เงาสงครามเย็น มองเห็นผ่านหนัง

 

แม้ว่า ‘สงครามเย็น’ สงครามระหว่างลัทธิประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์จะจบลงไปหลายปีแล้ว แต่เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้น หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จึงได้คัดภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องจะพาผู้ชมย้อนอดีตกลับไปศึกษาเรื่องราวและอารมณ์ของยุคสมัยดังกล่าว ในโปรแกรม “เงาสงครามเย็น” ที่จะได้เห็นงานหลายๆชิ้นที่บันทึกภาพสงครามเย็นไว้ในหลากหลายบริบท ด้วยหวังว่าจะเป็นส่วนช่วยในการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับการอ่านงานวิชาการต่าง ๆ โดยประเดิมด้วยชุดแรก ในชื่อ ‘เมียเช่า ทหารอาสา พญาอินทรี’ ซึ่งเป็นการสำรวจบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของไทยในภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงผลข้างเคียงที่ตามมาจากสงครามย่อยต่าง ๆ ในสงครามเย็น

ทั้งนี้หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) แจ้งว่า ภาพยนตร์ที่จะฉายชุดนี้มีทั้งเรื่องราวการส่งทหารไปอาสาร่วมรบในสงครามเกาหลีใน ‘อารีดัง’ (2523) ตามมาด้วยผลกระทบของสงครามลาวทั้งในระดับครอบครัวอย่าง ‘รักนิรันดร์’ (2513) หรือลงลึกไปสู่ระดับจิตใจใน ‘สัญชาตญาณโหด’ (2521) ที่กล่าวถึงทหารรับจ้างผู้ไม่อาจลบฝันร้ายจากอดีต ในขณะที่ ‘กัมพูชา’ (2518) แสดงให้เห็นภาพของรัฐกันชนอย่างไทยที่กลายเป็นเป้าหมายการลี้ภัยของเพื่อนบ้านที่ต้องหนีตายจากภัยสงคราม ส่วนสงครามเวียดนามนั้น ได้ยกตัวอย่างให้เห็นทั้งหนังแอ็กชั่นชิงสมบัติของเหล่าทหารเรื่องดังอย่าง ‘ทอง’ (2516) หรือภาพสะท้อนจากการที่เปิดประเทศให้ทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพจนทำให้เกิดบรรดาลูกครึ่งและอาชีพเมียเช่า ใน ‘เพื่อนรัก’ (2520) รวมไปถึง ‘ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด’ (2528) ที่อยู่ในโปรแกรมมรดกภาพยนตร์ของชาติ และยังมี ‘คำสั่งคำสาป’ (2497) ผลงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติอีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่พญาอินทรีอย่างอเมริกาครอบงำคนไทยด้วยสื่อภาพยนตร์

โดยมีรายละเอียดการฉายคือ เรื่อง ‘ทอง’ ภาพยนตร์ชื่อดังของ ฉลอง ภักดีวิจิตร เรื่องราวในช่วงยุคสงครามเวียดนาม เมื่อรัฐบาลอเมริกากับรัฐบาลไทยจับมือกันส่งทองคำมูลค่ามหาศาลไปช่วยเวียดนามใต้ ทว่าในระหว่างขนส่งทองคำทางอากาศ เครื่องบินกลับถูกพวกทรยศจี้เป็นตัวประกันเพื่อนำทองนั้นส่งให้เกาหลีเหนือ ฝ่ายอเมริกาจึงตัดสินใจว่าจ้าง ฮิลล์ ทหารรับจ้างเพื่อตามทองกลับมา เรื่องนี้ สมบัติ เมทะนี, กรุง ศรีวิไล, อโนมา ผลารักษ์ แสดง ฉายวันที่ 26 มีนาคม เวลา 13.00 น. ที่โรงช้างแดง

