‘เชตวัน เตือประโคน’ ในถ้อยรำพึงแห่งบทกวี

ชายหนุ่มหน้าคมที่มาพร้อมแววตามุ่งมั่นคนนี้ชื่อ “เชตวัน เตือประโคน”

สิบกว่าปีที่ผ่านมา ผลงานในมุมของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่สถานะล่าสุดคือ หัวหน้าข่าวเฉพาะกิจ หนังสือพิมพ์มติชน คือคุณภาพที่เชตวันสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน และในวันนี้เขาได้ก้าวสู่อีกบทบาท ด้วยผลงาน “”ถ้าพอจะเรียกมันว่าบทกวี”” ในนามปากกา “เวฬุ เวสารัช”

เขาเล่าให้ฟังว่า จริงๆ ไม่เคยคิดจะมาเขียนบทกวี แต่ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองไทยวุ่นๆ ก็อยากลองสื่อสารในรูปแบบดังกล่าวบ้าง

“เขียนครั้งแรกก็ช่วงทวงคืนปราสาทพระวิหาร ส่งไปให้ “มติชนสุดสัปดาห์” พิจารณา ก็ได้รับการตีพิมพ์หลายชิ้น ก็ติดใจ”

Advertisement

หลังๆ เวลาได้รับรู้หรือเห็นสถานการณ์อะไรที่ทำใหอึดอัด เบื่อ เซ็ง “ก็เอาวิธีนี้แล้วกัน อ่านๆๆ เสพๆๆ ให้แน่น ดูสิจะรู้สึกยังไง แล้วก็ระบายออกมาด้วยการเขียน เหมือนเติมลมให้ลูกโป่งพองโตไปเรื่อย พอแตก ตูม! กลายเป็นบทกวี” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ

และในที่สุด “ถ้าพอจะเรียกมันว่าบทกวี” ก็เกิดขึ้น โดยเป็นการรวม 50 บทกวีคัดสรร ที่ประกอบด้วยบทกวีฉันทลักษณ์เปิดเรื่องในแต่ละภาค ก่อนจะต่อด้วยบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่พูดถึงปัญหาในประเด็นสังคมหนักๆ กระแทกอารมณ์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาและการเปรียบเทียบอย่างเห็นภาพตาม การตั้งคำถามกับขนบ จารีต และความไม่เป็นธรรมในสังคม รวมถึงการลุกขึ้นสู้อย่างไม่ยอมศิโรราบเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่งดงาม

“แต่ละชิ้นผมเขียนจากเหตุการณ์ มีข่าวที่ติดตาม ผมก็เขียนออกมาชิ้นหนึ่ง จนได้ปริมาณที่มากพอที่จะรวมเล่ม และแบ่งเป็น 4 ภาค คือ ทุรยุคอุบัติ อสัตย์มธุรส ผองชนตื่นขบถ ปรากฏสัจจะ

Advertisement

ความแตกต่างของแต่ละภาคก็ตามชื่อเลย แรกจะพูดถึงปัญหาต่างๆ ต่อคำหวานของท่านผู้นำ เรื่องนักศึกษา และสุดท้ายก็มองสถานการณ์ปัจจุบันของสิ่งที่เคยเชื่อ สัจจะนั้นมันยังดำรงอยู่มั้ย”

เชตวันเล่าว่า บทกวีที่เขาเขียนนั้น เกิดขึ้นด้วยพื้นฐานของความรู้สึก อารมณ์ต่างๆ ที่หลั่งไหลมากระทบใจ ซึ่งจะนำไปสู่ถ้อยคำและน้ำเสียง ส่วนเหตุผลในเรื่องราวอยู่บนพื้นฐานของวุฒิภาวะและประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาจากแต่ละขวบปี หรือแต่ละเรื่องที่ได้พานพบ

“ในมุมของผมแล้วบทกวีจึงตอบสนองหน้าที่ของคนเขียน ส่วนคนอ่านนั้นก็จะได้รู้ว่าต่อเหตุการณ์นั้นๆ เรื่องนั้นๆ คนเขียนที่คุณพอจะเรียกว่ากวี สวมหมวกเบเรต์ คนนี้ คนนั้น คนโน้น มีความคิดอย่างไร และมีอารมณ์แบบไหน”

และด้วยพื้นฐานวิธีคิดดังกล่าว รูปแบบไร้ฉันทลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่เขาเห็นว่าสามารถตอบสนองหรือสัมพันธ์กับสิ่งที่ต้องการถ่ายทอดได้

“คำที่จะตอบสนองลักษณะของอารมณ์นั้นมีให้ใช้มาก ไม่จำกัดเหมือนฉันทลักษณ์ที่มีกรอบตายตัว เมื่อเลือกว่าคือการระบายความรู้สึกอยู่แล้ว ผมก็เลยไม่คิดจะไปประดิดประดอย หรือที่บรรณาธิการเล่มคือ “กฤช เหลือลมัย” เปรียบว่าเป็น ‘คำลิเก’ อย่างนั้น ไร้ฉันลักษณ์สามารถตอบสนองได้เต็มที่”

