สกู๊ป.. ปิดเล่ม61ปี “สกุลไทย” โบกมือลา

เป็นอีกหนึ่งข่าวคราวที่น่าใจหายสำหรับคอหนังสือ เมื่อนิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์ออกมาประกาศว่าจะยุติการจัดทำหลังอยู่คู่คนไทยมากว่า 61 ปี โดยฉบับสุดท้ายจะวางแผงในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ซึ่งนวนิยายที่ตีพิมพ์ในนั้นและยังไม่จบเรื่อง สำนักพิมพ์เพื่อนดีและทรีบีส์จะดำเนินการรวมเล่มต่อไป

ทั้งหมดนี้เกิดจากเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเอเยนต์จัดจำหน่ายที่ลดลง ทำให้สื่อกระดาษค่อยๆ เผชิญหน้าวิกฤตอย่างช้าๆ และสกุลไทยคือหนึ่งในนิตยสารกระดาษที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงมรสุมนี้ได้-ก่อนจะลงเอยด้วยการปิดตัวลงดังที่เป็นข่าวล่าสุด

กับเรื่องราวเหล่านี้นั้น ผู้คนในแวดวงน้ำหมึกย่อมสะเทือนใจและแสดงความคิดเห็นผ่านหลากหลายทัศนคติ

เริ่มที่ วุฒิชาติ ชุ่มสนิท หรือ บินหลา สันกาลาคีรี นักเขียนรางวัลซีไรต์ บรรณาธิการนิตยสารไรเตอร์ นิตยสารวรรณกรรมรายเดือน ที่เพิ่งปิดตัวไปเช่นกัน ได้กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันเป็นสิ่งที่ทำให้สิ่งที่คุ้นเคยในชีวิตของคนรุ่นเก่านั้นตายไป เหมือนกับลูกที่ตายก่อนพ่อแม่

Advertisement

“พ่อแม่ก็ได้แต่ใจหาย ยังคงมีชีวิตอยู่ด้วยความอาลัยรัก” เขาเล่า

วุฒิชาติกล่าวต่อว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่มีทางเลือก ขณะที่คนรุ่นเก่าที่อยู่กับหนังสือแบบนี้มาตลอดไม่มีทางเลือกให้กับตัวเอง

“อนาคตพวกเขาจะต้องใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เขาจะลุกชึ้นมาเสพสกุลไทย แต่ช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่มีสกุลไทยให้เสพอีกแล้ว

Advertisement

จะให้คนรุ่นพวกเขามาอ่านตามเฟซบุ๊ก หรือออนไลน์มันก็ไม่ใช่”

ส่วนแนวทางของนักเขียนนิยายรุ่นใหม่ในอนาคต วุฒิชาติ ตอบว่า อย่างในเมืองจีนนักเขียนนิยายจีนใหม่ๆ ก็เปลี่ยนเป็นการเขียนลงในเว็บไซต์ก่อน

หลังจากได้รับความนิยมแล้วก็ค่อยนำมารวมเล่ม ซึ่งเขาเชื่อว่าในอนาคตเมืองไทยก็จะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ก่อนให้บก.เป็นคนตัดสินใจ แต่ในอนาคตสังคมจะเป็นคนตัดสิน

ทว่าอีกมุมหนึ่ง วุฒิชาติกล่าวว่า ในกรณีนี้ก็เหมือนกับเป็นดาบสองคม หากสังคมกว้างไกลเราก็ได้งานเขียนที่มีคุณภาพมาตีพิมพ์ แต่หากสังคมอับจนปัญญาก็ได้หนังสือที่อับจนปัญญาเช่นกัน

ซึ่งจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น วุฒิชาติกล่าวว่า นักเขียนรุ่นใหม่เกิดยากขึ้นในรูปแบบวิธีเดิมที่ส่งงานมาให้ บก.พิจารณา

“อนาคต บก. จะไม่มีอีกแล้ว แต่นักเขียนรุ่นใหม่จะต้องเกิดด้วยตัวเอง เกิดด้วยสังคม”

เขากล่าวอีกว่า ถึงแม้รูปแบบดังกล่าวอาจจะเอื้อให้คนมีชื่อเสียงสามารถเกิดในงานเขียนได้ง่ายกว่า แต่การเกิดของนักเขียนนั้นยังต้องอาศัยการยืนระยะ