Advertisement

เรื่อง ‘กัมพูชา’ เป็นผลงานของผู้กำกับ ทรนง ศรีเชื้อ นำแสดงโดย นิกร กาญจน์สูงเนิน ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดภาพอันโหดร้ายของสงครามทางการเมืองในกัมพูชา ผ่านตัวละครโซ ซอมบัค เด็กชายชาวกัมพูชาวัย 12 ปี ที่สูญเสียพ่อและแม่ไปในสงคราม เขาจึงแบกน้องสาวแบเบาะเดินทางมายังประเทศไทยตามที่พ่อเคยบอกไว้ว่าเป็นสถานที่ปลอดภัยของชาวกัมพูชา แต่ระหว่างทาง โซได้พบกับกลุ่มทหารเด็กที่ยังพยายามแย่งชิงมาตุภูมิคืน เขาจึงต้องตัดสินใจว่าจะพาน้องข้ามมายังไทย หรือร่วมต่อสู้เพื่อบ้านเกิด ฉายวันที่  30 มีนาคม เวลา 13.00 น. ที่โรงช้างแดง

Advertisement

ส่วนเรื่อง ‘เพื่อนรัก’ เป็นงานกำกับของ สักกะ จารุจินดา ซึ่งสะท้อนสภาพสังคมไทยในช่วงปลายสงครามเวียดนามที่สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพ ผ่านเรื่องราวของเด็กต่างเชื้อชาติ 3 คนซึ่งต่างมีปัญหาครอบครัว คือ ‘ภุชงค์’ เด็กชายชาวไทย ‘จิมมี่’ เด็กชายลูกครึ่งอเมริกัน-เกาหลี และ ‘หมวย’ เด็กหญิงเชื้อสายจีน วันหนึ่งพวกเขาตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ด้วยกัน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งมิตรภาพและการผจญภัยที่ไม่อาจลืม นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี, ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, ปัฐม์ ปัทมจิตร, Dana Myers, พอหทัย พุกกะณะสุต ฉายวันที่ 14 มีนาคม เวลา 13.00 น. และวันที่ 20 มีนาคม เวลา 15.30 น. ที่โรงช้างแดง

‘ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด’ งานกำกับของ วิจิตร คุณาวุฒิ นำแสดงโดย ลินดา ค้าธัญเจริญ, วิลเลียม เมลเชอร์ ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์เรื่องดังของ โบตั๋น เล่าเรื่องราวของบุญรอด หญิงสาวผู้ยืนหยัดไม่ยอมเป็นเมียเช่าทหารอเมริกัน แม้จะประสบกับความยากลำบากและคำสบประมาทต่าง ๆ นานา เป็นเสมือนคำประกาศในศักดิ์ศรีของผู้หญิงไทย ช่วงที่ส่วนหนึ่งของประเทศตกเป็นฐานทัพของกองทัพอเมริกา ฉายวันที่ 14 มีนาคม เวลา 15.30 น. ที่โรงช้างแดง

สำหรับเรื่อง ‘รักนิรันดร์’ ฉายวันที่ 17 มีนาคม เวลา 13.00 น. และวันที่ 23 มีนาคม เวลา 15.30 น. ณ โรงช้างแดง เป็นงานกำกับของ ภรณี สุวรรณทัต นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี, เพชรา เชาวราษฎร์ ในเรื่องราวของระทม สาวน้อยที่ถูกพ่อทิ้งไปในช่วงที่เกิดสงครามแถบชายแดนไทย เธอจึงต้องไปอยู่กับแม่ที่ฮ่องกง แต่เมื่อพ่อของเธอได้กลับมาพร้อมกับเมียใหม่ ทำให้แม่ของระทมตรอมใจฆ่าตัวตาย ในขณะที่เธอก็ได้พบรักกับโจรหนุ่มชื่อรักษ์ และตัดสินใจจะหนีไปใช้ชีวิตสุจริตด้วยกัน แต่กลับถูกกีดกัน และพาเธอมาอยู่ด้วยกันในกองทัพชายแดนลาว รักษ์จึงออกตามหาคนรักโดยแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ก่อการร้าย

