เปิดใจ ‘ธมนธร อมรธีรสรรค์’ สาวน้อยผู้หลงรักมังงะ

โลกของ “มังงะ” หรือการ์ตูนช่องญี่ปุ่นเป็นโลกหนึ่งที่น่าหลงใหลไม่น้อย ด้วยเสน่ห์จาก “ลายเส้น” ที่เป็นเอกลักษณ์ของนักเขียนแต่ละคนซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ มากมาย ที่พวกเขาต้องการจะสื่อไปยังนักอ่านผ่านภาพวาดที่เน้นแสงเงามากกว่ารูปทรง

“ภาพตามอารมณ์” ซึ่งเป็นความหมายของมังงะนั้น จึงเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่สำคัญโดยถือเป็นศิลปะทั้งในแง่ของวิจิตรศิลป์และวรรณกรรม

สาวน้อยหน้าใสคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาด้วยความหลงใหลในมังงะ ความหลงใหลของเธอไม่ใช่แค่ตามอ่านหนังสือมังงะเล่มโปรด ทว่าเธอต่อยอดความหลงใหลนั้นถึงขั้นยอมทิ้งสังคมวัยรุ่นในเมืองไทย เพื่อไปเรียนต่อในชั้นมัธยมปลายและปริญญาตรีด้านมังงะ และเพิ่งจบปริญญาตรีสาขามังงะ คณะสตอรี่ มังงะ มหาวิทยาลัยเกียวโตเซกะ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นมาหมาดๆ พร้อมกับหนังสือเล่มใหม่ “มหา’ลัย สายมังงะ” ที่เธอถ่ายทอดทุกประสบการณ์ทั้งความมุ่งมั่น แรงใจ การก้าวผ่าน ความอดทน และความพยายามในการเดินทางบนเส้นทางสายมังงะ

โดยทุกความรู้สึกของ ธมนธร อมรธีรสรรค์ มาพร้อมกับรอยยิ้มสดใสและแววตาที่เปล่งประกายเมื่อพูดถึงมังงะ และงานเขียนเล่มที่ 3 ของเธอ

Advertisement

“ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ แต่ตอนนั้นก็ยังเป็นความชอบแบบเด็กๆ คือวาดแล้วเพลิน เป็นงานอดิเรก โตขึ้นมาหน่อยถึงค่อยอยากทำเป็นจริงเป็นจัง ตอนที่รู้ตัวว่าชอบวาดการ์ตูนก็หาเวลาว่างวาดเรื่อยๆ แล้วก็ขอที่บ้านเรียนศิลปะ ทั้งพวกดรอว์อิ้งหรือลงสีน้ำแล้วก็คลาสวาดการ์ตูนด้วย ตอนนั้นก็ปรึกษาคุณพ่อคุณแม่นี่ล่ะค่ะ แล้วก็ได้พวกท่านคอยสนับสนุน เริ่มแรกเลยก็หาข้อมูลตามงานแฟร์เกี่ยวกับเรียนต่อประเทศญี่ปุ่น ดูว่ามีที่ไหนน่าสนใจ โชคดีที่มีคุณป้าอยู่ที่โตเกียวช่วยหาข้อมูลให้ด้วย เราเองก็เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่อยู่ไทยแล้วเลยพอพูดแบบไปวัดไปวาได้ จึงได้ลองไปคุยกับทางโรงเรียนและลองสอบเข้าค่ะ” ธมนธรเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มสดใส

โรงเรียนมัธยมปลายเท็ตสึคายาม่าที่ธมนธรไปสอบนั้น จริงๆ แล้วไม่รับนักเรียนต่างชาติ แต่วิชาศิลปะที่เธอทดสอบไปก็ทำให้โรงเรียนตัดสินใจรับ และธมนธรก็กลายเป็นนักเรียนต่างชาติคนเดียวของโรงเรียน และชีวิตก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

14233743_10208610154865151_534035523_o

Advertisement

 

“ก่อนไปญี่ปุ่นโรงเรียนที่เรียนอยู่ ม.ต้นเป็นโรงเรียนปกติ เลยมีทั้งเพื่อนที่สนใจด้านวิชาการ ด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านศิลปะคละๆ กันไป ทำให้มีคนที่ชอบเรียนสายเดียวกันไม่มาก ฝีมือเราก็ดูโดดเด่นขึ้นมา แต่พอมาอยู่ในที่ๆ ทุกคนชอบวาดรูปเหมือนกันแล้วทำให้รู้เลยว่าเรายังต้องพัฒนาอีกมาก เรียนที่เท็ตสึคายาม่า เหมือนเรียนสายศิลป์มังงะน่ะค่ะ คือเรียนทั้งวิชาการปกติด้วยแต่จะเน้นไปที่วิชาศิลปะเยอะหน่อย มีทั้งวิชาอิลลัสต์ แอนิเมชั่น และมังงะ ให้นักเรียนได้ลองทำงานศิลปะหลายๆ อย่างมากกว่าค่ะ

