เปิดมุมมอง ‘มา ทิดา’ นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่ง ‘เมียนมา’

ใครที่ศึกษาหรือชอบอ่านวรรณกรรมเมียนมายุคใหม่ๆ น่าจะคุ้นชื่อของ ดร.มา ทิดาอยู่ไม่น้อย

เพราะนอกจาก ดร.มา ทิดา จะเป็นศัลยแพทย์และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนแล้ว อีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นนักเขียน และผลงานที่เธอสร้างขึ้นจากสถานะของนักเขียนนี่เองที่ทำให้เธอถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ข้อหาเป็นภัยต่อความสงบภายในประเทศและติดต่อกับองค์กรที่อดีตรัฐบาลทหารพม่าตัดสินว่าเป็นภัยต่อประเทศและผิดกฎหมายหลายแห่ง และข้อหาเผยแพร่วรรณกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

ดร.มา ทิดา เริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจังเมื่อราว ค.ศ.1980 ขณะกำลังศึกษาอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ และมีชื่อเสียงในสถานะของนักเขียนหัวก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เรื่องสั้นและบทความหลายเรื่องของเธอเกี่ยวข้องกับการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศในขณะนั้น ผลงานเล่มแรกของเธอ “The Sunflower” เกิดขึ้นหลังจากเธอช่วย ออง ซาน ซูจี และ พรรคเอ็นแอลดี หาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 1990 ซึ่งหลังจากพรรคเอ็นแอลดีชนะแต่ระบอบเผด็จการทหารก็ยกเลิกการเลือกตั้ง ซึ่งนั่นกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เธอเขียนหนังสือเล่มดังกล่าว แน่นอนว่าหนังสือถูกสั่งเก็บและกลายเป็นหนังสือต้องห้าม ส่วนเธอก็ต้องติดคุกขณะเตรียมจะไปศึกษาต่อเฉพาะทางด้านศัลยแพทย์ที่ต่างประเทศ เธอถูกจองจำที่คุกอินเส่งอยู่ 5 ปีครึ่ง ก่อนถูกปล่อยตัวออกมา

แม้จะได้รับอิสรภาพทางร่างกาย แต่อิสรภาพทางความคิดยังคงถูกจองจำ เธอไม่ได้รับใบอนุญาตในการทำงานด้านสื่อสารมวลชน บรรณาธิการและสำนักพิมพ์ต่างๆ ไม่กล้าพิมพ์งานของเธอ เมื่อปี 2011 ดร.มา ทิดาได้รับรางวัลจากสมาพันธ์นักเขียนนอร์เวย์ แต่เธอตัดสินใจไม่เดินทางไปรับรางวัลเพราะสถานการณ์ในประเทศช่วงเวลานั้นไม่ดีนัก

Advertisement

อย่างไรก็ตามท่ามกลางสภาวะที่นกแห่งอิสรภาพถูกเด็ดปีกไม่ให้โบยบิน เธอยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจออกมาได้มากมายกว่า 10 เล่ม ซึ่งตีพิมพ์ทั้งในภาษาเมียนมาและภาษาอังกฤษ 2 เล่มในนั้นเป็นนิยายว่าด้วยชีวิตและประสบการณ์ระหว่างเป็นนักโทษทางการเมืองในคุกอินเส่ง ผลงานของเธอเล่มที่ดีมากๆ คือนิยายเรื่อง “The Roadmap” ที่มีพื้นหลังเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองในพม่าช่วงปี 1988-2009 ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2012 และผลงานล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์เสร็จสดๆ ร้อนๆ ปีนี้คือ “Prisoner of Conscience: My Steps through Insein” งานแนวบันทึกความทรงจำระหว่างถูกจองจำอยู่ในคุก

ในวันที่สถานการณ์ของเมียนมาเปลี่ยนแปลงไปและก้าวเดินอย่างรุดหน้า หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแม้ว่าจะจับต้องไม่ได้คือ อิสรภาพ ที่ค่อยๆ แง้มประตูต้อนรับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เส้นทางของ ดร.มา ทิดาในวันนี้คือ นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งเมียนมา และเมื่อ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประชุมนานาชาติสาขาวรรณคดีและวรรณคดีเปรียบเทียบครั้งที่ 8 ขึ้น และองค์ปาฐกก็คือ ดร.มา ทิดา

ดร.มา ทิดา เล่าให้ฟังถึงความอิสระของสื่อเมียนมาในสถานการณ์ปัจจุบันว่า แม้หลายสิ่งจะเปลี่ยนแปลงไปแต่ก็ยังยากที่จะบอกว่าสื่อในเมียนมามีอิสระอย่างสมบูรณ์

