เรื่องเล่าของศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง

ท่ามกลางความเชื่อมโยงของทุกสิ่งในลักษณะอย่างเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวบนโลกนี้ ศาสตร์อย่างปรัชญากับวรรณกรรมก็เป็นอีกศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกได้ยาก วรรณกรรมเป็นห้องทดลองทางความคิดเชิงปรัชญา และวรรณกรรมเองก็นำเสนอสารเชิงปรัชญาได้อย่างแหลมคม
คงเพราะเหตุนี้ จึงมีเสวนาน่าสนใจมากจากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากรที่ว่าด้วย “เรื่องเล่าของศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง” ซึ่งชวนนักเขียนที่ได้ชื่อว่าเก่งกาจด้านการเล่าเรื่องอย่าง อุทิศ เหมะมูล และนักวิชาการวรรณกรรมไฟแรง อาทิตย์ ศรีจันทร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนกัน

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เล่าว่าศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 ซึ่งเกิดสิ่งที่เรียกว่า “การหันมาสนใจภาษาศาสตร์” จากเดิมที่มีอิทธิพลของปฏิฐานนิยมที่เน้นความรู้เชิงประจักษ์ คือการศึกษาวรรณกรรมที่มุ่งเน้นประวัติของผู้แต่งและบริบททางสังคม ต่อมาจึงเกิดความสนใจโครงสร้างและการทำงานของตัวบท เกิดทฤษฎีศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง และนววิจารณ์ ซึ่งงานทางภาษาศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อวงการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในวงกว้างคืองานของ แฟร์ดิน็อง เดอ โซซูร์  นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส
“การศึกษาเรื่องเล่าโดยอาศัยเครื่องมือทางภาษาศาสตร์ เป็นจุดหักเหที่ทำให้ความสนใจเรื่องเล่าในสังคมศาสตร์แปรจากงานวรรณกรรมมาสู่ทฤษฎีวรรณกรรม มาสู่การศึกษาตัวบท มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นตำนาน ประวัติศาสตร์ เพลง หรือภาพยนตร์ ศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องสนใจศึกษาว่าเรื่องเล่าทำงานอย่างไร ทั้งผู้ที่เล่าเรื่อง และผู้ที่ฟังเรื่องเล่า”

ในมุมของนักเขียน อุทิศ เหมะมูล เล่าว่าเคยเรียนอยู่ที่ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์อยู่ช่วงหนึ่ง และได้นำฉากของสถานที่ไปใช้ในนวนิยายเรื่องจุติในบทสุดท้าย ซึ่งเป็นการจินตนาการถึงอนาคตปี 2575 เรียกได้ว่าเป็นการใช้ความทรงจำในอดีตมาเขียนอนาคต ภาคแรกกล่าวถึงแม่เฒ่าอภินิหารที่มีชีวิตมาตั้งแต่กำเนิดโลก จนถึงปี 2554 ทั้งตัวละครแม่เฒ่ากับมายาผูกโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญในฉากม.ศิลปากร
อุทิศ เล่าว่าจุดกำเนิดของนวนิยายเกิดจากการที่นั่งดูฝ่ามือตัวเอง แล้วคิดไปว่ามันเหมือนแผนที่โลก เมื่อเรามองลึกลงไปจะเห็นแสงเงาคล้ายผิวโลก  ในนวนิยายเรื่องจุติจะมีฉากที่ตัวละครดูฝ่ามือสองครั้ง ฉากแรกคือตอนแม่เฒ่าดูฝ่ามือ และ ฉากที่มายาแบมือรองน้ำฝน ขณะที่ตัวละครมายาเป็นเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า ตัวละครซ้อนตัวละคร คำพูดของมายาในภาค 5 เชื่อมโยงกับตอนต้นเรื่อง เพื่อชี้ว่าไม่มีผู้สร้างตัวละคร แต่ตัวละครทุกตัวสร้างกันและกันไปเรื่อยๆ “แม่เฒ่า” ก็คือตัวละครที่ถูกตัวละครสร้างขึ้นมา
“ถ้าผมฟังอาจารย์อาทิตย์ก่อน ผมก็จะไม่เขียนนวนิยายเรื่องนี้ คือหมายความว่าตัวทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องเล่าอาจจะจำกัดความเป็นไปได้ของการเล่าเรื่องที่แตกต่างกัน ซึ่งนักเขียนไม่ได้เขียนเรื่องเล่าเพราะอยากจะจัดเรื่องเล่าของตนในอยู่ในกรอบเชิงทฤษฏี แล้วตัดความเป็นไปได้ที่จะเล่าเรื่องแบบอื่นที่นอกเหนือจากที่ทฤษฏีกำหนด ผมมองว่านักเขียนไม่ควรปักใจเชื่อโดยนำตัวเองเข้าไปเป็นแบบแผนใดแบบแผนหนึ่ง”

