Mad About… ลูกบ้าของ ‘โตมร’ และ ‘นิ้วกลม’

แวบแรกหลังเห็นข้อมูลคร่าวๆ ของโปรเจ็กต์ที่ถูกแชร์ต่อๆ กันไปในโซเชียลมีเดียคือ “นี่มันลูกบ้าชัดๆ” สมชื่อ Mad About ที่ 2 นักเขียน โตมร ศุขปรีชา และ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ นิ้วกลม จับมือกันสร้างขึ้นในรูปแบบ “นิตยสาร”… ถูกแล้ว สื่อที่ถกเถียงกันอยู่ตลอดถึงความเป็นความตายนั่นล่ะ แต่บอกเลยว่านิตยสารของพวกเขามีโครงสร้างที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ

4

โดยจุดเริ่มของ Mad About นั้น นิ้วกลมมีความฝันว่าอยากทำนิตยสารเลยปรึกษาโตมรถึงความเป็นไปได้ ซึ่งโตมรคิดอยู่พอดีว่าแม้จะไม่ใช่ยุคทอง แต่นิตยสารก็ไม่ใช่สื่อที่รอความตายเช่นกัน

“เราอยากทำเพราะอยากบอกอะไรบางอย่าง เพื่อให้ทุกคนรู้ว่ายังไม่แย่ขนาดนั้น และคงไม่ตายลงอย่างสิ้นเชิงแม้จะเป็นช่วงขาลง การทำครั้งนี้ไม่ได้บอกว่าตัวเองเก่งหรือทำได้ แต่อยากพิสูจน์ว่าผู้คนยังมีความต้องการนิตยสารอยู่หรือเปล่า ซึ่งจะเป็นการปลุกเร้าคนอื่นและตนเอง พร้อมพิสูจน์ไปในตัวว่าสิ่งที่เราทำมีคนต้องการอยู่หรือเปล่า คิดถึงความตูมตามที่นิตยสารเคยทำได้ คงสนุกดีหากเราทำอะไรเกี่ยวกับนิตยสารแล้วรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาอีกครั้ง” โตมรอธิบายด้วยรอยยิ้ม

Advertisement

เหตุผลนี้คือสิ่งที่นิ้วกลมบอกว่า เขาทั้งคู่มีความเชื่อในทฤษฎีสีชมพูเหมือนๆ กัน

“ผมและคุณโตมรทำงานด้วยกันมาตั้งแต่สยามวาระ วัฒนธรรมชุบแป้งทอด จนมาถึง 101% ทำให้เห็นว่าเรามีความเชื่อทฤษฎีสีชมพูเหมือนๆ กัน เหมือนสีใกล้กันก็จะซึมหากัน โดยเฉพาะเรื่องของความรักในนิตยสารเหมือนกัน และเราอยากสร้างพื้นที่ที่มีความหลากหลาย เปิดกว้างในการใส่ความคิด และผู้คนที่หลากหลาย เป็นพื้นที่กลางที่หลายส่วนผสมรวมกัน พื้นที่ตรงนี้เป็นเรื่องจำเป็น”

2

Advertisement

พื้นที่กลางที่รวมนักเขียนยั่วน้ำลายคนอ่านทั้งนั้น ทั้ง วินทร์ เลียววาริณ, ประภาส ชลศรานนท์, หนุ่มเมืองจันท์, คำ ผกา, ปราบดา หยุ่น, วรพจน์ พันธุ์พงศ์, วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, อุทิศ เหมะมูล, ปองวุฒิ รุจิระชาคร ฯลฯ ซึ่งนิ้วกลมว่า “เหมือนหนังเส้าหลินซอคเกอร์” ของ โจวซิงฉือ ที่รวมกำลังกันมาเตะบอล