เพราะนักเขียนจะใช้เวลาการเกิดนานกว่านักร้อง หรือนักแสดง ดังนั้นสิ่งที่จะพิสูจน์เขาคือการยืนระยะ

“ชื่อเสียงมันสามารถนำมาหากินได้ง่ายกว่าอยู่แล้ว แต่ระยะยาวมันไม่คุ้ม งานแบบนี้ต้องเกิดด้วยความรัก คุณสามารถเอาชื่อเสียงมาใช้ก็ได้

แต่ไม่สามารถใช้ในระยะยาวได้ สังคมเองทุกวันนี้ก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น คุณจึงไม่สามารถเอาชื่อเสียงมาใช้ได้ในระยะยาว”

วุฒิชาติกล่าวอีกว่า แม้ว่าเทรนด์ของสังคมเป็นคนกำหนดให้นักเขียนเลือกแนวเพราะการตลาดมันมีผล แต่ระยะยาวการตลาดก็จะแพ้

ปรากฏการณ์นี้ยิ่งทำให้เกิดความหลากหลาย และไม่มีใครที่จะผูกขาดในแนวของงานเขียนในวงการวรรณกรรมได้

“งานเขียนมันยิ่งแตกแขนงหลายหลากมากขึ้น เพราะเราจะไม่มีด่านแล้ว มีแต่ผู้เขียนกับผู้อ่านเผชิญหน้ากัน เขาก็จะสามารถนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ได้มากขึ้น แต่ถ้าเรามีนิตยสารอยู่เชื่อว่างานเขียนหลายแนวจะไม่ได้เกิด” เขากล่าวทิ้งท้าย

ด้านอุรุดา โควินท์ นักเขียนนวนิยายชื่อดัง กล่าวว่า นิตยสารมี 2 อย่าง คือ นิตยสารเพื่ออ่าน อย่างสกุลไทย ขวัญเรือน กับนิตยสารภาพ เช่น นิตยสารแฟชั่น ช่วงที่นิตยสารภาพทยอยปิดตัวไปรู้สึกไม่แปลกใจ เพราะคนเปลี่ยนมาดูภาพจากโซเชียลมีเดียผ่านโทรศัพท์มือถือ ดูจากดิจิทัลได้ โฆษณาอาจย้ายที่ แต่ส่วนตัวแล้วตอนนั้นเชื่อว่ามีคนต้องการอ่านอย่างจริงจัง นิตยสารเพื่ออ่านน่าจะมียอดขายจากคนอ่านจริงๆ สังเกตได้ว่า นิตยสารกลุ่มนี้ไม่เน้นโฆษณา เพราะมีคนซื้ออ่าน พอสกุลไทยปิดตัว จึงใจหายอย่างมาก นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สะเทือนวงการนวนิยาย

“สกุลไทยคือบ้านของนักเขียนนวนิยาย ถ้าไม่มีสกุลไทย ไม่รู้ว่าจะได้เขียนนิยายต่อเนื่องถึง 5 เรื่องหรือไม่ นักเขียนนวนิยายส่วนหนึ่งนึกเสมอว่าสักวันหนึ่งจะส่งผลงานตัวเองไปลงสกุลไทย นักอ่านคิดว่าสกุลไทยคือเพื่อน รอวันอังคาร มีบางบ้านอ่านมาถึงรุ่นลูก หลายคนคงถึงกับร้องไห้ ต่อจากนี้ไป”

“การแจ้งเกิดของนักเขียนอาจต้องถางทางใหม่ เช่น อาจต้องได้รางวัล และถ้ามี ฝีมือจริงๆ ยังมีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ รับพิมพ์งาน ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือนักเขียนกลุ่มกลางๆ จะเก่าก็ไม่เก่า จะใหม่ก็ไม่ใช่ เพราะไม่สดแล้ว และยังไม่มีแฟนติดตามมาก งานสด ยังหาที่พิมพ์ได้ง่ายกว่า”

อุรุดาบอกอีกว่า ส่วนนักเขียนชั้นครู รายได้ในส่วนนี้ลดลงแน่นอน แต่รายได้จากหนังสือเล่มอาจมากขึ้น เพราะไม่มีนิตยสารรายสัปดาห์ให้อ่านแล้ว เมื่อออกเป็นเล่มอาจน่าตื่นเต้นมากกว่า

