ยืม – แปลง – เลียน มรดกตกทอดของนวนิยายไทย?

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งในกลุ่มคนรักหนังสือที่เป็นประเด็นอย่างมาก คือข่าวนวนิยายของ ทมยันตี อย่าง “พิษสวาท” หยิบยืมพล็อตมาจากนิยายเรื่อง “Ziska : The Problem of a Wicked Soul” ของนักเขียนชื่อดังในยุควิคตอเรียน Marie Corelli ซึ่งมีชีวิตระหว่างปี 1855-1924

เท่าที่สำรวจความคิดเห็นจากข่าวที่ มติชนออนไลน์ ลงบทสัมภาษณ์ทมยันตี จะเห็นได้ว่าแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งมองว่าคำตอบของทมยันตีไม่เคลียร์ ทำให้เรื่องนี้มีแนวโน้มไปทางลอกเลียนพล็อต ขณะอีกฝั่งมองว่าไม่สามารถฟันธงได้ขนาดนั้น และการสร้างงานศิลปะทุกวันนี้เป็นเรื่องยากที่จะสร้างแบบออริจินัลขึ้นมา

Ziska : The Problem of a Wicked Soul ที่ได้อ่านต้นฉบับ (http://www.gutenberg.org/ebooks/5079) พบว่า เรื่องเล่าถึงวิญญาณนางระบำอียิปต์ที่รักกับแม่ทัพแห่งฟาโรห์ Arasex ผู้หลงใหลในความงามของเธอ แต่โศกนาฏกรรมได้เกิดขึ้นเมื่อ Arasex เกิดไปหลงรักหญิงอื่นที่งามกว่า และตัดสินใจฆ่านางโดยใช้กริชแทงหน้าอก Ziska จึงกลายเป็นวิญญาณอาฆาตที่สิงอยู่ในสุสานของ Arasex ใต้ฐานพีระมิด และคอยตามหา Arasex ที่กลับมาเกิดใหม่เพื่อล้างแค้น โดยไม่มีความรักหลงเหลืออีกเลย

แก่นเรื่องของ Ziska : The Problem of a Wicked Soul คือการแก้แค้นและชดใช้ความผิด ส่วนแก่นของ “พิษสวาท” ในนิยายต้นฉบับ คือเรื่องของความเสียสละเพื่อแผ่นดินที่เกี่ยวโยงกับตำนานปู่โสมเฝ่าทรัพย์ การชดใช้กรรมดี กรรมชั่วที่เชื่อมไปกับความเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์ในไตรภูมิพระร่วง

Advertisement

เรื่องที่พูดๆ กันอยู่นั้นจึงต้องแล้วแต่การพิจารณาด้วยการอ่านนิยายทั้งสองฉบับ

แต่ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทย การหยิบยืม การแปลงไม่ใช่เรื่องใหม่ อาจเป็นพื้นฐานการสร้างงาน โดยเฉพาะประเภทนวนิยายด้วยซ้ำ นี่เป็นเรื่องที่คนเรียนสายวรรณกรรมหรือนักวิชาการด้านนี้รู้กันอยู่ ถึงอิทธิพลที่ส่งต่อหรือหยิบยืมมา ก่อนโลกโมเดิร์นจะนำแนวคิดเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์งานสร้างสรรค์ทางปัญญาเข้าสังคมไทยเมื่อ พ.ศ.2537 รศ.ดร.วินิตา ดิถียนต์ หรือ ว.วินิจฉัยกุล เคยทำวิจัยในประเด็นที่ว่าด้วยอิทธิพลของ Marie Corelli ที่มีต่อวรรณกรรมไทย ขณะที่เป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร ที่สามารถไปหาอ่านได้ที่หอสมุด ม.ศิลปากร

ขณะที่ ศ.วิภา กงกะนันท์ เขียนไว้ในหนังสือ “กำเนิดนวนิยายในประเทศไทย” ความว่า วรรณกรรมไทยก้าวสู่ยุคนวนิยายเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 คือ พ.ศ.2427 โดย วชิรญาณวิเสศ เล่ม 1 พิมพ์ “เรื่องสนุกนิ์นึก” พระนิพนธ์ใน กรมหลวงพิชิตปรีชากร ผู้ซึ่งประสงค์จะ “ลองแต่งเลียนสำนวนหนังสืออังกฤษ” โดยตั้งใจจะพิมพ์เป็นเรื่องยาว แต่ต้องยุติเพียงแค่บทแรก เพราะผู้อ่านโดยเฉพาะ สมเด็จฯกรมพระปวเรศวรยาลงกรณ์ ผู้ซึ่งปกครองวัดบวรนิเวศ ที่เป็นฉากของสนุกนิ์นึกไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องสมมุติ ซึ่งฝรั่งเรียกว่า “Novel” จึงต้องอวสานตั้งแต่บทเริ่มต้น