“ซึ่งพวกเขาไม่ได้เลิกเตะบอลนะ แต่ไม่มีสนามให้เตะ” โตมรเสริม

และว่า “พอมีพื้นที่ทุกคนก็อยากลงมา ถ้าเป็นการ์ตูนนี่น้ำตาคงคลอเบ้าเลย คิดว่าคนที่ทำงานเขียนคงมีความน้อยใจสังคมไทยอยู่หน่อยหนึ่งว่าได้การเหลียวแลเท่าไหร่ ซึ่งสังคมไม่ได้ผิดอะไร แต่คนเขียนก็อาจคิดว่าไม่ค่อยเวิร์ก ไม่เห็นดังเหมือน เจ.เค โรว์ลิ่ง เลย ต้องทำงานอื่นไปด้วย แถมพื้นที่น้อยลงอีก ก็เลยดีใจเมื่อมีพื้นที่แบบนี้ ได้คุยกับ คุณกล้า (กล้า สมุทวณิช) คุณกล้ามองว่า ไม่ว่านักเขียนจะเขียนผ่านเฟซบุ๊กมากแค่ไหนแต่การเขียนที่ดีที่สุดและมีมาตรฐานจะต้องถูกเก็บเป็นคอลัมน์ และเราเห็นด้วยกับประเด็นนี้ พอมีสนามให้เตะและคนเหล่านี้มารวมกันก็เป็นการแสดงให้เห็นฝีมือของพวกเขาได้มากขึ้น และงานแบบนี้ล่ะที่เราคิดถึง แม้อ่านสเตตัสมากแค่ไหนก็ไม่เหมือนอ่านจากที่เขาเขียนในนิตยสาร”

แถมนี่ยังเป็นนิตยสารที่โตมรผู้คร่ำหวอดวงการนี้มานานบอกว่า คือ การทดลองครั้งใหม่อีกต่างหาก

“ปกติการทำนิตยสารสิ่งสำคัญ คือ การวางโครงเอาไว้และก็เหมือนการเติมคำในช่องว่าง แต่ Mad About เราอยากให้เป็นพื้นที่แกลอรี่ว่างๆ แล้วชวนคนนั้นคนนี้มาใส่คอนเทนต์ มีดีไซเนอร์ช่วยจัดวางให้ดูดีให้น่าสนใจขึ้น
เกิดเป็นผลที่เราทั้งคู่ก็ตื่นเต้นเพราะไม่รู้เลยว่าจะออกมาเป็นยังไง คือไม่ใช่ไม่ดูแลนะ เราก็จะพอเห็นคร่าวๆ และคาดหวังว่าเขาอาจทำแบบนี้ แต่เนื่องจากเป็นการเปิดอิสระทางความคิด นักเขียนบางคน เราคาดว่าเขาจะทำแบบนี้ได้แต่เขาจะทำอีกแบบหนึ่ง หรือบางคนอยากทำแบบนี้ แต่เราแนะนำให้เขาไปทำอีกแบบหนึ่งที่อาจได้งานที่ตื่นเต้นขึ้น พยายามทำให้มีอิสระทางความคิดมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ไม่หลุดกรอบของแนวนิตยสารจนเกินไป” โตมรอธิบาย

นิ้วกลมเสริม “เราคอยยั่วนักเขียนไปให้สุด ยั่วให้เขามีอิสระขึ้นไปอีก หรือลองท้าทายตัวเองในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ ธีมของเล่มแรกคือ ‘Don’t’ ซึ่งจะตีความเป็นอะไรก็ได้ ต่อต้าน ขัดขืน ทำสิ่งที่ห้าม เล่มสองเล่มสามก็เปลี่ยนธีมไปอีก”

ณ วันนี้ Mad About จะมีอายุ 3 ฉบับ และใช้ระบบระดมทุนแบบ Crowdfunding ใน www.facebook.com/madaboutmag ให้คนอ่านได้มีส่วนร่วมสนับสนุนคนละ 1200 บาทต่อสามเล่ม เป็นการจองล่วงหน้า โดยจะระดมทุนถึง 10 ต.ค.59 ซึ่งไม่นานก็มีคนสนับสนุนไปกว่า 600 ราย ส่วนโฆษณานั้นก็ยังคงมี แต่จะเป็นในรูปแบบใหม่ๆ
โดยโตมรว่าที่ทำเช่นนี้ เพราะ “อยากทำนิตยสาร” ในโมเดลโลกของการสื่อสารวันนี้ที่เปลี่ยนไป

“ก็คงมีคำถามว่าสิ่งที่เราทำอยู่ควรเรียกว่านิตยสารหรือเปล่า
เราไม่อยากทำธุรกิจนิตยสารแต่อยากทำนิตยสาร เราจึงไม่คิดทำอะไรที่ยั่งยืนมาก ตั้งใจให้เป็นเหมือนพลุ ที่แปปนึงก็หายไป แต่ต้องมีคนเห็นหรือเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นไปหาพลุอื่นต่อไปก็ได้
สิ่งที่เราอยากจะบอกคือ นิยามนิตยสารที่เราเห็นเป็นรูปแบบเดิม มันเริ่มต้นจากกรอบความคิดเดิม แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนและเรามีโอกาสมากมายจากสื่อใหม่ ช่องทางออนไลน์อาจทำให้เกิดรูปแบบการนำเสนอใหม่ๆ ซึ่งจุดเริ่มต้นของแนวคิดเหล่านี้ ส่วนหนึ่งต้องการยั่วล้อความตายของนิตยสาร เป็นการท้าทายโครงสร้างทั้งหมดของนิตยสารแล้วก็จบลงไป
รูปแบบนี้นำมาซึ่งการรื้อโครงสร้างทั้งหมด ถ้าคิดจะทำอะไร คุณลองหาโครงทั้งหมดเพื่อทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ซึ่งอาจไม่ใช่การระดมทุนอย่างนี้ก็ได้ อาจไปทำอีเวนต์ ชวนเพื่อน ชวนคนดัง ถ้าเราลืมโครงสร้างนิตยสารทั้งหมด เราอาจจะได้สื่อสิ่งพิมพ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง” โตมรว่า

