีแขกรับเชิญพิเศษมาร่วมพูดคุยในช่วงท้ายคือ ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการ สายการตลาด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นั้น มีหลายคำถามว่าด้วยวิธีคิดและการเดินทางของสายอินดี้ ที่ขอสกัดมาเล่าให้ฟังดังนี้

Advertisement

นิวัต พุทธประสาท

นิวัตเป็นนักเขียนที่ไฟแรงเสมอ นิยายเล่มล่าสุด “กายวิภาคของความเศร้า” กำลังถูกกล่าวขวัญอย่างมากในช่วงนี้ โดยถ้านับตั้งแต่วันแรกที่ทำงานสายวรรณกรรม ปีนี้ก็ 20 ปีแล้ว

“ทุกอย่างเริ่มจากความสนใจอยากทำ เหมือนความท้าทาย ในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน รู้ว่าขายไม่ได้หรอก แต่ก็ตัดสินใจพิมพ์งานของตัวเอง เรียนรู้ไป

Advertisement

การทำงานหนังสือด้วยวิธีคิดแบบเอาความตั้งใจเป็นที่ตั้ง มีทั้งช่วงดี ช่วงแย่ แต่ถึงวันนี้เรายังคงทำงานอินดี้อยู่ เพราะเราทำด้วยความสนุก ทั้งงานเขียนของเราเองและสำนักพิมพ์ แต่ก็ต้องปรับโมเดลการทำงานเพื่อจะได้อยู่ในโลกธุรกิจได้ด้วย

หนังสือนี่พอทำสัก 4-5 ปี จะเริ่มสะอึกแล้ว สต๊อกจะเพียบเลย อย่างวรรณกรรมถูกส่งกลับมาจากสายส่งปกละเป็นพัน ห้าปกก็ห้าพันเล่มแล้ว เป็นความเศร้าอย่างหนึ่งเหมือนกัน ก็ต้องปรับตัว กลับมาพิจารณา สุดท้ายก็ลดการผลิตลงเหลือปกละ 500 เล่ม แล้วขายหมดภายในปีเดียว ส่งหนังสือไปยังร้านที่พอขายได้เองทั้งหมด ก็จะไม่มีสต๊อก ทุกอย่างอยู่ในมือเรา ก็คำนวณและวางกลยุทธ์ได้ อย่าง มติชน ชวนมาขายในงานสัปดาห์หนังสือ, มหกรรมหนังสือนี่คือเรื่องที่ดีมาก มีการจัดอันดับที่บูธด้วย ปกติ สนพ.ใหญ่ไม่ค่อยมองงานเรา นอกจากนี้หนังสือยังได้ไปพบนักอ่านที่ต่างจังหวัดด้วย ซึ่งปกติหนังสือเราไม่ค่อยอยู่ในร้านต่างจังหวัดเลย นี่คือ

มติชนสัญจร แล้วช่วยพ่วงหนังสือกลุ่มอินดี้ไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ สนพ.เล็กๆ อย่างเราดีใจมาก

นอกจากปรับกลยุทธ์ การสื่อสารก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นทำให้ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเอง ยุคนี้สนามเรื่องสั้นหายไปเยอะมาก เฟซบุ๊กทำให้เห็นว่านักเขียนมีในโลกนี้นะ แล้วสื่อสารกันได้เลย เป็นพื้นที่โดยไม่ต้องมีตัวกลาง ช่วยได้เยอะมาก และจะมีอิมแพ็คเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ

การนำวรรณกรรมไปอยู่ในกระแสหลักเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ถ้าพื้นที่อินดี้เหมาะก็ควรยึดตรงนี้ไว้แล้วปรับตัว และอย่าเล่นแค่เรื่องรูปแบบอย่างเดียว เนื้อหาต้องเข้มข้นในแบบที่เราอยากจะทำ เพื่อแสดงความเป็นตัวเองให้ชัดเจนด้วย”

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

นอกจากจะเป็น บก.นิตยสารไบโอสโคป ที่เน้นเรื่องราวของหนังนอกกระแสเป็นหลัก เธอยังเป็นหนึ่งในผู้ผลักดัน Documentary Club โครงการระดมทุนเพื่อจัดฉายสารคดีหลากแนวซึ่งกำลังมาแรง สารคดีที่เราคิดว่าหาคนดูยาก แต่คนดูกลับล้นโรงในหลายๆเรื่องนั่นล่ะ

“เราต้องรู้ว่าเราจะทำอะไร คือเราเห็นลู่ทางรอดอยู่ในพื้นที่ที่เรารู้จัก ในองค์ประกอบที่เราควบคุมได้ เราจะไม่เล่มในเกมที่เราควบคุมได้แค่ 20% อีก 80% ควบคุมไม่ได้

ในยุคนี้โซเชียลมีเดียสำคัญกับการทำงานอินดี้มาก ทำให้ผู้ผลิตพบผู้บริโภค อย่างดอคคิวเมนทารีคลับ 100% ของการโปรโมตคือเฟซบุ๊ก คือการสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มคนดู เพราะเรารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร ถ้าใช้เป็น เครื่องมือนี้จะช่วยเราได้มาก