เราได้ลองวาดตามต้นฉบับของจริงดู เราจะได้รู้ขั้นตอนการวาดทุกอย่างตั้งแต่วิธีการใช้กระดาษต้นฉบับ ร่าง ตัดเส้นโดยใช้ปากกาจีเพ็น แปะสกรีนโทน ตอนที่ลองครั้งแรกทุกอย่างดูแปลกใหม่ไปหมด ตื่นเต้นมากๆ ค่ะ

ตอนที่เรียน ม.ปลาย เพื่อนหลายคนก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นนักวาดการ์ตูนหรือทำงานศิลปะแนวไหน ทางโรงเรียนเลยมีวิชาให้ได้ทดลองหลายๆ อย่าง แต่ทุกคนก็จริงจังกันทุกวิชา เพราะจะได้เจอสิ่งที่ตัวเองชอบ และกลายเป็นแรงผลักดันให้เราทำทุกงานอย่างเต็มความสามารถด้วย”

ธมนธรบอกว่า แม้จะมีความกดดันอยู่บ้างเพราะต้องทำให้งานออกมาดี และส่งทันเวลาทุกงาน แต่ความกดดันพวกนั้นก็ช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นและมีระเบียบในการทำงานมากขึ้น และได้ตัดสินใจเรียนระดับปริญญาตรีสายมังงะที่ Kyoto Seika University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยนี้แห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นที่เปิดคณะมังงะขึ้นมาโดยเฉพาะ

“จะเน้นไปที่การวาดมังงะอย่างเดียวเลย พวกวิชาการและงานศิลปะแขนงอื่นจะหายไป เช่น แอนิเมชั่นหรืออิลลัสต์เราก็จะไม่ได้ทำแล้ว ยกเว้นลงวิชาเลือกเสรีเพิ่ม ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับศิลปะแขนงนี้มาก มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดคณะการ์ตูน ที่ญี่ปุ่นเองการ์ตูนก็เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก การแข่งขันเพื่อที่จะเป็นนักวาดการ์ตูนนั้นสูงมาก การไปเรียนต่อที่ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการ์ตูนมากๆ มันทำให้เราเห็นขั้นตอนในการวาดการ์ตูนอย่างจริงจัง ทำให้รู้ว่ากว่าจะเป็นเล่มต้องผ่านอะไรบ้าง และไม่ใช่แค่ภาพสวยอย่างเดียว แต่เรื่องยังต้องสนุกด้วยถึงจะขายได้ ทำให้เปิดกว้างมุมมองเกี่ยวกับการ์ตูนเพิ่มขึ้น หลายครั้งก็ท้อเหมือนกัน แต่อีกใจหนึ่งเราก็รู้ว่าเรากลับไม่ได้เพราะเราตัดสินใจที่จะมาที่นี่เอง ได้แต่พยายามต่อไป”

หลังจากที่ธมนธรได้เขียนหนังสือออกมาสามเล่ม ตอนนี้เธอกลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของเด็กๆ รุ่นใหม่ที่อยากเป็นนักเขียนมังงะและกำลังค้นหาเส้นทางเดินของตัวเอง ธมนธรบอกว่าเธอเชื่อมั่นในความตั้งใจ ถ้ามีความมุ่งมั่นทุกอย่างจะเป็นไปได้เสมอ และไม่ว่าจะเป็นนักเขียนมังงะที่ไทยหรือญี่ปุ่น ก็ต้องใช้ความพยายามไม่ต่างกัน

“ญี่ปุ่นกับไทยมีความเป็นไปได้ที่จะยึดอาชีพเป็นนักวาดการ์ตูนไม่ต่างกันมาก เพราะที่ญี่ปุ่นการ์ตูนเป็นอุตสาหกรรมใหญ่มากก็จริง แต่การแข่งขันก็ยิ่งสูงเช่นกัน ส่วนที่ไทยการ์ตูนไทยแนวญี่ปุ่นก็ยังไม่โตเท่าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็ต้องใช้ความพยายามมากพอๆกันค่ะ
เวลาเราอ่านการ์ตูนก็เหมือนได้อ่านความคิดของคนเขียน อ่านมุมมองและทัศนคติที่ต่างออกไป มันเปิดโลกเราให้กว้างขึ้น ทำให้เราได้ใช้ความคิดไปกับเนื้อเรื่องต่างๆด้วย เราได้แนวความคิดใหม่ๆ และคำสอนในการใช้ชีวิตดีๆมากมาย”

“ไม่ว่าจะนำเสนอรูปแบบไหน การ์ตูนจึงไม่เคยไร้สาระเลยค่ะ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image