‘อารีดัง’ งานที่ผู้กำกับ แจ๊สสยาม เล่าเรื่องของร้อยเอกคงพันธ์ ซึ่งถูกส่งไปร่วมรบในสงครามเกาหลีจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ที่นั่นเขาได้รับการรักษาและช่วยเหลือจากโอบูนริ หญิงชาวเกาหลี ที่ต่อมาความสัมพันธ์พัฒนาเป็นความรักและได้แต่งงานกัน เมื่อสงครามสงบ คงพันธ์ต้องเดินทางกลับไทย ในขณะที่โอบูนริกำลังตั้งท้อง เขาให้สัญญาว่าจะกลับมารับเธอ แต่เมื่อถึงเมืองไทย กลับพบว่าครอบครัวได้หมั้นหมายเขากับหญิงอื่นไว้เสียแล้ว เรื่องนี้ จตุพล ภูอภิรมย์, วาสนา สิทธิเวช, มิส ชองซุน มี แสดง และจะฉายในวันที่ 25 มีนาคม เวลา 13.00 น. และ 27 มีนาคม เวลา 15.30 น. ที่โรงศาลาศีนิมา

ส่วนเรื่อง ‘สัญชาตญาณโหด’ นั้น เพิ่มพล เชยอรุณ กำกับ จตุพล ภูอภิรมย์, นันทนา เงากระจ่าง, สุเชาว์ พงษ์วิไล แสดง โดยจะฉายภาพของทศ ผู้เป็นโรคประสาทหลอนจากผลพวงที่เขาไปเป็นทหารรับจ้างรบในช่วงสมรภูมิที่ลาว จนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น เขาได้กลับมาอยู่บ้านกับชาดา ภรรยาที่ทำงานให้กับนักธุรกิจหนุ่มที่ลักลอบค้าผงขาว นำไปสู่เหตุการณ์อันเลวร้ายที่ทำให้ภาพในอดีตผุดขึ้นมาหลอกหลอนเขาอีกครั้ง ฉายวันที่ 25 มีนาคม เวลา 15.30 น. โรงศาลาศีนิมา และวันที่ 31 มีนาคม เวลา 13.00 น. โรงช้างแดง

เรื่องสุดท้ายในโปรแกรมนี้คือ ‘คำสั่งคำสาป’ เรื่องนี้กำกับโดย เบอร์เน็ตต์ ลามอนต์ โดยมี วสันต์ สุนทรปักษิน, สวลี ผกาพันธุ์, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา, อารี โทณะวณิก, อุโฆษ จันทร์เรือง, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม, ประหยัด ศ. นาคะนาท แสดง เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์เพิ่งค้นพบในหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา งานที่สร้างโดยทีมงานจากฮอลลีวู้ด แต่นำแสดงโดยนักแสดงไทยที่โด่งดังจากละครเวทีซึ่งเฟื่องฟูในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และประพันธ์เรื่องโดย กุมุท จันทร์เรือง นักเขียนบทละครเวทีคนสำคัญ ซึ่งเล่าเรื่องราวของกลุ่มคนหนุ่มที่มีทั้งนักสืบและนักวิชาการ ซึ่งร่วมกันสืบหาเบื้องหลังของเหตุการณ์ลึกลับ เมื่อรูปปั้นของ ดร.ทองคำ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีใจรักในประชาธิปไตยและมีผู้คนศรัทธาเป็นจำนวนมาก กลับเปล่งเสียงเชิญชวนให้ผู้คนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ ซ้ำยังเกิดเหตุฆาตกรรมปริศนาภายในบ้าน

ภาพยนตร์เรื่องนี้สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ. 2494 แต่ได้รับการตัดต่อใหม่สำหรับฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อ พ.ศ. 2497 ทำให้ภาพยนตร์ที่ค้นพบมีทั้งหมด 2 ฉบับ และมีเครดิตผู้สร้างที่แตกต่างกัน โดยฉบับที่ฉายในรอบนี้พบหลักฐานว่าออกฉายในโรงภาพยนตร์ในปี พ.ศ . 2497 เข้าชมได้ในวันที่ 27 มีนาคม เวลา 13.00 น. โรงศาลาศีนิมา

ทั้งนี้ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 02-482-2013 – 15 ต่อ 0 หรือ 081-550-871

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image