Advertisement

“เป็นการยากที่จะบอกว่าสื่อในเมียนมามีอิสระหรือไม่ เพราะว่าจะมีสองฝ่าย ฝ่ายสื่อในความควบคุมของรัฐ ซึ่งมีหนังสือพิมพ์มีสามฉบับอยู่ในความควบคุมของรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ หากจะมีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการต้องส่งทุกข้อความให้รัฐบาลตรวจสอบก่อน แต่ในส่วนที่เป็นสื่อของเอกชน ถึงแม้จะมีอิสระมากกว่า แต่ยังถูกจำกัดอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับทิศทางของเจ้าของสื่อว่าจะเดินไปทางไหน แต่ที่เห็นได้ชัดคือ ถึงแม้ข่าวจะมีหลากหลาย แต่วิธีการนำเสนอก็ยังจำกัดอยู่ที่เรื่องข้อเท็จจริงเช่น ข่าวไฟไหม้ ก็จะบอกแค่ว่าไฟไหม้เมื่อไหร่ตอนไหน จะไม่มีการสันนิษฐานว่าสาเหตุเพลิงไหม้เกิดจากอะไรเป็นต้น คือไม่มีความคิดเห็นหรือการสืบเพิ่มเติม

“แม้ว่าปัจจุบันมีการเปิดประเทศมากขึ้น ก็ยังไม่มีคนกล้าเขียนแสดงความคิดเห็นมากนัก เพราะกลัวรัฐบาลฟ้อง เช่น หัวข้อเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา นักข่าวจะไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้มากนัก คือถ้าจะมีการนำเสนอความเห็น ก็จะเป็นการตามข่าวหรือการตามประเด็นที่มีคนนำเสนอแล้วมากกว่า ไม่มีใครอยากจุดประเด็น หรือเป็นตัวตั้งตัวตีในการนำเสนอประเด็นที่ละเอียดอ่อนมากนัก ทุกอย่างคงต้องค่อยเป็นค่อยไปเพราะสถานการณ์ก่อนหน้านี้ปิดกั้นมาก”

ในส่วนของงานวรรณกรรมนั้น ดร.มา ทิดา เล่าว่า ปัจจุบันนี้อินเตอร์เน็ตช่วยเปิดพื้นที่ให้นักเขียนรุ่นใหม่ที่จะนำเสนอเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะวรรณกรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ

วรรณกรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ ถูกจำกัดตั้งแต่ปี 1862 เพระมีการทำรัฐประหาร ทหารได้ทำลายวรรณกรรมของชาติพันธุ์ต่างๆ ไปมากมาย อย่างไรก็ตามตอนนี้ชาติพันธุ์ต่างๆ เริ่มมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น และมีการรณรงค์ให้ชาติพันธุ์ต่างๆ กลับไปสืบสานรากเหง้า สานต่อวัฒนธรรม ขนบและวิถีชีวิตของบรรพบุรุษ แต่ก็เป็นการยาก โดยเฉพาะภาษาชาติพันธุ์ต่างไม่มีการเรียนการสอนอย่างระบบ เป็นแค่ถ้อยคำในการสนทนา และคนรุ่นใหม่น้อยมากที่อยากเรียนด้านนี้ เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องตลาดแรงงานเนื่องจากงานด้านนี้ยังน้อยอยู่ และการนำไปต่อยอดก็ทำได้ไม่มากนัก

การทำงานด้านวรรณกรรมในตอนนี้ เห็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือนักเขียนอาวุโสและนักเขียนรุ่นใหม่ นักเขียนอาวุโสเป็นนักเขียนตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งโดนจำกัดเสรีภาพในการเขียนมาตลอด จะไม่กล้าแตะการเมืองโดยตรง แต่จะเขียนเรื่องการดำเนินชีวิตที่สะท้อนการอยู่ในรัฐทหาร คือใช้สัญลักษณ์ในการนำเสนอ เล่าเรื่องสะท้อนผ่านวิธีชีวิตประจำวัน แต่ก็ยังไม่ได้ใส่ความคิดเห็นหรือมุมมองลงไปในงานเขียนมากนัก เช่น พวกเขาอาจจะพูดเรื่องการเจ็บป่วย ไปโรงพยาบาล การบริการอาจจะล่าช้า แต่ไม่มีการตั้งสมมุติฐานว่าล่าช้าเพราะอะไร มีสัญลักษณ์สื่อถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้บอกเล่าออกมาชัดเจนนัก เนื่องจากอิทธิพลของรัฐบาล ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังคงมีงานเขียนในลักษณะดังกล่าวอยู่

อีกกลุ่มคือนักเขียนรุ่นใหม่ โดยตั้งแต่ปี 2012 มีการเปิดประเทศมากขึ้น แม้ว่าจะมีการนำเสนอเนื้อหาข่าวที่หลากหลายมากขึ้น แต่ข่าวจะแบนเป็นเพียงข้อเท็จจริงไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น ทำให้คนรุ่นใหม่สนใจสื่อวรรณกรรมเพิ่มขึ้น และปัจจุบันไม่มีการจำกัดการใช้อินเตอร์เน็ตแล้ว มีการตื่นตัวมากขึ้น เปิดเสรีการใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้คนหันมาหาความบันเทิงจากการอ่านวรรณกรรมมากขึ้น เป็นการเปิดพื้นที่ในวงวรรณกรรมให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้แสดงออกมาขึ้น

“เป็นอิสระทางการพูดที่ทุกคนโหยหามานาน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image