Squid Game เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน

Squid Game เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน

Squid Game

เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน

ความนิยมของ “Squid Game” ซีรีส์ฮิตบนเน็ตฟลิกซ์ในประเทศไทยขณะนี้ ใช้สูตรความสำเร็จของเรื่องราวแนวเอาคนมารวมกันเพื่อแย่งกันเอาชีวิตรอด หรือ Survival แม้พล็อตจะไม่ใหม่ แต่เรื่องราวแนวนี้ก็มักน่าตื่นเต้นดึงดูดคนดูได้เสมอ และราวกับว่าถ้าจะเล่าเรื่องราวทำนองนี้ ก็มีสูตรหนึ่งที่ต้องถูกหยิบยกมาพูดถึงคือ การที่ตัวเรื่องสอดแทรกประเด็นทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทุนนิยม สังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมเข้ามาด้วย ซึ่ง “Squid Game” สร้างพลังในประเด็นสังคมได้ไม่ถึงในระดับ “The Hunger Games” แต่ในเรื่องความสนุกน่าติดตามนั้นมีให้อย่างแน่นอน

ความที่ “Squid Game” เลือกเอาเกมเด็กๆ ที่หลายคนคุ้นเคยและเคยเล่นมาเป็นตัวเกมชี้เป็นชี้ตายก็ถือว่าเลือกเล่าได้น่ารักมุ้งมิ้ง แต่จริงๆ คือโหดร้ายทารุณเหลือคณา

Advertisement

เรื่องคร่าวๆ เป็นเรื่องราวของเหล่าตัวละครที่มีปัญหาเดือดร้อนทางการเงินถึงขีดสุดจนไม่มีอะไรจะเสีย ถูกชักชวนจากองค์กรลึกลับที่ทำทีมาชวนเล่มเกมแจกเงิน และยื่นนามบัตรเสนอให้มาเล่นเกมที่จะคว้าเงินได้มากกว่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าตัวละครหลักอย่าง “ซองกีฮุน” ชายที่ไม่เอาไหน เป็นลูกที่รักแม่แต่ไม่สนใจชีวิตความเป็นอยู่ของแม่ เป็นพ่อที่รักลูกแต่ขาดความรับผิดชอบ ชอบเล่นการพนัน ก่อหนี้สินจนถูกนักเลงตามซ้อมทวงเงินจนต้องยอมเซ็นสัญญาหาเงินมาใช้คืนให้ทันไม่อย่างนั้นก็ต้องแลกด้วยถูกตัดไตออกไปหนึ่งข้าง ขณะที่แม่ก็ป่วยทรุดหนัก ตัวเขาก็ไม่มีปัญญาส่งเสียเลี้ยงดูลูกสาวได้ ซึ่งลูกก็กำลังจะย้ายไปอยู่อเมริกากับครอบครัวใหม่ของแม่ สารพัดความประดังประเดเข้ามาแน่นอนว่า “ซองกีฮุน” ตัดสินใจโทรไปตามเบอร์ที่ได้ไว้บนนามบัตรเพื่อเข้าร่วมเล่นเกมลึกลับหวังเงินรางวัล

ซีรีส์พาไปรู้จักตัวละครหลักในเกมคนอื่นๆ ที่มีที่มาคล้ายกันคือ เดือดร้อนและจำเป็นต้องใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนรุ่นน้องแถวบ้านของ “ซองกีฮุน” ที่เป็นคนเรียนดีหัวกะทิจบมหาวิทยาลัยดังทำงานแวดวงการเงินแต่ติดหนี้หัวโตแอบลักลอบนำเงินลูกค้ามาหมุนลงทุนทางการเงินจนหมดตัว หนุ่มปากีสถานที่พาลูกเมียอพยพมาใช้ชีวิตทำงานเป็นแรงงานเถื่อนในเกาหลีใต้ แต่ถูกโกงค่าแรงจนไม่มีเงินติดตัวสักสตางค์แดงเดียว หญิงวัยรุ่นชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีเข้าเมืองมาและหวังจะมีเงินก้อนพาแม่มาเกาหลีใต้เพื่อไปตั้งต้นชีวิตใหม่กับน้องชายที่อยู่ที่บ้านเด็กกำพร้า และคุณตาชราภาพที่มีภาวะอัลไซเมอร์
หวังอยากจะได้เงินก้อนโตเช่นกัน นอกจากนี้ ก็จะมีตัวละครประเภทหญิงร้ายชายชั่วที่เข้ามาเล่นเกมนี้ด้วย