ซึ่งอาทิตย์มองในมุมนี้ว่า ที่จริงแล้วนักเขียนไม่จำเป็นต้องสนใจศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องก็ได้ เพราะมันเป็นวิธีการศึกษาเรื่องเล่า ไม่ใช่คู่มือการเขียนนวนิยาย เราอาจจะกล่าวได้ว่าภาคสุดท้ายของนวนิยายเรื่องจุติ เป็นเรื่องเล่าที่เปิดเปลือยตัวเองให้เห็นถึงความเป็นเรื่องเล่าของตัวบท นักวิจารณ์จึงไม่จำเป็นต้องถามนักเขียนเลยว่าผู้แต่งมีเจตนาอย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีมรณกรรมของผู้แต่งของโรลองด์ บาร์ธ

Advertisement

ในประเด็นนี้ คงกฤช ไตรยวงค์ อาจารย์จากภาควิชาปรัชญา อักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร เจ้าบ้านได้ร่วมแลกเปลี่ยนว่าในมุมของเขาบทบาทของผู้แต่งมีสูงมากในยุคโรแมนติกที่มีการยกย่องอัจฉริยภาพของผู้แต่ง เรื่อยมาถึงช่วงที่ปฏิฐานนิยม(เน้นความรู้เชิงประจักษ์)มีอิทธิพล ก็หันมาสนใจบริบทรายล้อมนักเขียน ทฤษฎีมรณกรรมของผู้แต่งน่าจะเกิดขึ้นมาเพื่อปรับดุลบทบาทของผู้แต่ง แล้วให้เสรีภาพแก่ผู้อ่าน
“ในประเด็นเรื่องเจตนาของผู้แต่ง มีตัวอย่างหนึ่งคือการเสวนาเรื่อง “25 ปีคำพิพากษา” อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์เห็นว่าฉากตีสุนัขในนวนิยายเรื่องคำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ นั้น เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งได้รับคำยืนยันจากผู้แต่งว่าเจตนาเช่นนั้นจริง และคุณชาติกล่าวว่าตอนเขียนนวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งสนทนากับนักปรัชญาอัตถิภาวนิยมอะไร แต่เขียนเพราะรู้สึกผิดที่ไปวิจารณ์นักเขียนรุ่นพี่ที่ทำงานเน้นปริมาณ ต่อมาเมื่อได้ไปที่บ้านนักเขียนคนนั้นก็พบความจำเป็นที่ต้องทำงานในลักษณะดังกล่าว จึงเขียนเรื่องคำพิพากษาขึ้นมา”

ในมุมของเรื่องเล่า วรรณกรรม และประวัติศาสตร์เช่นนี้นั้น อาทิตย์มองว่าการศึกษาเรื่องเล่าไม่ได้จำกัดอยู่เพียงวรรณกรรมเท่านั้น นักประวัติศาสตร์อย่างเฮเดน ไวท์ก็นำเสนอว่าประวัติศาสตร์ก็คือเรื่องเล่าประเภทหนึ่ง มีการวางโครงเรื่อง ค้นข้อมูลและคัดเลือกข้อมูล น่าสนใจที่นวนิยายไตรภาคของอุทิศก็ “เล่น” กับเรื่องประวัติศาสตร์เช่นกัน

ซึ่งผู้เขียนอย่างอุทิศก็อธิบายว่า ในนิยายเรื่องลับแล, แก่งคอยเป็นการใช้ประวัติศาสตร์ โดยดึงจากความทรงจำที่เคยมีสมัยมีชีวิตอยู่ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่อื่น นวนิยายเรื่องลักษณ์อาลัยเป็นการสำรวจประวัติศาสตร์ โดยกล่าวถึงประวัติศาสตร์สมัยปลายกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นระหว่างทำงานพิสูจน์อักษรพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ส่วนนวนิยายเรื่องจุติเป็นการ “สร้าง” ประวัติศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการ “คืนปากกา” ให้คนธรรมดาได้มีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และปรากฏเสียงเล่าเรื่องของตน

Advertisement

“โดยปกตินักเขียนไม่ควรเฉลยว่าต้องการสื่ออะไร เพราะได้ทำไปหมดแล้วในตัวบท ส่วนการตีความก็คือภาษาในการเล่าเรื่องทำปฏิกิริยากับการเห็นของผู้อ่าน พันธกิจของนักเขียนก็คือการเขียนงานที่จะอยู่ยืนยง รอนักอ่านรุ่นต่อไป”
เรียกได้ว่าสร้าง “ตัวบทให้รอคนอ่าน” นั่นเอง
………………………
ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image