ทำไมวันนั้น ‘ฝรั่งรุ่ง จีนล่ม’

น่าทึ่งที่สุด ที่หนังสือแนวประวัติศาสตร์หนาขนาด 550 หน้าจะอ่านสนุก ชวนติดตามอย่างกับนิยายลึกลับซึ่งไขความคิดที่มาของเหตุการณ์ออกมาทีละเปลาะ ทีละเปลาะ แต่อ่านไป อ่านไป นี่มิใช่ประวัติศาสตร์จีนยุคใกล้ซึ่งผู้เขียนตั้งใจจะวิเคราะห์ ตีแผ่เส้นทางอันระหกระเหิน เจ็บปวด ของราชวงศ์สวรรค์ซึ่งต้องจ่ายค่าเรียนรู้ที่จะปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันโลก   ด้วยราคาแพงเกินกว่าจะมีเส้นทางเดินประเทศใดเทียบเท่า เพื่อความเข้าใจตัวเอง

แต่เป็นการพูดถึงประเทศไทย บ้านเมืองเราอยู่นี่นา หรือว่าเข้าใจผิด

ยิ่งอ่านไปเรื่องราวยิ่งบอกกับผู้อ่านว่า นี่มิได้จำเพาะเป็นเรื่องของเมืองจีน แต่วิธีคิดของผู้เขียนซึ่งเปรียบเทียบโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกในเวลาเดียวกัน ว่าทำไมโลกหนึ่งจึงก้าวไปข้างหน้าขณะอีกโลกกลับล้าหลังถอยไกลไปเรื่อยๆนี้ เปรียบได้กับทุกบ้านเมืองซึ่งทั้งตัวบุคคลและสภาพแวดล้อมอันตกในภาวะคล้ายคลึงกัน จะเกิดที่มาซึ่งไม่หนีกันเท่าไหร่ได้

ดังนั้น จึงอย่าพลอยเจ็บปวดตามไป แต่ต้องยอมรับและเข้าใจ ว่าคนอย่างไหน เวลาอย่างไหน บ้านเมืองจะเป็นไปอย่างไรเท่านั้นเอง

Advertisement

ยอมรับเพื่อแก้ไขได้ตรงประเด็น

ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา แปลโดย เขมณัฏฐ์ กับสุดารัตน์ จากงานของหวังหลง 

อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยงานทหารผู้รักการอ่านประวัติศาสตร์ ซึ่งหันมาทำงานกองบรรณาธิการนิตยสาร เขียนเรื่องนี้ขึ้นหลังจากการค้นคว้าเตรียมหลักฐานข้อเท็จจริงอย่างพร้อมมูล ด้วยจินตนาการความคิดนอกวิถีวิชาการ สร้างความเร้าใจให้กับการติดตามใคร่ครวญอย่างไม่อาจลดละ

Advertisement

โดยนำ 20 บุคคลมาเปรียบกัน เช่น จักรพรรดิคังซีกับซาร์ปีเตอร์ที่ 1, พระนางซูสีไทเฮากับพระราชินีวิคทอเรีย, จักรพรรดิกวงซวี่กับจักรพรรดิเมจิ, เฉาเสวี่ยฉิน กับเชคสเปียร์, ซุนยัดเซนกับจอร์จ วอชิงตัน  เป็นต้น

จักรพรรดิผู้มีเมตตา รักประชาชน ที่ว่าสร้างยุครุ่งเรือง แต่กลับเหมือนยุคอัศดง ขณะจักรพรรดิที่โหดเหี้ยม กระหายขยายอาณาเขตกลับนำบ้านเมืองล้าหลังเป็นมหาอำนาจ มหาราชินีที่ออกหน้าปกครองบ้านเมือง กลับยิ่งบริหารยิ่งยุ่งจนหายนะ  ขณะพระบรมราชินีนาถที่พอใจอยู่เบื้องหลัง กลับนำพาประเทศรุดหน้าไปไกล ฯลฯ

มหาราช นักปฏิรูป จอมทัพ ผู้นำกบฏไพร่ ผู้สร้างชาติ ปัญญาชน นักการเมือง กวีเอก ฯลฯ ถูกจับคู่กันเพื่อหาคำตอบที่เกี่ยวพันกับชะตาบ้านเมือง ซึ่งเขาเหล่านั้นเกี่ยวข้อง

เกิดอะไรขึ้นเมื่อเรื่องของจอร์จ วอชิงตันแพร่ไปในเมืองจีน ผู้คนอยากได้ระบอบที่ดีหรือจักรพรรดิที่ดี ต่างกันอย่างไรที่มีจอร์จ วอชิงตันอยู่มากในเมืองจีน แต่เมืองจีนไม่ใช่อเมริกา

น่าทึ่งอีกหนที่เมื่อนึกถึงนักเขียนเช่น หลู่ซุ่น  ซึ่งวาดตัวละครในยุคกำลังเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ ซึ่งมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรตามมาหลังปฏิรูปบ้านเมือง เห็นว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นคือการแย่งชิงอำนาจเหมือนเก่าก่อน และรอว่าวันหนึ่งจักรพรรดิจะขึ้นมาปกครองเช่นเดิม มองไม่เห็นบ้านเมืองประชาธิปไตย ว่าประชาชนจะบริหารกันเองได้อย่างไร

ช่างเป็นนักเขียนที่สายตายาวไกลจริงๆ หรืออย่างน้อยก็มองแทงทะลุจิตใจผู้คน

อ่านไป อ่านไป อาจจะเริ่มสงสัยว่าความคิดเกลียดชังพม่า เป็นเพราะประวัติศาสตร์ยัดเยียดให้คิดใช่ไหม หากไม่เคยสงสัยมาก่อน

ช่างเป็นหนังสือประวัติศาสตร์กระตุ้นความคิดอ่านอันแสนจะเพลิดเพลิน พลาดไม่ได้

พยาธิ  เยิรสมุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image