“แต่ในเล่มนี้ แต่ละภาคก็จะเป็นบทกวีฉันทลักษณ์เปิดเรื่องนะ ตั้งใจใส่ไว้เปิดแต่ละภาค เดี๋ยวจะโดนครหาว่าเขียนฉันทลักษณ์ไม่เป็น” เขากล่าวด้วยรอยยิ้มกว้าง

หนังสือ
บทกวีในเล่มส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเชตวันบอกว่าเป็นทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจ แน่นอนว่าบทกวีอาจไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้เท่ากับข่าวสารรายวัน แต่ในฐานะคนทำงานข่าว นอกจากเขียนข่าวแล้วก็อยากจะบันทึกอะไรที่ตัวเองรู้สึกที่มากไปกว่าข่าวหรือเหตุการณ์นั้นๆ

“การถ่ายทอดเหตุการณ์และความรู้สึกออกมาในรูปแบบบทกวีจะแตกต่างกับรูปแบบอื่น เพราะมีความสดมากกว่า ซึ่งคนที่อยู่ร่วมกับยุคสมัยนี้ ต่อให้เวลาผ่านไปอีกกี่ปี หยิบมาอ่านอีกครั้งภาพในช่วงนี้ก็จะฉายชัดขึ้นได้ ผมว่าถือเป็นบันทึกอย่างหนึ่ง บันทึกทั้งเหตุการณ์และบันทึกความรู้สึก ซึ่งก็ต้องพิมพ์รวมเล่มตอนนี้ พลาดจากนี้ไปคนก็ไม่ได้ร่วมซึมซับอารมณ์นั้นแล้ว

สถานการณ์ช่วงนี้สำหรับการสร้างงานศิลปะแล้วนั้น เป็นสถานการณ์ที่ท้าทายและสนุกดี ผมอ่านงานของคนอื่นแล้วได้เห็นอะไรที่แหลมคม มีชั้นเชิงมากขึ้น ส่วนงานตัวเอง อาจเพราะเราถนัดการเล่นแบบนี้ เป็นนักฟุตบอลปีกขวามาทั้งชีวิต จับมาเล่นปีกซ้ายมันก็จะตัดเข้ากลางและยิงอย่างเดียวสิ” เขาหัวเราะเบาๆ ก่อนกล่าวเพิ่มว่า

“สำหรับตัวผมเองแล้ว ในช่วงเวลานี้และจากนี้ไปต้องบอกว่า ได้เปลี่ยนโลกของคนทำงานศิลปะวรรณกรรมอย่างชนิดหลังเท้าเป็นหน้ามือ คือมีงานที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยน เพราะต้องการรักษาสภาพความศักดิ์สิทธิ์ของตัวเองไว้ โดยหารู้ไม่ว่ากำลังนับถอยหลังรอวันหายไป กับงานที่เกิดใหม่ ไปกับสังคม ไปกับโลก ยิ่งเมื่อได้ลับด้วยสภาพการณ์ที่พูดอะไรได้ไม่มาก บิด พลิก พลิ้ว มีลูกล่อลูกชนขึ้นมา ก็ยิ่งทำให้งานน่าสนใจ”

วิธีคิดแสดงผ่านผลงานอย่างชัดเจน คือสิ่งหนึ่งที่นักเขียน-กวีรุ่นหนุ่มสาวมากมายในเวลานี้เลือกที่จะทำอย่างไม่ยอมถนอมตัว ซึ่งก็รวมถึงรวมบทกวี “ถ้าพอจะเรียกมันว่าบทกวี” ด้วย เชตวันมองว่านี่คือสิ่งที่คนทำงานศิลปะควรทำอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเห็นมีจุดยืนด้านไหนก็ตาม

“จะรักษาตัวอยู่บนหิ้งรอฝุ่นหายตลบแล้วค่อยออกมา ไม่เห็นแก่ตัวไปหน่อยเหรอ ผมนับถือคนที่แสดงจุดยืนชัด แม้จะเป็นคนละพวกฝ่ายก็ต้องนับถือในหัวใจที่กล้าชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองคิดในช่วงนั้นๆ นักเขียน กวี ถ้าไม่ชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองคิดหรือเชื่อ ผมแนะนำว่าน่าจะลองไปตัดแว่นหรือเช็ดกระจกสมองตัวเองดู

ถ้าวันหนึ่งหลักการที่เราเคยยึดถือมันผิด เราก็ต้องยอมรับ เราวันนี้กับเราเมื่อวานคนละคนกัน อยู่ที่ว่าจะยอมรับความผิดพลาดของหลักที่ไม่ใช่ กล้าขอโทษ และพร้อมจะเปลี่ยนไปกับโลกหรือเปล่า”

นอกจากเล่มนี้ เชตวันบอกว่ากำลังจะมีผลงานรวมเรื่องการเมืองร่วมสมัยอีกเล่มคือ “ความป่วยไข้แห่งยุคสมัย” ซึ่งน่าจะตีพิมพ์ช่วงเดือนตุลาคม ส่วนถ้าใครสนใจรวมบทกวี “ถ้าพอจะเรียกมันว่าบทกวี” นั้นสามารถซื้อได้ที่ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศ หรือเข้าไปที่แฟนเพจ สนพ.โจนทะยาน www.facebook.com/jonetayarnbook ได้เลย

“แล้วซึมซับห้วงความรู้สึกไปด้วยกัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image