“สรุป คือ นักเขียนนวนิยายต้องปรับตัว อาจพึ่งดิจิทัลมากขึ้น ให้โหลดนิยายขายเป็นตอน หรือระดมทุนพิมพ์หนังสือเล่มแบบออนดีมานด์ให้พอดีกับคนอ่าน อาจจะสองร้อย สามร้อย หรือห้าร้อยก็แล้วแต่”

อุรดาทิ้งท้ายว่า สำหรับตัวเอง ต้องคิด 2 อย่าง คือ ชีวิต กับการเขียน เมื่อสกุลไทยหายไป ก็ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองด้วยการเขียนได้ ต้องตัดเรื่องเงินออกไปจากการเขียน อีกด้านหนึ่งจึงต้องหารายได้จากด้านอื่น เช่น ขายน้ำพริก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบทำอยู่แล้ว เพื่อให้ไม่ต้องพะวงว่าต้องเขียนเพื่อให้เงินพอใช้จ่าย

ขณะที่ ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปิน

แห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 เป็นอีกคนที่อยู่ในวงการวรรณกรรมมาเนิ่นนาน เห็นการเกิดและดับของสื่อสิ่งพิมพ์อยู่หลายครั้งหลายคราว-แต่การปิดตัวลงของสกุลไทยก็ยังทำให้เธอสะเทือนใจ

“ทุกคนก็เสียใจ ใครก็ต้องเสียใจ เพราะเป็นหนังสือที่สร้างนักอ่านจำนวนมาก”

ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์กล่าว

ทั้งหมดนี้ ชมัยภรคิดว่าไม่ใช่เพราะนักอ่านนั้นกำลังหมดไป เธอยังคงยืนยันว่านักอ่านก็ยังอ่านกันอยู่ “เพียงแต่น้อยลง”

“เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตกใจอย่างหนึ่งพอสมควรสำหรับงานสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะตอนนี้สื่อสิ่งพิมพ์ก็กำลังสู้กับงานดิจิทัลและออนไลน์อย่างหนัก กล่าวรวมๆ คือสื่ออินเตอร์เน็ต”

การจากไปของสกุลไทยและสื่อสิ่งพิมพ์นั้นจึงเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนทำสื่อสิ่งพิมพ์อีกเลย เพราะท้ายที่สุด ก็เพียงแต่คนอ่านสื่อสิ่งพิมพ์นั้นอาจอยู่ในกลุ่มคนอายุมากหรือคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจว่า

โดยเนื้อแท้แล้ว สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายย่อมไม่เหมือนสื่อดิจิทัล เพราะสื่อดิจิทัลนั้นเน้นความเร็วเข้าว่า แต่สื่อสิ่งพิมพ์นั้นเป็นสื่อที่อ่านเพื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพื่อเข้าใจทั้งเนื้อหาและตัวเอง

แต่คิดว่านักเขียนใหม่มีช่องทางอยู่แล้ว เพราะออนไลน์ก็เป็นช่องทางหนึ่งทำให้นักเขียนรุ่นใหม่เกิดได้ ทั้งนี้ชมัยภร เชื่อว่านิตยสารคงไม่ปิดไปทั้งหมด แต่ว่านิตยสารใดจะเกิดใหม่ เกิดอย่างไร อยู่อย่างไรในโลกที่เคลื่อนไหว

เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เป็นต้องคิดกันต่อไป

“ดังนั้นจึงไม่ได้แปลว่านิตยสารตายสนิท” เธอกล่าว

ทั้งยังยืนยันว่า ไม่ว่าจะในสื่อแบบใด โลกสมัยไหน ก็ย่อมต้องมีเรื่องแต่งอย่างวรรณกรรมและนวนิยายอยู่เสมอ

“มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีงานเรื่องแต่งเพราะงานเหล่านี้สร้างจินตนาการ ต้องมีอยู่ มีเพื่อสร้างให้เราได้เข้าใจความเป็นชีวิตมากขึ้น ชัดเจนขึ้น”

เป็นคำตอบอย่างตรงไปตรงมาของชมัยภร แสงกระจ่าง

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นหลากข้อคิดเห็น ที่มีต่อปรากฏการณ์การปิดตัวของนิตยสาร และแนวทางใหม่ที่ต้องปรับตัวตามยุค ปรับเปลี่ยนรูปแบบ เพื่อที่จะเกิดใหม่และอยู่รอดต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image