จน 16 ปีต่อมา นิยายเรื่องแรกที่จบสมบูรณ์ของไทยจึงเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้นเองแบบออริจินัลคือ “ความพยาบาท” ของ “แม่วัน” หรือ พระยาสุรินทราชา นกยูง วิเศษกุล ซึ่งแปลงมาจาก “Vendetta” ของ Marie Corelli นั่นเอง ที่บอกว่าแปลง เพราะแม่วันไม่ได้แปลตามเรื่องต้นฉบับอย่างชัดเจน มีการแปลง ตัดตอน ข้าม รวมถึงปรับให้เข้ากับบริบทในสังคมไทยยุคนั้น และ “ลักวิทยา” ตีพิมพ์เป็นตอนๆ จนจบเรื่องเมื่อ พ.ศ.2445 และต่อมา ครูเหลี่ยม ได้เขียนนิยายไทยเรื่องแรกคือ “ความไม่พยาบาท” ที่แก้กับความพยาบาท แต่ก็เห็นถึงพล็อตที่มาจากต่างประเทศอย่างชัดเจน

ช่วงรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 เป็นช่วงที่อิทธิพลวรรณกรรมต่างประเทศมีต่อวรรณกรรมไทยอย่างมาก โดยมาจากเจ้านายหรือลูกหลานขุนนางที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ และนำวรรณกรรมเหล่านั้นมาแปลงเป็นวรรณกรรมไทย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงานประโลมโลกย์เมโลดราม่า โดยเฉพาะงานของ Marie Corelli

ในยุคสมัยใกล้ๆ ก่อนกระแสตื่นตัวเรื่องลิขสิทธ์จะมา มีงานของนักเขียนชั้นครูมากมายที่ผู้เขียนยอมรับว่าได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมต่างประเทศ แต่หลายเรื่องก็ยังคงเป็นข้อสังเกต เพราะผู้อ่านโดยเฉพาะยุคปัจจุบันรู้สึกถึงความคล้ายคลึงในพล็อต และในแง่หนึ่งก็ถูกนำมาศึกษาวิจัยทางวิชาการ

อาทิ “นิทานทองอิน” พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใช้พระนามแฝงว่า “นายแก้วนายขวัญ” งานเขียนแนวสืบสวนสอบสวนของไทยยุคแรก ซึ่งได้รับอิทธิพลจาก “เชอร์ล็อค โฮล์มส์” โดยประยุกต์ให้เข้ากับวิถีของคนไทยยุคนั้น (สามารถอ่านประเด็นนี้เพิ่มเติมในวิทยานิพนธ์เรื่อง นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน : อิทธิพลของชุดเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ที่มีต่อชุดปัวโรต์และนิทานทองอิน โดยอังคณา สุขวิเศษ ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต อักษรศาสตร์ (วรรณคดีเปรียบเทียบ) จุฬาฯ) หรือ “ไผ่แดง” โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาจากเรื่อง “The Little World of Don Camillo” โดยนักเขียนอิตาลี Giovannino Guareschi , “สาวเครือฟ้า” โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ก็มาจากบทละคร “Madame Butterfly” ของนักเขียนอิตาลี Giacomo Puccini ส่วน “เพชรพระอุมา” โดย พนมเทียน ก็ได้แรงบันดาลใจจาก “King Solomon’s mines” ของ Sir H. Rider Haggard ฯลฯ ทั้งหมดนั้น มีทั้งที่ผู้เขียนแจ้งอย่างชัดเจน และเป็นผลจากการวิจัยศึกษาโดยเฉพาะในสาขาของวรรณคดีเปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการได้อิทธิพลแปร แปลงจะต่างกับการลอกโดยสิ้นเชิง แต่บนพื้นที่ของความสร้างสรรค์ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Original Style อยู่จริงบนโลกนี้อีกแล้ว

สมัยพรีโมเดิร์นพล็อตวรรณกรรมส่วนใหญ่จะคล้ายกัน สมัยโมเดิร์นลิขสิทธิ์เริ่มเข้ามามีความสำคัญ ยุคโพสต์โมเดิร์นลิขสิทธิ์ทางปัญญาสำคัญสุดสุด แต่ท่ามกลางพล็อตหลักไม่เกิน 20 พล็อตของนวนิยาย แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นก็เชื่อว่า “ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้ดวงตะวันนี้” Grey Zone หรือพื้นที่สีเทา คือพื้นที่ที่เส้นแบ่งของความหมายระหว่างคำว่า ได้รับอิทธิพล ลอกเลียน หรือแรงบันดาลใจนั้น ค่อนข้างที่จะเลือนรางและยากจะตัดสินได้โดยง่าย ท่ามกลางสิ่งที่สร้างสรรค์ล้วนเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการรับรู้และถักทอขึ้นมาทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่เมื่อพินิจให้ดีจะเห็นร่องรอยจากก่อนหน้าเสมอ

อย่างไรก็ตาม ในความเหมือนย่อมมีความต่าง นักเขียนจะต้องสร้างความเป็นตัวของตัวเอง และมีเอกลักษณ์บางประการในการนำเสนอ ที่ยืนยันได้ว่าผลงานที่เกิดขึ้นคือส่งผ่านอิทธิพลต่อกัน ไม่ใช่การลอกเลียนหรือเลียนแบบอย่างไร้รสนิยม

เพราะท่ามกลางความซ้ำซากของโครงร่างแห่งเรื่องเล่า มนุษย์ย่อมมีทัศนคติ ความรู้สึก และและพื้นฐานทางอารมณ์ซึ่งแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด

และนั่นเองที่นำไปสู่การก่อเกิดงานศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image