แฟนหนังเศร้า! ‘อาเธอร์ ฮิลเลอร์’ ผู้กำกับ ‘เลิฟ สตอรี่’ เสียชีวิตด้วยวัย 92 ปี

ภาพจาก www.rollingstone.com

อดีตประธานสถาบันศิลปภาพยนตร์และวิทยาศาสตร์ (The Academy of Motion Pictures Arts and Sciences) องค์กรผู้มอบรางวัล ออสการ์ ตุ๊กตาทองประจำปี ระหว่างปี 2536 – 2540 ชาวแคนาดา อาเธอร์ ฮิลเลอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างมากทั่วโลกจากภาพยนตร์เรื่อง เลิฟ สตอรี่ (พ.ศ. 2513) เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 92 ปี เมื่อพุธที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา

ผู้กำกับซึ่งเริ่มงานโทรทัศน์ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และกำกับภาพยนตร์มากกว่า 30 เรื่องในชั่ว 6 ทศวรรษ
แต่งานชิ้นระบือลือลั่นอันเป็นที่กล่าวขวัญไปกว้างขวางก็คือ “เลิฟ สตอรี่” ซึ่งสร้างจากนิยายขายดีก่อนหน้านั้นของ อีริค ซีกัล ในชื่อเดียวกัน ที่ทำให้สังคมอเมริกันช่วงนั้นอ่อนไหวไปทั่ว

หนังเข้าชิงตุ๊กตาทองออสการ์ถึง 7 สาขา แต่ได้มาตัวเดียวคือเพลงกับดนตรีประกอบฝีมือ ฟรานซิส ไหล นอกเหนือที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงคือ หนังยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทยอดเยี่ยม, ดารานำชายยอดเยี่ยม, ดารานำหญิงยอดเยี่ยม และดาราสมทบชายยอดเยี่ยม จอห์น มาร์ลี ส่งให้คู่พระนาง ไรอัน โอนีล และนางแบบ อาลี แมคกรอ พุ่งค้างฟ้าไปเลย

ขณะเดียวกัน หนังก็เข้าชิง 7 รางวัลลูกโลกทองคำด้วย โดยได้มาถึง 5 รางวัลคือ หนังดรามายอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ดารานำหญิงดรามายอดเยี่ยม, บทยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

Advertisement

ที่พิเศษในปีนั้นก็คือ หนังยอดเยี่ยมได้รางวัลลูกโลกทองคำพร้อมกันถึง 5 เรื่อง อีก 4 เรื่องคือ ดอคเตอร์ ชิวาโก, เดอะ ก้อดฟาเธอร์, วัน ฟลิว โอเวอร์ เดอะ คุคคู’ส เนสท์, อะ สตาร์ อีส บอร์น ถือเป็นปีทองของนักดูหนังทีเดียว

ตามมากับหนังรักบันลือโลกคือทำนองเพลงไพเราะของฟรานซิส ไหลที่หล่อเลี้ยงหนังทั้งเรื่อง กระทั่งติดหูผู้ชม จากนั้นเนื้อเพลง “แฮวร์ ดู ไอ บีกิน….. “ ของ คาร์ล ซิกแมน จึงสวมโน้ตตามเข้าไปทีหลัง

กลายเป็นเพลงรักอมตะในความทรงจำผู้คนไปอีกเพลง แม้จน ศรีไศล สุชาติวุฒิ ยังถือเป็นเพลงสำคัญเพลงหนึ่งในชีวิต
การสูญเสียยอดผู้กำกับคนหนึ่งคราวนี้ ประธานอะคาเดมีคนปัจจุบัน เชอริล บูน อิซัคส์ กล่าวว่า องค์กรโศกเศร้าอย่างลึกซึ้งกับการจากไป

Advertisement

“ฉันเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขณะที่เขาเป็นประธาน และโชคดีพอที่จะเห็นการทำงานของเขาอย่างใกล้ชิด ในการอุทิศตนเพื่อสถาบัน และความหลงใหลต่องานภาพยนตร์ตลอดช่วงชีวิตของเขา ” เธอกล่าวในแถลงการณ์

” ความโศกสลดของเราส่งไปถึงงานภาพยนตร์ที่เขารักด้วย ”

ทุกวันนี้ เมื่ออ้างถึงภาพยนตร์รักที่แม้ในเมืองไทยก็ฉายนานนับเดือนเรื่องนี้ ประโยคจับใจที่คนไม่ลืม ” รักไม่มีวันจะต้องเอ่ยคำว่าเสียใจ ” (love means never having to say you’re sorry) ยังถูกจดจำไม่ลืมเลือน

แม้จะประสบความสำเร็จในการทำงานหลายลักษณะในวงการกับนักแสดงและนักเขียนบทอีกหลายนาม แต่กว่าจะเป็นที่รำลึกถึงก็ต่อเมื่อได้รับรางวัล ยีน เฮอโชลท์ ฮิวแมนิแทเรียน ในปี 2545 จากอะคาเดมี

อาลี แมคกรอก็มีคำแถลงสู่สาธารณะเช่นเดียวกันว่า ฮิลเลอร์เป็นคนที่ “โดดเด่น เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ และจิตใจงดงาม ”
” เป็นส่วนอันสมบูรณ์ในประสบการณ์สำคัญที่สุดในชีวิตของฉัน ขอส่งใจและความรักไปยังครอบครัวของเขาด้วย “

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image