โดยตัวละครจะต้องเอาชนะผ่านแต่ละเกมให้ได้ทั้งหมด 6 เกม ซึ่งเงินรางวัลก็จะเพิ่มเดิมพันสูงขึ้นในแต่ละเกม ตามคนที่ถูกกำจัด หรือแพ้ไปในแต่ละเกม โดยมีกติกาว่า ผู้เล่นมาเล่นเกมนี้ด้วยความสมัครใจ ผู้เล่นไม่สามารถเลิกเล่นเกมนี้ได้โดยพลการ ผู้เล่นที่ไม่ยอมเล่นเกมให้จบจะต้องตกรอบ และหากจะยุติการเล่นเกมได้จะต้องได้คะแนนโหวตเกินครึ่งของจำนวนผู้เล่นที่มีอยู่ ดูเหมือนกติกาจะไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก ผู้เล่นทั้ง 456 คน ยอมเซ็นสัญญาเข้าร่วมเล่นเกม แม้จะไม่รู้ว่าสัญญาข้อตกลงกติกาที่ให้เซ็นยินยอมนี้จะพาพวกเขาไปเล่นเกมอะไร และก่อนที่จะมีใครรู้ว่าเกมนี้คือเล่นจริงเจ็บจริงตายจริง และนั่นทำให้ช่วงต้นของซีรีส์และการเผชิญหน้ากับเกมด่านแรกนั้นทำได้น่าระทึกและชวนติดตาม

Advertisement

“Squid Game” เล่าเรื่องดราม่าบีบคั้นได้ดี โดยเฉพาะในด่านเกมลูกแก้ว ที่วางเส้นเรื่องคู่แข่งขันคู่ต่างๆ ได้น่าติดตาม มีตั้งแต่คู่สามีภรรยา ที่คนชนะมีได้คนเดียว คู่เพื่อนที่นับถือซึ่งกันและกัน คู่ความสัมพันธ์ของ “ซองกีฮุน” กับคุณตาอัลไซเมอร์ และที่บิ้วดราม่าขั้นสุด คือคู่แข่งขันระหว่างเด็กวัยรุ่นเกาหลีเหนือกับเด็กวัยรุ่นที่เพิ่งพ้นคุก

ขณะเดียวกันด้านหนึ่งซีรีส์ก็มีจุดอ่อนจากโครงเรื่องที่ปูมาแข็งแรง แต่มาเจอความไม่สอดคล้องจากเส้นเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวละครตำรวจที่แอบลักลอบเข้ามาสืบสวนหาความจริงในเกมนี้ พร้อมกับตามหาพี่ชายที่หายตัวไป รวมทั้งตัวละครลับที่ถูกอำพรางไว้ เมื่อเปิดเผยคลี่คลายตัวเองออกมา กลับไม่รู้สึกว่าสั่นสะเทือนอะไร

ตัวซีรีส์จงใจอย่างมากที่จะเปรียบเทียบกับประเด็นทางสังคม แต่ก็ทำไม่ได้แยบคายอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลกทุนนิยมที่นำไปสู่การโกลาหลแย่งชิง ใครดีใครอยู่ เหยียบหัวเหยียบไหล่เพื่อชีวิตที่ดีกว่า และเทียบให้เห็นความอภิสิทธิ์ชนของคนรวยกลุ่มหนึ่งที่มีเงินแต่หาความสนุกในชีวิตไม่ได้ กับคนจน คนชายขอบ คนระดับล่างที่ต้องตะเกียกตะกายกับต้นทุนชีวิตที่ต่ำกว่า กลายเป็นเกมที่สนุกในสายตาคนอีกระดับชั้น

นอกจากนี้ ที่ซีรีส์ย้ำมากคือการนำแนวคิด “โลกแห่งความเท่าเทียม” ยุติธรรม “โลกประชาธิปไตย” มาใส่ไว้ในกติกาของเกม ซึ่งพยายามจะบอกว่าผู้เล่นทั้ง 456 คน อยู่ในกติกาเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกว่าใคร แต่ซีรีส์ก็มีคำตอบให้ว่าระบบที่เราเห็นมันก็ “ย้อนแย้งในตัวเอง” ในเมื่อคนออกแบบกติกาก็เป็นผู้คุมกติกา และเกิดจากแนวคิดคนไม่กี่คน ดังนั้นก็ไม่ได้ต่างอะไรจากการใช้ “อำนาจ” เข้ามาบงการอยู่ดี ตลกร้ายคือนึกไปมาก็อาจจะคล้ายการวางกติกาผ่านวิธีการเขียนรัฐธรรมนูญบางประเทศ

แม้หนึ่งในกติกาของเกมคือหากโหวตเสียงข้างมากชนะ เกมก็สามารถยุติได้ ฟังดูก็ยุติธรรมดี แต่นั่นก็เป็นการโหวตภายใต้กติกาที่ถูกบีบไว้แล้วด้วยของยั่วยวนใจ คือ เงินมหาศาล และการไม่มีทางเลือก สุดท้ายกติกาของ “Squid Game” ก็เหมือน “ประชาธิปไตยปลอมๆ” มากกว่า

โดยรวม “Squid Game” ดูเพื่อความบันเทิงและฉุกคิดได้ดีในแง่ของการใช้ชีวิต “อย่าคิดได้เมื่อสาย” ซึ่งหลายตัวละครก็ลงเอยที่คิดได้เมื่อสาย และสรุปปิดท้ายได้ว่าทั้งเรื่องที่เราดูคือคนแย่งกันเพื่อให้ได้เงินรางวัล ไม่ว่าจะคุ้มหรือไม่ที่จะเสี่ยง ยิ่งตอกย้ำวลีตลกร้ายสมัยนี้ที่มักเตือนสติตัวเองกันเสมอว่า “เงินไม่ใช่ทุกอย่าง…แต่ในโลกความเป็นจริงทุกอย่างเริ่มต้นที่เงิน”

ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image