ชวนมา ‘พักใจ’ ในวันที่เรื่องร้ายถาโถม

ชวนมา ‘พักใจ’ ในวันที่เรื่องร้ายถาโถม

ฐาณารัตน์ สุธนากุลวิทย์ เล่าความถึงเพจ Pak-Jai ที่เธอทำ ให้ ‘มติชน’ ฟัง ว่าความตั้งใจของเธอนั้น คืออยากจะให้เพจนี้เป็น ‘พื้นที่เรียนรู้เพื่อการพักใจ’ ผ่านกระบวนการทางศิลปะและการเคลื่อนไหว

“ปกติจะเป็นคอร์สออนไลน์ ใช้ศิลปะในการเคลื่อนไหวนี่แหละค่ะ เป็นการสร้างพื้นที่ให้คนได้เข้ามาใช้ศิลปะด้วยกัน แล้วก็ใช้ศิลปะเหล่านี้ในการทบทวนเพื่อการเข้าใจตัวเองมากขึ้น แล้วก็ช่วยในการผ่อนคลาย”

“เกิดขึ้นตอน covid รอบแรกนะคะ” ฐาณารัตน์เล่าที่มาที่ไป

Advertisement

“เริ่มต้นง่ายๆผ่านการไลฟ์ในเฟซบุ๊กเลยค่ะ” บอกพลางหัวเราะเบาๆ

“ก็ชวนคนมาวาดรูปด้วยกัน” หลังจากนั้นพอเกิดระลอก 2 ระลอก 3 ตามมา ก็มีคนติดต่อ อยากให้ไปช่วยทำคอร์สออนไลน์ให้คนป่วยที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนามและนั่นก็จุดประกายให้เธอคิดต่อยอด

“อยากทำกิจกรรมที่ทำให้คนเข้าร่วมได้ง่ายขึ้นแบบนี้” จากนั้นนอกจากเรื่องศิลปะ ก็มีกิจกรรมอื่นๆเพิ่มเข้ามา

Advertisement

ล่าสุดก็คือ ‘Paint To Music’ ซึ่งจะเปิดสอนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

กับกิจกรรมนี้ ฐาณารัตน์บอกว่า เธอจะชวนคนที่สนใจมาฟังเพลงด้วยกัน ระหว่างนั้นใคร ‘รู้สึกถึงอะไร’ หรืออยากวาดรูปแนวไหนก็ให้วาดออกมา จากนั้นก็ชวนพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น

“คิดว่าด้วยองค์ประกอบของ 2 อย่าง ความเป็นดนตรีแล้วก็ความเป็นศิลปะน่าจะช่วยให้คนได้เข้ามา แล้วก็ผ่อนคลายได้ เลยนำ 2 สิ่งนี้มารวมกัน”ฐาณารัตน์บอกถึงพื้นฐานความคิด

“ตั้งใจว่าให้เป็นพื้นที่ที่ใครก็สามารถสมัครเข้ามาได้ โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางด้านของศิลปะมาก่อนเลย”

“เป็นความตั้งใจว่าเขาเข้ามาแล้ว ก็หวังว่าจะเป็นพื้นที่ที่ได้ผ่อนคลายไปกับเสียงเพลงและศิลปะด้วยกัน”

ในเรื่องของการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ฐาณารัตน์บอกว่า หัวข้อสนใจจะแตกต่างหลากหลาย บางทีก็อาจจะเป็นเรื่อง ‘วันนี้รู้สึกยังไงบ้าง’

“ก็สำรวจผ่านสีค่ะ” เธอเล่า “เช่นสมมุติวันนี้รู้สึกว่าเราเป็นสีเหลือง แล้วทำไมถึงเป็นสีเหลือง ก็จะเป็นการคุยสั้นๆ จากนั้นก็จะให้เวลา 30 นาทีโดยที่เราจะเปิดเพลงที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละวันที่มีกิจกรรมนี้ แล้วระหว่างนั้นเขาก็จะวาดตามอิสระ แล้วแต่สไตล์ของแต่ละคน วาดเสร็จก็จะมาแชร์กันว่าวาดอะไรบ้าง ความรู้สึกเป็นยังไงระหว่างวาด”

“เหมือนเรามาชวนคุยให้เป็นในเชิงของการได้ทบทวนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพราะว่ากิจกรรมเองก็เป็นคนในกลุ่มหลายๆคน ฉะนั้นด้วยพลังของกลุ่ม มันก็ทํางานของมันอยู่ในเชิงของการดูแลกันและกันค่ะ”

กิจกรรมนี้เจ้าตัวบอกว่าความที่มีเธอรับผิดชอบดูแลอยู่คนเดียว จึงกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมรอบละ 30 คน ในทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับผลตอบรับดี “30 คนจะได้ไม่เยอะเกินไป ได้ดูแลอย่างทั่วถึง”

ซึ่งสำหรับเดือนสิงหาคมนี้ก็มีผู้สมัครเข้ามาเต็มจำนวนแล้ว “ผลตอบรับกลับมาก็ค่อนข้างดีมาก รู้สึกว่าทุกคนมีความตั้งใจที่จะเข้ามาทำศิลปะร่วมกัน ฉะนั้นก็ได้มีพื้นที่ของตัวเอง และก็จะรู้สึกผ่อนคลายด้วยตัวกระบวนการของศิลปะ”

ในส่วนของผู้จะเข้าร่วมกิจกรรม Paint To Music แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายคนจัดบอกว่าขอให้เป็นผู้ที่มีอายุ18 ปีขึ้นไป ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีจัดขึ้นอีกในช่วงเดือนกันยายน โดยติดตามรายละเอียดได้ทางเพจ Pak-Jai

ขณะที่กิจกรรมอื่นๆซึ่งมีการคิดค่าใช้จ่ายตามปกติก็สามารถติดตามได้ทางเพจเช่นเดียวกัน

ถามฐาณารัตน์ไปว่า ขณะที่การทำคอร์สออนไลน์ปกติ แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่เธอได้รับกลับมาคือรายได้สำหรับการเลี้ยงชีพ ขณะที่ในส่วนคอร์สซึ่งไม่คิดค่าใช้จ่ายนั้น ได้อะไร?

คำตอบที่เธอให้คือ ได้พักใจ

“ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เพียงแค่ตัวผู้เข้าร่วมเท่านั้นที่ได้ ตัวเราเองก็ได้ร่วมกิจกรรม ได้รับฟังคนอื่น และก็ได้ผ่อนคลายไปในตัว”

เพราะฉะนั้นก็เหมือนได้ร่วมพักใจไปด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image