ถ้าเราทำในสิ่งที่เป็นกระแสรอง เป็นกลุ่มเฉพาะอยู่ อย่าคิดเรื่องกระแสหลัก มันเป็นไปไม่ได้และทำให้เราเขวเปล่าๆ เราต้องหาทางให้เต็มที่ ขุดออกมาจากใต้ดิน แล้วใช้เวลากับมัน ดูว่าเป็นสเกลไหน และควรใช้ชีวิตกับสิ่งนั้นอย่างไร”

ปานบัว บุนปาน

ในช่วงปีที่ผ่านหากเดินไปที่บูธ สนพ.มติชน ในงานสัปดาห์หนังสือ มหกรรมหนังสือ และงานหนังสือระดับภูมิภาคต่างๆ รวมถึง เฟซบุ๊กแฟนเพจ BuyMatichonBooks นอกจากจะเห็นหนังสือดีมีคุณภาพที่สร้างสรรค์โดยกองบรรณาธิการ สนพ.มติชนแล้วนั้น เหล่า สนพ.อินดี้ขนาดเล็กทั้งหลายก็มีโอกาสได้นำเสนอผลงานของตนสู่นักอ่านในพื้นที่ของ สนพ.มติชนด้วยเช่นกัน

กลายเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจที่หลายคนจับตามอง เมื่อ สนพ.ใหญ่ให้พื้นที่ทั้งในแง่ของการขายและการสื่อสารแก่ สนพ.เล็กๆ โดยไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่งทางธุรกิจระหว่างกัน

“จุดเริ่มต้นเป็นความชื่นชอบส่วนตัว จนทำให้ออกมาในเรื่องของงาน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานของมิตรภาพ วงการหนังสือไม่ได้ใหญ่อะไรเลย ก็น่าจะกลมเกลียวกันเข้าไว้

เวลาพูดถึงธุรกิจสำนักพิมพ์ เรามองว่า สนพ.ใหญ่เป็นเหมือนเครื่องจักสาน มีความมั่นคง หนักแน่น เข้มแข็ง แต่ตัวลวดลายสีสันนวัตกรรมมาจากเส้นขวาง คือตัว สนพ.อินดี้ ความสวยงาม อรรถรส ความทันสมัย ความท้าทายต่างๆ เกิดที่ตัว สนพ.อินดี้ เลยมองว่า สนพ.อินดี้มีความน่าสนใจมากๆ ในการพัฒนาหรือเพิ่มฐานทั้งคนเขียนคนอ่าน

ในช่วง 20 ปีมานี้ตลาดหนังสือเปลี่ยนแปลงไปเยอะ บริบทต่างๆ เปลี่ยนไปมาก ทั้งจำนวนประชากร ความสนใจ ความหลากหลาย การเกิดตัวของกลุ่มคนใหม่ๆ ณ ปัจจุบันนี้กระแสหลักไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ไม่มีใครคอนโทรลอะไรได้หรอก แล้วโดยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ความสนใจที่หลากหลายมากมายขึ้น ใครๆ ก็เป็นเจ้าของตลาดของตัวเองได้ อินดี้มีความน่าสนใจในตัวของตัวเอง เลยรู้สึกว่าอยากให้ สนพ.อินดี้รักษาเส้นทางของตัวเองไป มติชนก็จะคอยเป็นแบ๊กอัพอยู่ให้ในส่วนที่เราทำได้

ทุกวันนี้ สนพ.จะต้องปรับตัว ต้องมองกว้างขึ้น จากที่คิดว่าจะโตคนเดียว บิดลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้คนเดียว ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคนี้อีกแล้ว จะรอดได้เราต้องเป็นพันธมิตรกัน มองในแง่มุมว่าเราทุกคนควรมีโอกาสเหมือนกัน สิ่งที่มติชนช่วยได้ อาจไม่ใช่การขายให้โดยตรง แต่เราช่วยเปิดพื้นที่ให้นักเขียนได้เจอคนอ่าน เวทีสำคัญมาก การที่นักเขียนหรือสำนักพิมพ์ปรากฏตัว ได้พูดได้เจอคนอ่าน ทั้งหมดก็จะกลับคืนเข้าไปที่หน้าร้าน การขายจะเกิดต่อหลังจากการปรากฏตัว

สนพ.จะต้องรู้ว่ากลุ่มคนอ่านของตัวเองคือใคร ทุกคนมีกลุ่มของตัวเอง สร้างชุมชนของตัวเองขึ้นมา ต่อให้ สนพ.ไม่ใหญ่จริงๆ แต่ถ้ากลุ่มคนอ่านที่เป็นชุมชนสนับสนุนก็จะอยู่ได้แล้ว และทำงานแบบมีความสุขด้วย ต้องสื่อสารกับกลุ่มคนอ่านอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ค่อยๆ สร้างคอมมูนิตี้กันไป และควรพยายามชอบการขายด้วย คุณภาพงานคือ 50% อีก 50% คือการขายด้วยตัวเอง เพราะตัวเองคือเจ้าของโปรดักต์ที่รู้ดีที่สุดว่าจะขายอะไร พูดถึงสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ต้องเก้อเขิน โซเชียลมีเดียตอนนี้ช่วยสนับสนุนสำนักพิมพ์ที่รู้จักคนอ่านของตัวเองมาก

ต้องสื่อสารให้ได้ พูดให้เป็นในสิ่งที่เราตั้งใจทำขึ้นมา แล้วจะเข้าถึงคนอ่านได้แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image