3

ส่วนนิ้วกลมบอก Mad About อาจไม่ได้จบแค่นิตยสาร 3 เล่ม แต่อาจต่อยอดสู่โปรเจ็กอื่นๆ ก็ได้

“เราท้าทายกันตั้งแต่ชื่อรูปแบบ เพราะนิตยสารแปลว่าต้องอยู่ไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่การนิยามไม่มีวันตายตัวเหมือนเดิมอีกแล้ว นิตยสารไม่จำเป็นต้องทำในรูปแบบหรือนิยามเดิมๆ อีกต่อไป แม้แต่นักเขียนเองก็ไม่ต้องนิยามตัวเองว่าเป็นนักเขียนก็ได้ เพราะในตัวเขาก็มีความหมายอื่นอยู่เหมือนกัน อาจกล่าวได้ว่าการทำ Mad About คือการรวมคนบ้าที่มีความคิด มันมีพลังเมื่อรวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน และเราอาจได้เห็นพวกเขาในบทบาทอื่นที่นอกเหนือไปจากนิยามที่ได้จำกัดตนเองไว้”
ซึ่งหลังรูปแบบดังกล่าวได้เผยออกมา ผลตอบรับกลับมาทีทั้ง 2 ทาง ทางแรกคือเข้าใจในลักษณะ Art Project ที่ต้องการยั่วล้อ แต่อีกทางคือผิดหวัง เพราะไม่ใช่ในรูปแบบคุ้นเคย โดยโตมรนั้นเข้าใจและรับได้กับทุกกระแส แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

“เวลาที่เราดูโลกจะเห็นว่าแทบไม่มีธุรกิจอะไรที่ทำได้ยาวๆเลย เหมือนวงจรชีวิตคนเร็วขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่การขายของ ผ่านไป 6 เดือนต้องไปขายของอันใหม่ ส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าท้าทายในการที่เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

5

นิตยสารก็เช่นกันที่อยู่ยาวนาน 50-60ปี เป็นเรื่องยากมาก แล้วเราก็ไม่ใช่นายทุนที่เงินเยอะ แล้วด้วยไลฟ์สไตล์ในการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป เงื่อนไขด้านทุนก็ไม่มีอีก ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราพอจะทำได้ เรารู้สึกสนุกดีที่จะเกิดอะไรแบบนี้ในแวดวงการเขียน แล้วถ้ามองไปที่วงการอื่นก็จะเห็นโปรเจ็กต์แบบนี้ที่ตั้งอยู่ ดับไปและอาจเกิดขึ้นอีก หรือมีรูปแบบที่หลากหลาย ในวงการนักเขียนก็คิดว่าจะสร้างอะไรเหล่านี้ออกมาได้เหมือนกันและคิดว่าเหมาะกับยุคสมัย โดยไม่ต้องไปคาดหวังว่าจะเกิดอะไรที่ต้องทำออกมาซ้ำๆ ย้ำๆเหมือนเดิมแล้วก็ได้

บางครั้งถ้าอยากมีความหวังเราต้องทำอะไรซักอย่างขึ้นมาก่อน ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็ยิ่งสิ้นหวังไปเรื่อยๆ อย่างน้อยให้มีความหวังในพื้นที่หนึ่งหรือจุดประกายในตัวเราเองขึ้นมาใหม่ก็เป็นได้” โตมรกล่าว

และนิ้วกลมก็บอกด้วยรอยยิ้มว่า “มีอะไรให้ทำอีกเยอะหากเราไม่ไปติดกับดักของนิยามหรือรูปแบบ ตอนนี้รู้สึกสนุกดีที่หลายคนมาทำนิตยสารแบบนี้ร่วมกัน และหลายคนก็ตื่นเต้นที่จะได้เสพมัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image